ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญของคนอยากมีลูก ทำไมต้องตรวจ และควรตรวจอะไรบ้าง

          ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากว่าที่พ่อแม่มือใหม่จะได้เช็กสุขภาพเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการมีลูกแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเรามาดูกันค่ะว่า การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร และควรตรวจอะไรบ้าง

ตั้งครรภ์

          ทุกวันนี้มีคู่รักหลายคู่ที่เลือกแต่งงานและมีลูกกันทันที โดยไม่ได้ตรวจสุขภาพก่อน เมื่อตั้งครรภ์แล้วจึงไม่รู้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจมีโรคที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้ลูกเกิดมาโดยไม่สมบูรณ์ พิการ หรือมีโรคทางพันธุกรรมใช่ไหมคะ

          ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแค่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มาตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ดูสักครั้ง เพื่อให้รู้กันไปเลยว่า ร่างกายของทั้งคู่พร้อมหรือยังสำหรับการมีลูก ทั้งนี้การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง และควรตรวจเมื่อไรดี ? วันนี้กระปุกดอทคอมจะไปศึกษาข้อมูลกันค่ะ

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร ทำไมต้องตรวจตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

          1. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งไปยังลูก หรืออาจเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

          2. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อดูความพร้อมในการตั้งครรภ์ของพ่อแม่ เช่น มีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ อสุจิแข็งแรงหรือไม่ ประจำเดือนปกติหรือไม่ หรือในกรณีตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี จะมีความเสี่ยงกับทารกที่มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่

          3. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อดูความเสี่ยงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่เคยมีประวัติการแท้ง ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ตรวจอะไรบ้าง

1. ซักประวัติ

          เป็นขั้นตอนแรกในการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ โดยสิ่งที่คุณหมอจะซักถามทั้งคุณพ่อคุณแม่ ได้แก่

          - ประวัติการคุมกำเนิด เคยคุมกำเนิดแบบไหน ปัจจุบันยังคุมอยู่หรือไม่ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ เพราะประวัติประจำเดือนจะช่วยให้ทราบถึงโอกาสการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ และวันคลอดได้

          - ประวัติการเจ็บป่วย การรับประทานยา โรคประจำตัว การผ่าตัด รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          - ประวัติการตั้งครรภ์ เคยตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ กี่ครั้ง ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดทำคลอด การตั้งครรภ์แฝด การแท้งบุตร

          - ประวัติครอบครัว เพื่อให้ทราบไปถึงโรคทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคธาลัสซีเมีย

          - ประวัติการฉีดวัคซีน เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่อาจจะติดต่อไปยังทารกหรือไม่ เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบ อีสุกอีใส


          - ประวัติการใช้ยา ทั้งจากที่แพทย์สั่งหรือการซื้อยามารับประทานเอง รวมไปถึงการแพ้ยา

          - ประวัติส่วนตัว สอบถามเรื่องสภาพแวดล้อมในบ้าน การนอน การเลี้ยงสัตว์ การออกกำลังกาย ประวัติการทำฟัน รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การใช้ยาเสพติด ฯลฯ

2. ตรวจร่างกายทั่วไป

          เป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจระบบหายใจ ตรวจระบบหัวใจ ตรวจเต้านม ตรวจหน้าท้อง ตรวจมะเร็งปากมดลูก เพื่อดูว่ามีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ หากพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าสมควรให้มีการตั้งครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

3. ตรวจเลือด

           เป็นการเจาะเลือดตรวจ เพื่อหาความเข้ากันของกรุ๊ปเลือดพ่อแม่ ความเข้มข้นของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด โรคทางพันธุกรรมแฝง รวมไปถึงการตรวจเชื้อ HIV เอดส์ นอกจากนี้ยังมีการตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจภูมิคุ้มกันโรค เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส

          หากพบว่าทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีโรคทางพันธุกรรมแฝงอยู่ในตัว โดยทั่วไปแล้วจะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกได้ 1 ใน 4 คนเลยทีเดียว โดยจะมี 1 คนที่ปกติ มี 2 คนที่ปกติแต่มีโรคแฝง ส่วนอีก 1 คนนั้นจะผิดปกติหรือมีโรคปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ยิ่งถ้าพ่อแม่เป็นโรคเลือดธาลัสซีเมียทั้งคู่ คุณหมอจะไม่แนะนำให้มีลูกเลยค่ะ

ตั้งครรภ์

4. ตรวจภายในสำหรับคุณแม่

          เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามดลูกและรังไข่ปกติดีหรือไม่ รวมทั้งตรวจอุ้งเชิงกรานและช่องคลอด เพราะมีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์และการคลอด อีกทั้งการตรวจภายในยังเป็นโอกาสดีที่จะได้ตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย

5. การตรวจพิเศษอื่น ๆ

          กรณีที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติบางอย่าง ก็อาจจะต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ในช่องท้อง หรือส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ตอนไหนดี

          แนะนำว่าควรตรวจร่างกายก่อนการตั้งครรภ์สัก 3 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ พร้อมกับปรับพฤติกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีลูก หากคุณพ่อคุณแม่มีสุขภาพดี ก็ย่อมมีโอกาสคลอดลูกที่แข็งแรงเช่นกัน

คำแนะนำก่อนไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล

          งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และอย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยนะคะ

          สำหรับใครที่กำลังคิดว่าจะตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ที่ไหนดี ? ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลก็มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ให้เลือกมากมาย ในรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ก็จะมีราคาแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว ถ้าตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ทั้งชายและหญิง ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 4,000-5,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าสำหรับสุขภาพที่ดีของลูกน้อยและความปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ของคุณแม่นะคะ

ข้อมูลจาก bangpakok8.com, phyathai.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญของคนอยากมีลูก ทำไมต้องตรวจ และควรตรวจอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2562 เวลา 16:12:46 17,657 อ่าน
TOP
x close