เลือดออกในปอด ทารก โรคร้ายในเด็กแรกเกิด แม้จะพบน้อย แต่มีความรุนแรงถึงชีวิต คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร ถ้าลูกน้อยเป็นภาวะนี้ มาทำความรู้จักกับโรคเลือดออกในปอด ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารกกันค่ะ
วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจกับโรคเลือดออกในปอดของทารก วิกฤตร้ายในวัยแรกเกิด จะมีอาการ สาเหตุ และควรรับมืออย่างไร ? ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ
โรคเลือดออกในปอด คืออะไร ?
โรคเลือดออกในปอด (Pulmonary Sequestration) เป็นโรคปอดแต่กำเนิด โดยทารกจะมีส่วนของกลีบปอดที่เพิ่มเติมมา เป็นเนื้อปอดธรรมดาที่ไม่ร้ายแรง แยกจากระบบหลอดคอ / หลอดลมปกติ และมีเส้นเลือดมาเลี้ยงตัวเองที่แยกต่างหาก ซึ่งส่วนของเนื้อเยื่อปอดที่ผิดปกตินี้จะไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของพัฒนาการตั้งแต่ในครรภ์ พบได้เพียง 1 ต่อ 1,000 ของการคลอด
เลือดออกในปอด เกิดจากอะไร ?
โรคเลือดออกในปอดเกิดจากการหมุนตัวของอวัยวะทารกในครรภ์ในส่วนของปอดผิดไป และมีเส้นเลือดออกมาจากเส้นเลือดเเดงใหญ่ตรงมาที่ปอดโดยตรง แทนที่จะออกมาจากทางข้างขวาของหัวใจ ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว พบบ่อยที่สุดที่กลีบปอดซ้ายล่าง การที่มีเส้นเลือดออกมาจากเส้นเลือดแดงใหญ่โดยตรงนี้ ทำให้ทารกมีความดันสูงมากประมาณ 100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่าความดันของทารกปกติถึง 5 เท่า เมื่อเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงมีเลือดออกมากกว่าปกติ
อาการของผู้ที่เป็นเลือดออกในปอด คือมีการตกเลือดอย่างเฉียบพลันจากปอด ทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลม หรือถุงลม ซึ่งมักจะมีอาการเริ่มแรกด้วยการไอเรื้อรัง ไอผสมเลือดตามความรุนแรง อาจมีเลือดปนเสมหะออกมา หากเป็นรุนแรงจะมีอาการขาดออกซิเจน ทำให้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ และมีอาการเขียวคล้ำตามมา ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเนื่องจากเข้าสู่ขั้นอันตราย อาจเกิดอาการช็อกได้
การรักษาโรคเลือดออกในปอด
เนื่องจากเป็นโรคที่พบน้อยมาก ก่อนที่จะรักษาจึงต้องมีการวินิจฉัยอย่างละเอียด ด้วยการทำคอมพิวเตอร์สแกนที่ปอด เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเส้นเลือดผิดปกติออกมาจากเส้นเลือดแดงใหญ่ตรงมาที่ปอดในจุดใด จากนั้นจึงทำการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยวิธีการรักษาอาจจะมีแนวทางดังนี้
- การดูดเลือดออกจากหลอดลม
- การให้ออกซิเจน
- การช่วยหายใจด้วยแรงดันบวก
- การแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรืออื่น ๆ ในบางรายอาจจำเป็นต้องให้เลือดด้วย
- การผ่าตัด เป็นการรักษาโดยการตัดปอดส่วนที่ผิดปกตินี้ออกไป โดยต้องระวังเส้นเลือดที่มาเลี้ยง โดยทั่วไปผลการรักษามักเป็นที่น่าพอใจ
จะเห็นได้ว่าการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่ตรงจุดและแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการผ่าตัด เลือดก็จะออกอยู่ตลอดเวลา และอาจทวีความรุนแรงได้ในภายหลังค่ะ
มีผลในแง่ของความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเป็นเวลานาน และอาจเจ็บเวลาไอหรือหัวเราะ ทั้งนี้เป็นเพราะการผ่าตัดจะต้องเปิดทรวงอกทางด้านขวาให้กว้าง เพื่อที่แพทย์จะได้ผ่าตัดปอดออกได้ รวมถึงอาจมีการแยกซี่โครง ซึ่งกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทใต้ซี่โครง แต่ในแง่ของการหายใจหรืออาการเหนื่อยง่าย จะไม่มีผลมากนัก เพราะว่าปอดส่วนนี้เป็นส่วนที่ไม่ดีอยู่แล้ว และไปกดทับส่วนปอดที่ดี การผ่าตัดจึงเป็นผลดีต่อการหายใจเสียอีก
สำหรับทารกแรกเกิด โรคเลือดออกในปอด เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์ จึงยากที่จะหาทางป้องกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนทำได้ก็คือ การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ให้ปลอดภัยที่สุด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นไปตรวจครรภ์ตามนัด หรือปรึกษาการตรวจเพิ่มเติม เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
ข้อมูลจาก med.cmu.ac.th, thaipedlung.org, voathai.com