โรคงูสวัด...สวัดหาเจ้าตัวเล็ก (รักลูก)
โรคงูสวัด เราๆ ท่านๆ ต่างคุ้นเคย และมักคิดว่ามีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็นกัน แต่ในความเป็นจริง ถึงจะมีโอกาสเกิดน้อย แต่ลูกก็สามารถถูกงูสวัดเล่นงานได้นะคะ
โรคงูสวัด... จากเชื้อไวรัส
สาเหตุเกิดจากไวรัส แวริเซลลา ซอสเตอร์ (Varivella-zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสค่ะ โดยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นครั้งแรก (primary varicella-zoster virus infection) จะแสดงอาการออกเป็นโรคอีสุกอีใส ความสำคัญของเชื้อไวรัสนี้ก็คือ เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อไวรัสนี้จะยังคงแฝงอยู่ในปมประสาทรับสัมผัสของผู้ป่วย และสามารถจะถูกกระตุ้นให้แสดงอาการได้อีกในอนาคต หากผู้ป่วยมีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งการที่เชื้อไวรัสซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับสัมผัสของผู้ป่วย ถูกกระตุ้นให้แสดงอาการครั้งหลังนี้ ผู้ป่วยก็จะแสดงอาการเป็นโรคงูสวัด (Herpes zoster) นั่นเองค่ะ
เด็กเล็กมักติดหลังคลอด
จะเป็นโรคงูสวัดได้ ก็ต้องเป็นอีสุกอีใสก่อนค่ะ ซึ่งเด็กเล็กส่วนใหญ่มีโอกาสจะเป็นอีสุกอีใสได้มากกว่างูสวัด แต่เท่าที่เคยพบงูสวัดในเด็กเล็กๆ มักจะติดมาจากคุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสตอนตั้งครรภ์ ซึ่งจะติดในเดือนหลังๆ ก่อนคลอดถ้าเด็กติดอีสุกอีใสจากแม่ใน 5 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้เด็กส่วนใหญ่ที่เกิดออกมามีความผิดปกติที่เรียกว่า คอนเจนนิทัลแวริเซลลา ซินโดร์ม (congenital varicella syndrome) โดยอาจมีความผิดปกติที่ผิวหนังหรือมีผื่นผิวหนังแบบงูสวัด
ภูมิคุ้มกัน ถ้าเด็กมีร่างกายแข็งแรงปกติดีอยู่แล้ว ไม่มีโรคประจำตัว อาการงูสวัดจะไม่รุนแรง แต่หากเด็กมีโรคประจำตัว เช่น ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัว อย่างเช่น เป็นโรคเลือด หรือมีเนื้อร้าย โดยเฉพาะถ้าได้รับยากดภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสเป็นงูสวัดที่รุนแรงได้
อายุ โรคงูสวัดจะพบมากในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้พบในคนอายุเยอะ ส่วนในเด็กพบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ สำหรับในเด็กเล็กหรือทารก โอกาสเป็นยิ่งน้อยเนื่องจากถ้าการดูแลคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ดี โอกาสที่คุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสในช่วงตั้งครรภ์ก็จะน้อย ทำให้โอกาสของการเกิดงูสวัดในเด็กเล็กหรือทารก ก็มีน้อยตามไปด้วยค่ะ
แต่ในเด็กบางคนที่ได้รับเชื้ออีสุกอีใสจากแม่ในขณะตั้งครรภ์ แล้วเด็กเกิดมาปกติแสดงว่าเด็กมีเชื้ออีสุกอีใสอยู่ในตัว พอเด็กอายุ 1-3 ปี ก็จะเป็นงูสวัดเลย ซึ่งในกรณีที่เด็กเล็กเป็นงูสวัดแบบนี้ ควรจะกลับไปตรวจประวัติสุขภาพคุณแม่ตอนตั้งครรภ์ควบคู่กันไปด้วยค่ะ
ความเชื่อเรื่องงูสวัด ความเชื่อที่ว่าเป็นงูสวัดแล้วมีตุ่มใสขึ้นรอบตัวจะถึงขั้นเสียชีวิตได้นั้น อาจเป็นไปได้ค่ะ เพราะถ้ามีตุ่มใสขึ้นรอบตัวแสดงว่าผู้ป่วยรายนั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิม จนทำให้เชื้อโรคสามารถกระจายทั่วร่างกาย และมีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
อาการที่พบ ผู้ป่วยจะมีตุ่มใสๆ ขึ้นกระจายเป็นกลุ่มๆ ตามแนวของเส้นประสาทรับสัมผัส ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นแค่ด้านใดด้านหนึ่งของลำตัวโดยอาจจะมีอาการปวดหรือคันในบริเวณนั้นก่อนระยะเวลาที่จะเป็นตุ่มใสอยู่ประมาณ 3-5 วัน และหายได้ภายใน 1-2 อาทิตย์ค่ะ
