เตือน ! ห้ามใส่ Face Shield ให้เด็กแรกเกิด เสี่ยงขาดอากาศหายใจ-อันตรายต่อระบบประสาท

          ชมรมเวชศาสต์ทารกแรกเกิดฯ ประกาศ ห้ามใส่ Face Shield หรือหน้ากากอนามัยให้เด็กแรกเกิด เสี่ยงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง อันตรายต่อระบบประสาท พร้อมแนะวิธีป้องกัน COVID-19 ที่ควรทำ

หน้ากากอนามัยเด็ก

          จากกรณีมีการแชร์ภาพทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลสวม Face shield หรือหน้ากากพลาสติก เพื่อป้องกันโรค COVID-19 (โควิด-19) หรือ โคโรน่าไวรัส ทั้งขณะอยู่ในโรงพยาบาลและมีจำหน่ายกลับบ้าน ทำให้หลายคนชื่นชมถึงมาตรการป้องกันดังกล่าว อีกทั้งยังเห็นว่าน่ารักน่าชังนั้น

          ล่าสุด (วันที่ 9 เมษายน 2563) ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย หน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกประกาศเตือนว่า ห้ามใส่ Face Shield ให้กับ เด็กแรกเกิด เพราะจะเป็นอันตราย โดยให้เหตุผลดังนี้...

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับทารกในการใส่ Face shield หรือ Face mask

1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง เกิดอันตรายต่อระบบประสาท


          เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นทางหลัก ยังไม่มีความสามารถหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากศ หรือ ออกซิเจน ดังนั้นวัสดุต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นหน้ากาก หากมีคุณสมบัติ ต่อต้านการไหลของอากาศเข้า-ออกสูงเกินไป อาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารก

2. เกิดแผลขีดข่วนได้ง่าย

          วัสดุพลาสติกที่ใช้บังหน้าทารกอาจมีความคมบาดใบหน้า ดวงตา ทารกได้

          ด้วยเหตุนี้ ทางชมรมฯ จึงไม่สนับสนุนให้มีการใส่ Face Shield หรือ Face Mask แก่ทารกแรกเกิด 

หน้ากากอนามัยเด็ก
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย

          นอกจากนี้ตามประกาศยังระบุว่า อ้างอิงจากมาตรฐานสากลทั้งองค์การอนามัยโลก และ Centers for Drisease Control and Prevention ช่องทางการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ไปสู่ทารกแรกเกิดที่สำคัญที่สุดก็คือ การกระจายจากผู้เลี้ยงดูทารก ซึ่งได้แก่ บิดามารดา ญาติ หรือพี่เลี้ยง ผ่านทางละอองฝอยจากการจาม หรือไอ (droplet ransmission) ทางสัมผัส (contact transmission) จากมือผู้เลี้ยงดู หรืออุปกรณ์สิ่งของที่มาสัมผัสทารก ดังนั้นเมื่อรู้อย่างนี้แล้วควรจะป้องกันอย่างไรดี ? เรามีคำแนะนำจากชมรมฯ มาฝาก 

หน้ากากอนามัยเด็ก

การป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เชื้อ COVID-19 แพร่สู่ทารก

          - ล้างมือให้สะอาดตามสุขอนามัยก่อนสัมผัสทารก และการใส่หน้ากากอนามัยของผู้เลี้ยงดูหากไม่แน่ใจในอาการของตัวเอง

          - ผู้มีอาการไม่สบายโดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ งดเข้าใกล้ทารก

          - งด การนำทารกแรกเดินออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัดซีนตามกำหนต หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบาย

          - หากจำเป็นต้องพาทารกไปอยู่ในที่ชุมชน ควรปฏิบัติตามนโยบายของ Physical distancing อย่างเคร่งครัด โดยห่างจากผู้อื่น ประมาณ 6 ฟุต (2 เมตร)

          - งดการเยี่ยมทารก จากบุคคลภายนอกทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ควรใช้สื่อทางสังคม (social media) แสดงความยินดีแก่ครอบครัวแทน

หน้ากากอนามัยเด็ก

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (US CDC) ยังคงแนะนำว่า ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อเมื่ออยู่ในที่ชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

          ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพราะมีความเสี่ยงที่จะหายใจไม่ออกหรือขาดอากาศหายใจ เนื่องจากช่องทางเดินหายใจเด็กมีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่มาก ทำให้เด็กหายใจผ่านหน้ากากผ้ามีความยากลำบากมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ

หน้ากากอนามัยเด็ก
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

         เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้อยใส่หน้ากากพลาสติก หรือหน้ากากอนามัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรรับมือป้องกันการแพร่กระจายเชื้อตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทารกแรกเกิดในยุคโควิด-19 ผ่านพ้นวิกฤตโรคนี้ไปได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง

ข้อมูลจาก : ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย, กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน ! ห้ามใส่ Face Shield ให้เด็กแรกเกิด เสี่ยงขาดอากาศหายใจ-อันตรายต่อระบบประสาท อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2563 เวลา 10:34:58 39,612 อ่าน
TOP
x close