x close

ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้ายใกล้ตัวลูก พ่อแม่ควรรู้จักวิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกัน

          ไข้เลือดออก มีอาการแบบไหน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีสังเกตเพื่อแยกอาการของไข้หวัดธรรมดาและโรคไข้เลือดออกในเด็กได้อย่างไร มารู้เอาไว้ก่อนจะสายเกินแก้กันเลย

ไข้เลือดออก

          การติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ นับว่าเป็นปัญหาที่ประเทศเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเราต้องเผชิญมาโดยตลอด ทั้ง โรคชิคุนกุนยา, ไวรัสซิกา, มาลาเรีย, โรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยอย่าง ไข้เลือดออก ก็มีสาเหตุมาจากยุงเช่นกัน ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ป่วยวัยเด็ก หากมีอาการหนักมากก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

          เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับมือกับไข้เลือดออกในเด็กอย่างถูกวิธี วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีสังเกตอาการ ไข้เลือดออกในเด็ก แนวทางรักษา และวิธีป้องกันมาฝากกัน จะมีอะไรบ้าง มาศึกษาไว้กันเลยค่ะ

สาเหตุของไข้เลือดออกในเด็ก

          โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุมาจากยุงลายเพศเมียที่เข้ามาดูดเลือดของคนเป็นอาหาร เนื่องจากยุงลายเพศเมียต้องการสารอาหารจากเลือดคนไปช่วยหล่อเลี้ยงตัวเองขณะกำลังวางไข่นั่นเอง โดยไข้เลือดออกนี้จะแพร่เชื้อจากยุงที่ได้รับไวรัสเดงกีมาเท่านั้น หากมีเพื่อนบ้านหรือคนรอบตัวเป็นไข้เลือดออก ยุงที่ไปดูดเลือดจากผู้ป่วยเหล่านั้นก็จะเป็นพาหะที่นำโรคไข้เลือดออกมาสู่ตัวเราได้

          ทั้งนี้ หากคุณแม่มีลูกป่วยเป็นไข้เลือดออกก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะติดเชื้อจากลูกโดยตรง เพราะไข้เลือดออกจะติดจากยุงที่เป็นพาหะเท่านั้น ไม่สามารถส่งต่อเชื้อจากคนสู่คนได้

อาการไข้เลือดออกในเด็กต่างจากไข้ธรรมดาอย่างไร


          ในช่วงแรกของการติดเชื้อไข้เลือดออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้ธรรมดา เช่น มีไข้สูงหลายวัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร แต่จะแตกต่างตรงที่ไข้เลือดออกจะทำให้ปวดกระบอกตา รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเหมือนมีอะไรมาบีบรัดกระดูก ท้องอืด มีผื่นแดงขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใบหน้า หากเบื้องต้นพบอาการเหล่านี้ ควรให้กินเพียงยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาแอสไพรินหรือยาต้านการอักเสบเด็ดขาด เพราะถ้าเด็กเป็นไข้เลือดออกขึ้นมาจริง ๆ ยาเหล่านี้จะยิ่งทำให้มีอาการหนักมากกว่าเดิม

ไข้เลือดออก

ระยะของโรคไข้เลือดออกในเด็ก

          โรคไข้เลือดออกในเด็กแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว โดยมีอาการที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ระยะไข้


          จะมีอาการไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 4-5 วัน ปวดหัว ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร ท้องอืด และส่วนใหญ่จะรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว หรือปวดกระดูกตามมาด้วย อย่างไรก็ตามเด็กบางคนอาจมีอาการชักและใบหน้าแดงตั้งแต่ระยะไข้นี้ได้เหมือนกัน

2. ระยะวิกฤต

          เมื่อมีไข้มาเกิน 5-6 วัน แล้วช่วง 3 วันหลังจากนี้ลูกมีไข้ลดลง ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเย็นขึ้น ปัสสาวะน้อย มีอาการท้องอืดและกระสับกระส่ายร่วมด้วย คุณแม่ก็อย่าเพิ่งวางใจคิดว่าลูกใกล้หายแล้ว เพราะลักษณะแบบนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบเฉียบพลัน อาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้

3. ระยะฟื้นตัว

          พอผ่านช่วง 3 วันอันตรายโดยไม่มีอาการช็อก คนไข้จะฟื้นตัวได้เร็วมาก เริ่มปัสสาวะบ่อยขึ้น อาการปวดหัวลดลง และมีความอยากอาหาร ส่วนเด็กที่ป่วยด้วยไข้เลือดออกแล้วเกิดอาการช็อก หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 วัน

