x close

7 โรคหน้าฝนในเด็กที่ต้องระวัง พ่อแม่ควรรู้พร้อมเตรียมวิธีป้องกัน

          โรคหน้าฝน อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก เด็กเล็กจึงเสี่ยงต่อการป่วยง่าย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ 7 โรคหน้าฝนในเด็กที่ต้องระวังกันดีกว่าค่ะ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับโรคหน้าฝนและป้องกันไม่ให้ลูกป่วยได้


โรคหน้าฝน

          ในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ อากาศจะเริ่มเย็นลง และมีความชื้นสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้เกิดโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน โดยเฉพาะในเด็ก ที่ระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดโรคเด็กต่าง ๆ ได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพของลูกกันเป็นพิเศษ

          ดังนั้น เรามารู้เท่าทันโรคไปกับ 7 โรคหน้าฝน ที่เด็กเล็กเสี่ยงป่วยง่ายกันดีกว่าค่ะ จะมีโรคอะไรที่เป็นโรคยอดฮิตและพ่อแม่ต้องระวังบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ

1. โรคไข้หวัดใหญ่


          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และพบได้เกือบทั้งปี แต่ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ติดต่อกันได้ทางการหายใจ เมื่อไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางจมูกหรือปาก ดังนั้นในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ อาจได้รับเชื้อจากเพื่อนที่โรงเรียนได้ง่าย

อาการ

          เด็กที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคัดจมูก  มีน้ำมูกใส ๆ  ไอ จาม  คอแห้ง  เจ็บคอ  เป็นไข้  อ่อนเพลีย  ปวดศีรษะ หากอาการรุนแรงและลุกลามอาจมีโรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัดก็คือไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้

การป้องกัน

          ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีดประมาณ 1- 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาด สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย ในเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่ควรให้หยุดพักรักษาตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ

2. โรคมือ เท้า ปาก

          เกิดจากเชื้อไวรัส พบมากในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย จากการไอหรือจาม ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระ หรือสัมผัสทางอ้อม เช่น ผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู

อาการ

          เด็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2 - 3 วันจะมีอาการเจ็บปาก มีแผล ตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม นอกจากนั้นยังมีผื่นแดงหรือตุ่มโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และก้น แต่จะไม่คัน อย่างไรก็ตามอาการไข้จะหายได้เองภายใน 3 -5 วัน จากนั้นอาการอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

การป้องกัน

          ดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วส่วนตัวเอาไว้ใช้ที่โรงเรียน และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรล้างมือบ่อย ๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็วเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็กและเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกด้วย

โรคหน้าฝน

3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

          ไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้

อาการ


          เด็กจะมีอาการมีไข้ ไอ จาม หายใจลำบาก ซึ่งคล้ายกับอาการของไข้หวัด แต่สิ่งที่ต้องสังเกตเพิ่มเติมคือหากลูกมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว และมีเสียงครืดคราด รวมถึงไอหนักมาก ๆ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ในทันที

การป้องกัน

          หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล็กอยู่ในสถานที่คนพลุกพล่าน คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อ และควรหยุดเรียนอย่างน้อย 1- 2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ

4. ไข้เลือดออก

          เป็นโรคร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบการระบาดสูงในช่วงหน้าฝน เพราะมีบริเวณน้ำขังอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อาการที่สงสัยว่าลูกคุณอาจจะเป็นไข้เลือดออกก็คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัว มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเลือดเพิ่มเติมต่อไป

อาการ

          มีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป กินยาลดไข้ก็ไม่หาย รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง ตาแดง ปากแดง ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ มีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา เนื่องจากตับโต และมีอาเจียนร่วมด้วย

การป้องกัน

ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งน้ำขังหรือแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน พยายามทำบ้านให้โปร่ง ไม่มีมุมอับทึบ และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์

โรคหน้าฝน

5. โรคอีสุกอีใส

          โรคยอดฮิตที่หลายครอบครัวคุ้นเคยกันดี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี เมื่อระบาดแล้ว โรคจะติดต่อกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน มักจะพบในเด็กที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน

อาการ

เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้น ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองภายใน 2 - 3 สัปดาห์

การป้องกัน

          พยายามดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันอย่าลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ ส่วนเด็กที่เป็นโรคควรให้แยกตัวจากผู้อื่น โดยหยุดเรียนจนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอน 4 ขวบ

6. โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง

          เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจนำสิ่งของเข้าปากโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ติดเชื้อและลำไส้อักเสบได้ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว

อาการ

          ส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสีย อุจจาระเหลว  อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง และควรระวังร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

การป้องกัน

          เด็กอ่อนควรเลี้ยงด้วยนมแม่ ดูแลสุขลักษณะการกินและการเล่นของลูก ให้ลูกรับประทานอาหารที่สะอาด ไม่นำเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด เพราะจะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ

โรคหน้าฝน

7. โรคไอพีดีและปอดบวม

          โรคไอพีดีคือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน พบโรคนี้ได้มากในสถานที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น

อาการ

          ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

การป้องกัน

          วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12 - 15 เดือน

          การรู้เท่าทันโรคหน้าฝนในเด็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงสาเหตุ วิธีการป้องกันโรค อีกทั้งสังเกตอาการ เพื่อเตรียมรับมือกับโรคต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงควรฝึกให้ลูกล้างมือให้สะอาด ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย เลือกใส่เสื้อผ้าที่ไม่เกิดการอับชื้น ซึ่งเป็นวิธีป้องกันเบื้องต้นที่จะช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝนนี้ได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : bumrungrad.com, bangkokhospital.com, siphhospital.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 โรคหน้าฝนในเด็กที่ต้องระวัง พ่อแม่ควรรู้พร้อมเตรียมวิธีป้องกัน โพสต์เมื่อ 12 มิถุนายน 2562 เวลา 15:32:19 24,297 อ่าน
TOP