หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้ ? คุณแม่หลังคลอดที่อยากสวยเป๊ะไว ๆ แต่อีกใจหนึ่งก็กังวลถึงผลกระทบต่อลูก มาดูคำตอบกันว่าคลอดกี่เดือนถึงศัลยกรรมได้อย่างปลอดภัยต่อลูกน้อยและสบายใจคุณแม่
ทั้งนี้ ข้อจำกัดของคุณแม่หลังคลอดมีอยู่ตรงที่ว่าต้องให้นมบุตร ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ายาต่าง ๆ ที่ต้องรับประทานหลังการศัลยกรรมจะส่งผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมหรือไม่ รวมถึงกรณีที่อยากศัลยกรรมหน้าอก ก็กลัวว่าจะให้นมลูกไม่ได้อีก แบบนี้หลังคลอดกี่เดือนถึงศัลยกรรมได้กันล่ะ ? วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้คุณแม่อยากสวยกันแล้ว
วางแผนสักนิด ก่อนทำศัลยกรรม
สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่อยากทำศัลยกรรมเสริมความงาม ควรวางแผนและพิจารณาถึงสิ่งที่จะต้องรับมือ ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรม ดังนี้
1. การพักฟื้นหลังทำศัลยกรรม
สำหรับการพักฟื้นหลังทำศัลยกรรมต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์ในการนอนพัก ประคบเย็น ประคบอุ่น บางกรณีก็อาจจะต้องมีท่านวดระหว่างพักฟื้น ดังนั้นคุณแม่หลังคลอดต้องมั่นใจว่าจะสามารถพักฟื้นและทำตามที่แพทย์แนะนำได้ โดยไม่กระทบต่อการเลี้ยงลูก
2. ระวังการกระแทก
ในการศัลยกรรมบางอย่าง เช่น เสริมจมูก จำเป็นจะต้องระวังไม่ให้จมูกกระทบกระเทือน หรือกระแทก เพราะอาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ ซึ่งระหว่างนี้หากคุณแม่ยังต้องอุ้มลูก ให้นมลูก ก็เสี่ยงต่อการที่มือ แขน ขา หรือศีรษะของลูกจะกระแทกจมูกได้ ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นสิ่งที่ระมัดระวังยาก
ยาที่ใช้ในคุณแม่สำหรับการศัลยกรรม ได้แก่ ยาชา (1% Lidocaine + adrenaline) และยากินหลังผ่าตัด ยาแก้ปวด (Paracetamol 500mg) ยาฆ่าเชื้อ (Dicloxacillin 500mg) ถึงแม้ว่ายากลุ่มนี้จะมีผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมน้อยมาก แต่การที่ลูกได้รับยาเหล่านี้ผ่านทางน้ำนมในระยะเวลาต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย ก็อาจส่งผลในอนาคตได้ เช่น เกิดการดื้อยา
4. ปั๊มนมไว้ แล้วไปทำศัลยกรรม
จริง ๆ แล้ววิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำหรับคุณแม่อยากสวย แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าหลังทำศัลยกรรมแล้วจะเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้ต้องกินยาต่อเนื่องหรือไม่ ในเมื่อเราไม่รู้ว่าจะต้องกินยาไปนานเท่าไร ดังนั้นการสต็อกน้ำนมไว้ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับลูกน้อยก็ได้
หลังจากที่พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ขั้นต้นแล้ว คุณแม่หลังคลอดคนไหนที่มีความพร้อมจะทำศัลยกรรมต่อไป เรามีข้อแนะนำถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำศัลยกรรมมาฝากค่ะ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำศัลยกรรมใบหน้าของคุณแม่หลังคลอด
เนื่องจากหลังคลอดลูก รูปร่าง โครงสร้าง หน้าตาของคุณแม่จะเปลื่ยนไป บางท่านบวม อ้วน มากขึ้น ทำให้เลือกรูปทรงจมูก ตา ปาก คาง และอื่น ๆ ที่เหมาะกับรูปหน้าจริงได้ยาก ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรรอให้ยุบบวม หรือน้ำหนักลดลงเกือบปกติ อย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี แล้วค่อยทำศัลยกรรมจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม หลังการศัลยกรรมเสริมจมูก การเลี้ยงลูกที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ อาจทำให้เลือดมาคั่งที่จมูกได้ และคุณแม่ยังต้องระมัดระวังการกระแทก จะหอม จะเล่นกับลูกก็ลำบากกว่าที่คิด แต่หากรอให้ลูกเริ่มโตสัก 3 ขวบ ลูกก็จะเริ่มรู้เรื่องและระมัดระวังไม่ให้จมูกคุณแม่กระทบกระเทือนได้ง่ายขึ้น
หลังคลอดลูกแล้ว ขนาดเต้านมของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับต้องให้นมลูก ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรรอให้ลูกหย่านมจากเต้าเรียบร้อยแล้ว หน้าอกจึงจะเริ่มค่อย ๆ เข้าที่ จนกระทั่ง 6 เดือนหลังลูกหย่านม หน้าอกจึงกลับสู่สภาวะปกติ คุณหมอก็จะสามารถวิเคราะห์รูปทรงหน้าอกเพื่อทำศัลยกรรมได้ว่าควรเป็นไปในทิศทางไหน โดยคุณแม่ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
ทำศัลยกรรมหน้าอก ยังสามารถให้นมลูกได้ไหม ? มีผลข้างเคียงหรือเปล่า ?
