x close

หัวนมบอดคืออะไร ? มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาหัวนมบอด สำหรับคุณแม่ให้นม

          หัวนมบอดคืออะไร ? มารู้จักสาเหตุและลักษณะของหัวนมบอด แล้วถ้าแม่หัวนมบอดจะส่งผลต่อการให้นมลูกหรือไม่ หากปัญหาหัวนมบอดทำให้แม่ให้นมลูกกลุ้มใจ เรามีข้อมูลดี ๆ พร้อมวิธีแก้หัวนมบอดแบบง่าย ๆ มาฝากกัน

หัวนมบอด

          ปัญหาหัวนมบอด อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กลับไม่เล็กอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงที่มีหัวนมบอดอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจ โดยเฉพาะคุณแม่ให้นมมือใหม่ก็ยิ่งเป็นกังวลและสงสัยว่าจะสามารถให้นมลูกได้ตามปกติหรือไม่ ถ้าอยากรู้คำตอบ ตามเรามาทำความเข้าใจกับปัญหาหัวนมบอดแบบเคลียร์ ๆ พร้อมดูวิธีแก้ไขกันเลย

หัวนมบอดคือ ?

          สำหรับหน้าอกของผู้หญิงจะมีส่วนประกอบหลัก ๆ ที่เราสังเกตได้ด้วยตา คือ เต้านม ลานนมซึ่งมีสีน้ำตาล และหัวนม ซึ่งถ้าหากหัวนมยุบหรือบุ๋มลงไป ทำให้ดูเหมือนไม่มีหัวนมนั้น จะเรียกว่า “หัวนมบอด” นั่นเอง

          โดยหัวนมบอดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่มักจะเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมบอดได้ก็คือ การมีพื้นที่ฐานหัวนมน้อยเกินไป ท่อน้ำนมสั้นกว่าปกติ รวมทั้งการมีพังผืดรอบ ๆ ทำให้เกิดการดึงรั้งหัวนมไว้ หัวนมจึงไม่โผล่ออกมา หรือโผล่มาแล้วก็หดกลับคืน

ลักษณะของหัวนมบอด

ลักษณะของหัวนมบอดมี 3 ระดับ ตามความรุนแรงในการยุบเข้าไปของหัวนม ได้แก่

          1. หัวนมบอดขั้นต้น คือหัวนมเรียบหรือยุบเข้าไปบางส่วน แต่สามารถใช้มือดึงออกมาได้ หรือบางครั้งหัวนมก็ยื่นออกมาได้เอง หากได้รับการกระตุ้นโดยการสัมผัส การดูด รวมทั้งเวลาที่อากาศหนาวเย็น หัวนมบอดแบบนี้สามารถให้นมบุตรได้ และสามารถแก้ไขให้หายได้ด้วยการหมั่นดึงหัวนมออกมา

          2. หัวนมบอดชั้นกลาง คือหัวนมบุ๋มลงไป และดึงออกมาค่อนข้างลำบาก หรือถ้าดึงออกมาก็จะคงอยู่ได้เพียงชั่วคราว แล้วหัวนมก็จะยุบตัวกลับ หัวนมบอดลักษณะนี้บางรายสามารถให้นมบุตรได้ แต่บางรายที่ท่อน้ำนมรัดตัวก็ไม่สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ จึงต้องใช้อุปกรณ์แก้ไขหัวนมบอดโดยเฉพาะมาช่วย

          3. หัวนมบอดขั้นรุนแรง คือหัวนมที่ยุบตัวเข้าไปทั้งหมด ไม่ยื่นออกมาเลย และดึงออกมาไม่ได้ หัวนมบอดเช่นนี้ท่อน้ำนมจะรั้งตัวและคดอยู่ข้างใน ทำให้อาจจะให้นมบุตรไม่ได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด

หัวนมบอด

ปัญหาหัวนมบอดสำหรับคุณแม่มือใหม่

          คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่าหัวนมบอดหรือไม่ เรามีวิธีทดสอบง่าย ๆ มาบอก โดยลองใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบบริเวณลานนมขึ้นมา ถ้าหัวนมปกติ เมื่อทำเช่นนี้แล้วจะยื่นออกมา หากหัวนมไม่ยื่นออกมาแสดงว่าหัวนมแบน และถ้าเป็นหัวนมบอด หัวนมจะหดเข้าข้างในไปเลย

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาหัวนมบอดไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หากคุณแม่กังวลว่าจะไม่สามารถให้นมลูกได้ ขอบอกเลยว่าไม่ต้องห่วงค่ะ คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้ โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วย และหัวนมบอดไม่ได้ทำให้แม่น้ำนมน้อยหรือไม่มีน้ำนมแต่อย่างใด หรือถ้ามองให้เป็นเรื่องธรรมชาติ ทารกที่เกิดมา เมื่อดูดนมแม่ครั้งแรกจะไม่รู้เลยว่าดูดนมแม่จากหัวนมแบบใด ทารกจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะดูดนมจากหัวนมแบนหรือบุ๋มของแม่ได้เอง


วิธีแก้หัวนมบอด

          ถึงจะสามารถให้นมลูกได้ แต่คุณแม่ให้นมหรือแม้แต่สาว ๆ เองก็ตาม คงอยากรู้ใช่ไหมล่ะ ว่าหัวนมบอดแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เรามีวิธีแก้หัวนมบอดแบบง่าย ๆ เพื่อเป็นการเตรียมเต้าก่อนคลอดมาฝากกันแล้ว ลองทำตามกันได้เลย

