4 โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลอีกได้ในอนาคต

          โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน หรือไทรอยด์ ที่ถึงแม้จะรักษาหายหลังจากคลอดบุตร แต่โรคเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นกับตัวคุณแม่ได้ในอนาคต หรือไม่ก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


ตั้งครรภ์

          คุณแม่หลายคนอาจเคยผ่านประสบการณ์เป็นโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ มาบ้างแล้ว อย่างโรคเบาหวานซึ่งเกิดได้ง่ายมากในเหล่าคุณแม่ ที่แม้ว่าผลของเบาหวานจะไม่ร้ายแรงนัก เนื่องจากการควบคุมโรคขึ้นอยู่กับอาหารการกิน เมื่อคลอดลูกแล้วระดับน้ำตาลก็จะกลับมาหายเป็นปกติ รวมไปถึงโรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคลอดลูกได้ แต่เมื่อไหร่ที่คลอดลูกไปแล้วโรคเหล่านี้ก็จะหายไปทันที ราวกับว่าไม่เคยเป็นโรคร้ายแรงเหล่านี้มาก่อน

          อย่างไรก็ตาม ได้มีการรายงานบทความของ American Journal of Obstetrics and Gynecology เผยว่า โรคแทรกซ้อนเหล่านั้น สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ได้อีกในอนาคต ถึงแม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม ว่าแต่จะมีโรคอะไรบ้าง แล้วส่งผลเสียได้อย่างไร กระปุกดอทคอมได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

1. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

          คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลายคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ง่ายมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจึงเกิดภาวะต่อต้านอินซูลิน ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง และหากมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แม้ว่าหลังคลอดระดับน้ำตาลจะกลับมาเป็นปกติจนหายจากโรคนี้แล้ว แต่ในอนาคตต่อมาคุณแม่ที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าคนอื่น ๆ ถึง 7 เท่าเลยทีเดียว โดยเบาหวานชนิดที่ 2  มีผลมาจากที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอิซูลินได้อย่างเพียงพอ จนน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นซึ่งเป็นได้ง่ายในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ปลอดภัย อีกทั้งเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ในอนาคต ควรควบคุมน้ำหนักและน้ำตาลไว้จะดีกว่า

ตั้งครรภ์

2. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

          แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ที่มีความเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงได้น่าจะมาจาก อายุ, จำนวนการตั้งครรภ์และการคลอด, ตั้งครรภ์แฝด หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน ซึ่งหากมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อาจถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิตเลยก็ได้ ในอนาคตผู้หญิงกลุ่มนี้ก็มักจะมีโอกาสเกิดภาวะโรคหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า รู้ว่าอันตรายขนาดนี้แล้ว ควรตรวจวัดระดับความดันบ่อย ๆ ขณะตั้งครรภ์ และปรึกษาแพทย์ตลอดเวลาจะดีที่สุด

ตั้งครรภ์

3. ภาวะครรภ์เป็นพิษ

          คุณแม่ยังสาวที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยรุ่นและคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้สูงกว่าคนทั่วไป หากเกิดอาการหนักมากขึ้นคุณแม่อาจชักได้ ซึ่งการชักนั้นสามารถส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย โดยวิธีการรักษามีอยู่ทางเดียวคือต้องคลอดบุตรเท่านั้น อาการครรภ์เป็นพิษถึงจะหายไป อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีผลเสียอะไรต่อสุขภาพของแม่หลังจากคลอดลูกแล้ว แต่ในอนาคตคุณแม่เหล่านั้นกลับมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 2 เท่า ดังนั้นควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพทุกปีเพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดโรคหัวใจจะดีที่สุด

ตั้งครรภ์

4. ภาวะทารกโตช้าในครรภ์

          อาจารย์ลีนา นาธาน (Dr.Leena Nathan) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เป็นเพราะกระแสเลือดของแม่ไปหล่อเลี้ยงรกของเด็กได้ไม่เพียงพอ ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบ จนมีพัฒนาการช้ามากกว่าปกติและมีขนาดตัวที่เล็กกว่าอายุครรภ์จริง หากอาการหนักเข้าเมื่อคลอดออกมาเด็กมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่เกิดสูงมาก ไม่เพียงเท่านั้น อนาคตตัวแม่เองก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่อันตรายมากทีเดียว

ตั้งครรภ์  

          จะเห็นได้ว่าโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะหาสาเหตุของโรคได้ยาก ยกเว้นโรคเบาหวาน ที่ต้องควบคุมน้ำตาลในอาหารก็พอ แต่อีก 3 โรคที่เหลือหาทางป้องกันได้ยากมาก ดังนั้นแล้วคุณแม่ควรฝากครรภ์และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อที่ลูกของเราจะได้แข็งแรงมีพัฒนาการสมวัย ส่วนตัวคุณแม่เองจะได้ไม่เป็นโรคร้ายแรงในอนาคตด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : usatoday.com, si.mahidol.ac.th, urmc.rochester.edu, honestdocs.co, stanfordchildrens.org, today.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลอีกได้ในอนาคต อัปเดตล่าสุด 6 สิงหาคม 2563 เวลา 11:03:34 48,338 อ่าน
TOP
x close