นพ.สุรสิทธิ์ อัศดามงคล ศัลยแพทย์โรงพยาบาลบางมด ได้ให้ข้อมูลสำหรับการทำศัลยกรรมหน้าอกและการให้นมลูกว่า ก่อนที่จะทำศัลยกรรมหน้าอก ศัลยแพทย์จะตรวจดูก่อนว่าไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ หรือเป็นโรคประจำตัวอะไรอยู่ก่อน เช่น เบาหวาน ความดัน ถ้าเป็นโรคเหล่านี้อยู่ก็จะต้องรักษาตัวก่อน
ส่วนคุณแม่ที่ให้นมลูกก็ต้องทำการแจ้งกับหมอด้วยเช่นกันว่า ต้องการจะให้นมลูกจากเต้า ซึ่งจะเป็นการทำศัลยกรรมใต้กล้ามเนื้อ หลังทำก็สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ ไม่มีผลข้างเคียงอะไร
อย่างไรด็ตาม คุณแม่บางรายอาจเกิดปัญหาในขณะให้นมลูกได้ เช่น
- มีปัญหานมคัดตึงตอนให้นมลูก
เนื่องจากการผ่าตัดเสริมเต้านม อาจมีการทำลายต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม เส้นเลือด เส้นประสาทบ้าง โดยเฉพาะแผลผ่าตัดที่อยู่ใต้ลานนม ทำให้ขณะให้นมลูก อาจรู้สึกคัดตึง รู้สึกไม่สบายมากกว่าปกติ
คุณแม่ที่เสริมเต้าบางรายอาจรู้สึกชาหัวนมเมื่อลูกดูดนม นอกจากนี้ปฏิกิริยาของระบบประสาทที่กระตุ้นให้น้ำนมไหลพุ่งออกจากหัวนมอาจลดลง จึงทำให้นมไหลน้อยลงได้
- ระยะเวลาในการให้นมแม่
แม่ที่ทำศัลยกรรมหน้าอกมานั้นจะมีโอกาสให้นมแม่ได้น้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้เสริมเต้าถึง 3 เท่า เพราะกลัวหน้าอกที่เสริมมาจะหย่อนคล้อย กังวลว่าสารซิลิโคนที่เสริมเต้ามาจะทำอันตรายต่อลูก หรือว่าอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่อแม่และลูกได้หากเกิดการรั่วหรือแตก
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำเลเซอร์ปัญหาผิวของคุณแม่หลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดมักมีความกังวลเรื่องของปัญหาผิวพรรณหลังคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นผิวขาดน้ำ ผิวแตกลาย หย่อนคล้อย และมีรอยดำ ฝ้า กระ การทำเลเซอร์ชนิดต่าง ๆ จะปลอดภัยหรือไม่ เพราะยังจำเป็นต้องให้นมลูก
บอกเลยว่าการทำทรีตเมนต์ต่าง ๆ หรือเลเซอร์ที่แก้ปัญหาเฉพาะที่ผิวสามารถทำได้เมื่อพร้อม แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์พิสูจน์ว่าพลังงานจากเลเซอร์เหล่านั้น จะสะสมในร่างกายแล้วผ่านน้ำนมจนก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกได้
รู้อย่างนี้แล้ว หากคุณแม่หลังคลอดอยากกลับมาสวยเป๊ะและมีผิวพรรณที่สดใส ก็สามารถเลือกทำสวยได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเลเซอร์ ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกจริง ๆ การทำศัลยกรรมก็ยังไม่สายค่ะ
ข้อมูลจาก : samitivejhospitals.com, bangmodaesthetic.com, slcclinic.com, เฟซบุ๊ก หมอสุทัศน์ ศัลยกรรมตกแต่ง, ยูทูบ หมออุ๋ย ปนิตา ประทีปเสน