ฝุ่น PM2.5 ภัยเงียบทางอากาศที่ไม่เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ล่าสุดแพทย์เตือนว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้เด็กโง่ลง แม้แต่ทารกในครรภ์ก็เสี่ยงป่วย เพราะอะไร ? มาทำความเข้าใจ พร้อมหาวิธีป้องกันลูกน้อยจากฝุ่นพิษกัน
ฝุ่น PM2.5 ทำให้เด็กโง่ลง ?
ฝุ่นพิษที่เราหายใจเข้าไป ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ฝุ่น PM2.5 ยังแทรกซึมไปถึงสมองได้โดยตรง ลองคิดดูสิว่าเมื่อฝุ่นพิษทำลายสมองของลูกน้อยแล้ว จะส่งผลอะไรบ้าง แต่ก่อนอื่น...มาดูกระบวนการของภัยร้ายขนาดจิ๋วนี้กัน
ข้อมูลจาก Unicef เผยว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่ถึง 1 ใน 25 เท่าของเส้นผมมนุษย์ เมื่อหายใจเข้าไป อนุภาคของฝุ่นจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก ผ่านช่องทางเดินหายใจ ไปสิ้นสุดที่ถุงลมในปอด ซึ่งจะแทรกซึมผ่านปอดออกมาทางระบบไหลเวียนโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย โดยอวัยวะที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ปอด ระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ และสมองของเด็กที่กำลังมีพัฒนาการ
นอกจากผลเสียต่อสมองแล้ว การที่เด็กอายุน้อย ๆ ได้รับฝุ่นพิษ ยังเพิ่มโอกาสเจ็บป่วยจากอีกหลายโรคไปตลอดชีวิต เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ รวมถึงมะเร็งปอด
ไม่ใช่แค่สุขภาพของเด็ก ๆ เท่านั้นนะคะ คุณแม่ตั้งครรภ์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พญ.ปิ่นประภา ธรรมวิภัชน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก รพ.รามคำแหง ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า คนท้องที่สูดดมฝุ่น PM2.5 เข้าไป พิษร้ายจะตรงเข้าทางเดินหายใจและแทรกซึมผ่านกระแสเลือดจากแม่สู่ลูก จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักน้อยตั้งแต่ในท้อง และเจ็บป่วยติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติในภายหลัง
ที่สำคัญยังมีผลการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดภาวะออทิซึม (Autism) ในเด็กเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าเสี่ยงเป็นออทิสติก ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพด้อยลงไปตลอดชีวิต !
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเด็ก ๆ จากมลพิษทางอากาศได้ ดังนี้
1. ไม่ออกนอกอาคารเมื่อมลพิษอยู่ในระดับสูง
2. ถ้าจำเป็นต้องออกนอกสถานที่ ต้องสวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 โดยเด็กเล็กควรใช้หน้ากากที่มีขนาดเหมาะสมเท่านั้น
3. หากทำได้ ให้ติดตั้งแผงกรองอากาศที่หน้าต่าง ประตู หรือใช้เครื่องฟอกอากาศช่วย
4. กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามีน C, E โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง
5. จำกัดเวลาในการให้เด็กออกไปวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายข้างนอก
6. งดสูบบุหรี่ภายในอาคารและในรถ
7. ทำความสะอาดและถูพื้นด้วยผ้าเปียก เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในบ้าน
รู้เท่าทันภัยร้ายของฝุ่น PM2.5 กันไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงต้องดูแลสุขภาพของลูกน้อยและตัวเองให้มากขึ้น และไม่ลืมที่จะช่วยกันลดมลภาวะในอากาศ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและคนที่เรารักในวันข้างหน้านะคะ
ข้อมูลจาก : ทวิตเตอร์ @unicef, เฟซบุ๊ก Thailand Investment Forum, workpointnews.com, ยูทูบดอทคอม โพสต์โดย Rama Channel