ไข้เลือดออก

การรักษาโรคไข้เลือดออก

1. งดกินยาประเภทแอสไพรินและยาต้านการอักเสบ


          ถ้ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคที่ลูกเป็นคือไข้เลือดออกหรือไข้ธรรมดา ควรรักษาด้วยการให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดความเจ็บปวดไปก่อนจะดีกว่า แต่ห้ามให้กินยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบเด็ดขาด เพราะยา 2 ชนิดนี้อาจส่งผลให้เด็กที่เป็นไข้เลือดออกอาการหนักมากขึ้น

2. ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือแร่

          ด้วยอาการป่วยนี้จะทำให้เด็กรู้สึกเบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยลงสักเท่าไร ดังนั้น ควรให้น้ำที่มีพลังงานอย่างน้ำผลไม้หรือผงน้ำตาลเกลือแร่แทน โดยให้ลูกจิบเรื่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายไม่อ่อนแรงและมีน้ำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

3. ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

          คอยสังเกตอาการของลูกให้ดี ว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างเฉียบพลันไหม เพราะเขาอาจเกิดอาการช็อกจนรักษาได้ยาก หรือถ้าลูกเป็นไข้หนักและไม่ยอมกินอะไรเลยจริง ๆ ก็ควรพาเขาไปโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยอาการและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด

ไข้เลือดออก

วิธีป้องกันไข้เลือดออกในเด็ก

          เมื่อรู้จักสาเหตุและวิธีรักษาโรคไข้เลือดออกในเด็กแล้ว คราวนี้มาถึงสิ่งสำคัญที่สุดอย่างการป้องกันโรคไข้เลือดออกกันบ้าง โดยสามารถทำได้ 5 วิธีดังต่อไปนี้

1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย


          ตุ่มน้ำ แจกัน ที่รองกระถาง หรือแอ่งน้ำนิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่เอื้อต่อการวางไข่ของยุงลายทั้งสิ้น เพื่อช่วยกำจัดต้นตอของโรคนี้ คุณแม่ควรสำรวจแหล่งน้ำขังทั้งรอบตัวบ้าน และในบริเวณบ้านให้ดีก่อนที่ลูกน้ำเหล่านั้นจะเจริญเติบโตเป็นยุงลาย ทำได้ง่าย ๆ แค่เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก ๆ 7 วัน, ปิดฝาโอ่งน้ำให้สนิท, ปล่อยปลาลงอ่างบัว หรือใส่น้ำเดือดลงไปในถ้วยรองตู้กับข้าวทุก 7 วัน เป็นต้น

2. ให้ลูกสวมใส่เสื้อแขนยาวขายาว

          เมื่อต้องปล่อยให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้านไม่ว่าตอนกลางวันหรือกลางคืน เหล่ายุงตัวร้ายก็พร้อมเข้ามาดูดเลือดได้เสมอ ทางที่ดีควรใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวให้ลูกตลอดเวลาจะดีกว่า

3. ทายากันยุงให้ลูก

          เดี๋ยวนี้ยาสำหรับทากันยุงหลายยี่ห้อเริ่มผลิตให้มีความอ่อนโยนมากขึ้นและเหมาะสำหรับเด็ก คุณแม่ควรหายาทากันยุงมาติดบ้านไว้ หลังอาบน้ำเสร็จก็ทาให้ลูกทันที คราวนี้ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว

ไข้เลือดออก

4. กางมุ้งนอน

          ต่อให้ประตูและหน้าต่างจะมีมุ้งลวดคอยกันยุงและแมลงอยู่รอบบ้านก็จริง แต่บางครั้งยุงตัวเล็ก ๆ ก็อาจจะเล็ดลอดเข้ามาได้ ฉะนั้นแล้วเวลาเข้านอนก็ควรกางมุ้งด้วยจะดีกว่า พอกางมุ้งเสร็จแล้วให้สำรวจอีกทีว่ามียุงอยู่ในนั้นไหม ถ้ามีก็ต้องหาทางกำจัดยุงออกไปก่อน เพื่อลูกได้นอนสบายตลอดทั้งคืน

5. ฉีดยากำจัดยุง

          ควรฉีดยากำจัดยุงทั่วบ้านอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้ยุงอาศัยอยู่ในบ้านของเราได้นาน ส่วนพื้นที่รอบ ๆ บ้านหากหาทางกำจัดไม่ได้และมียุงเยอะจริง ๆ ควรแจ้งกับทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามากำจัดยุงจะดีที่สุด
              
          ทั้งหมดนี้คือวิธีรักษาและการป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอย่างถูกหลัก ขอเพียงคุณแม่รู้จักระวัง หมั่นสังเกตอาการ ไม่ประมาท และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป แค่นี้ลูกรักก็จะปลอดภัยห่างไกลอันตรายจากไข้เลือดออกแล้ว

ข้อมูลจาก : boe.moph.go.th, bumrungrad.com, kidshealth.org


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้ายใกล้ตัวลูก พ่อแม่ควรรู้จักวิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกัน อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2564 เวลา 13:43:41 25,688 อ่าน
TOP