แพร่เชื้อผ่านสัมผัส การแพร่เชื้อของโรคงูสวัด โดยหลักใหญ่จะผ่านทางการสัมผัสโดยตรง เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ที่ตุ่มใส ส่วนการแพร่เชื้อโดยการฟุ้งกระจานทางอากาศ มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะแต่น้อย และถ้าหากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสงูสวัดมีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องอยู่แล้ว อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีตุ่มใสขึ้นเยอะ และยังมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ยิ่งต้องระมัดระวังการติดเชื้อโดยการฟุ้งกระจายในอากาศด้วยค่ะ สำหรับระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้นั้น จะเริ่มได้ตั้งแต่เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีตุ่มใสขึ้นค่ะ
เด็กที่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยงูสวัด ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนจะเป็นงูสวัดนะคะ ดังที่กล่าวแล้วว่า โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่แฝงตัวในร่างกายอยู่แล้ว เลยถูกกระตุ้นขึ้นมา ดังนั้น ถ้าเด็กที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสเลยหรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันเชื้ออีสุกอีใสแล้วไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยงูสวัด ถ้าเกิดมีการติดเชื้อ (ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อครั้งแรก) จะแสดงอาการเป็นโรคอีสุกอีใสค่ะ ถ้าเด็กที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะถ้าภายในระยะเวลาก่อนหน้าไม่นาน ระดับภูมิคุ้มกันจะยังมีอยู่ในร่างกาย เด็กก็จะไม่ติดเชื้อไวรัสนี้ค่ะ
อาการแทรกซ้อนของงูสวัด สำหรับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ อาจมีผลแทรกซ้อนต่อระบบประสาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของปมประสาทด้วย เช่น หากตุ่มใสขึ้นในบริเวณของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประสาทตาและการมองเห็นก็อาจทำให้มีความผิดปกติที่ดวงตาได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็จะมีอาการแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสงูสวัดได้รุนแรงกว่าค่ะ ทั้งอาการแสดงทางผิวหนัง และอาการทางระบบอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปตามระบบอื่นๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบ หรือการทำงานผิดปกติของระบบอื่นๆ ในร่างกายด้วย เช่น ปอด ตับ สมอง หรือระบบการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับในเด็กจะพบอาการแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่มากค่ะ
วิธีรักษา ถ้าลูกน้อยเป็นโรคนี้แล้ว ต้องดูแลเรื่องความสะอาดเป็นหลักค่ะ ให้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอลได้ และรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วนะคะ ซึ่งนอกจากวิธีการรักษาตามอาการแล้ว ในบางรายที่คุณหมอพิจารณาว่าอาจมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ลูกมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีโรคประจำตัวอยู่คุณหมออาจจะพิจารณาให้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่รักษาอีสุกอีใสค่ะ
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ การแยกเด็ก เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่นค่ะ ถึงแม้โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยกว่าอีสุกอีใสก็ตามแต่ก็ไม่ควรมองข้ามค่ะ ควรให้ลูกหยุดเรียนและพ่อแม่ควรงดการพาลูกไปในสถานที่ที่มีคนมากๆ ด้วยค่ะ
งูสวัด ป้องกันได้ เริ่มจากป้องกันไม่ให้เป็นอีสุกอีใสก่อน ได้แก่ ไม่ให้ลูกไปสัมผัสหรือคลุกคลีกับเด็กที่เป็นอีสุกอีใส การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ก็อาจจะช่วยได้ค่ะ
โดยวัคซีนนี้จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ
1. ขวบขึ้นไป ข้อมูลปัจจุบันแนะนำว่าให้ฉีด
2. ตอนอายุ 1 ขวบ และกระตุ้นอีกครั้ง ตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบค่ะ
อย่างไรก็ตามสามารถฉีดห่างกันได้เร็วที่สุดคือ 3 เดือนค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552