1. วิธีจิ้ม กด แยก

          ให้ใช้นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้างแตะด้านข้างหัวนมและลานนม จากนั้นกดนิ้วลง แล้วดึงแยกออกข้าง แล้วปล่อยกลับ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง หัวนมจะตั้งและยื่นออกมา

2. วิธีบีบ ดึง ปล่อย

          ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้คีบบีบหัวนมเบา ๆ ดึงให้หัวนมยื่นออก 2-3 ครั้ง ปล่อยหัวนมกลับที่อย่างเบามือ

3. หมั่นดึงขณะอาบน้ำ

          ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ดึงลานนมขึ้นมา ทำขณะอาบน้ำทุกวัน และเพื่อเป็นการสลายพังผืดที่ดึงรั้งอยู่ใต้หัวนม แนะนำให้ดึงบริเวณลานนม 2 ด้านแยกออกจากกัน ทำบ่อย ๆ พังผืดก็จะดีขึ้น และหัวนมจะเริ่มโผล่

หัวนมบอด

4. บีบเต้านม เพื่อสร้างหัวนม

          เทคนิคนี้ให้สาว ๆ บีบเต้านมเข้าหากัน เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบหัวนมยื่นออกมามากขึ้น จากนั้นจึงดึงหัวนมขึ้น หมั่นทำเป็นประจำวันละ 20 ครั้ง จะช่วยให้หัวนมขึ้นมาได้ แต่เป็นวิธีที่ต้องอาศัยเวลาสักหน่อย โดยระหว่างที่ให้นมลูก คุณแม่ควรประคองเต้านมโดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบนและนิ้วอื่น ๆ อยู่ด้านล่าง กดนิ้วลงพร้อมกับรั้งเต้านมเข้าหาตัว วิธีนี้จะทำให้ลานนมยื่นออกมาและช่วยให้ทารกอมลานนมได้ง่ายขึ้น

5. กระตุ้นหัวนม
 
          จับหัวนมและหมุนด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้นาน 30 วินาที จากนั้นจับหัวนมด้วยผ้าเย็นทันทีก่อนที่จะให้ลูกดูดนม คุณแม่สามารถนำแผ่นซับน้ำนมแบบใช้แล้วทิ้งนำไปทำให้ชื้นและแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง แล้วใช้เป็นเหมือนห่อน้ำแข็งที่ช่วยให้หัวนมโผล่ออกมาได้

6. ใช้ที่ปั๊มนม

          ใช้ที่ปั๊มนม เพื่อกระตุ้นและช่วยดึงหัวนมให้ยื่นออกมาก่อนจะให้นมลูก การปั๊มนมสามารถช่วยแยกพังผืดที่ใต้ผิวหนังได้ โดยการใส่แรงกดเข้าไปจากตรงกลางหัวนม ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมักมีที่ปั๊มนมไว้ให้บริการ ซึ่งถ้าหากใช้ถูกวิธีก็ถือเป็นตัวช่วยชั้นดีในการดึงหัวนมออกมาโดยไม่ทำให้เจ็บ

หัวนมบอด

7. ใช้อุปกรณ์กดลานนม

          อุปกรณ์นี้รู้จักในชื่อ “ปทุมแก้ว” คือพลาสติกสองชั้นที่ทำเป็นรูปกลมพอดีกับเต้านม มีรูตรงกลาง เพื่อให้หัวนมยื่นออกมาเมื่อสวมใส่ ลองสวมปทุมแก้วนี้ในระหว่างมื้อนมหรือก่อนให้นมราวครึ่งชั่วโมง แรงกดของปทุมแก้วจะช่วยนวดผิวหนังบริเวณรอบลานนมให้นุ่มและทำให้หัวนมยื่นออกมา สำหรับคุณแม่ที่มีหัวนมบอด แนะนำให้ใช้ปทุมแก้วแบบรูเล็ก ซึ่งจะพอดีกับฐานนม

8. ใช้แผ่นครอบหัวนม


          ลองใช้แผ่นครอบหัวนมที่เป็นแผ่นซิลิโคนบาง ๆ ยืดหยุ่นได้ มีรูตรงด้านปลายที่พอดีกับหัวนม จะช่วยกระตุ้นให้ลูกเข้าถึงลานหัวนมได้มากกว่า โดยสามารถขอคำแนะนำจากพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่คลินิกนมแม่ ซึ่งจะบอกวิธีใช้แผ่นครอบหัวนมโดยไม่ทำให้น้ำนมของคุณแม่ลดลง

ข้อแนะนำเพิ่มเติม


          สำหรับคุณแม่หัวนมบอด ในการให้นมลูกช่วงแรก ๆ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้หัวนมปลอมทุกรูปแบบ เพราะมีโอกาสสูงมากที่ทารกจะสับสนเรื่องหัวนมและวิธีการดูดนมได้

          หัวนมบอดจะไม่เป็นปัญหาสำหรับแม่ให้นมอีกต่อไป หากรู้จักวิธีแก้ไขที่ดี แต่เบื้องต้นแล้ว คุณแม่ต้องเสริมความมั่นใจให้ตัวเองก่อนว่าสามารถให้นมลูกน้อยได้ และยังมีตัวช่วยอื่น ๆ อีกมากมาย เพียงเท่านี้ก็ช่วยแก้ไขปัญหาหัวนมบอดอย่างถูกวิธีได้แล้ว

ข้อมูลจาก : rakluke.com, doctornopporn.com, breastfeedingthai.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวนมบอดคืออะไร ? มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาหัวนมบอด สำหรับคุณแม่ให้นม อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2562 เวลา 17:29:03 41,716 อ่าน
TOP