ลูกแรกเกิดหายใจแรง เกิดจากอะไร และมีวิธีสังเกตทารกหายใจแรงอย่างไรบ้าง

          ลูกแรกเกิดหายใจแรง และภาวะทารกหายใจเร็ว มีสาเหตุมาจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กังวลว่าลูกหายใจแรง ลูกหายใจเสียงครืดคราด จะเป็นอันตรายไหม วันนี้เรามีคำตอบและวิธีสังเกตการหายใจของลูกน้อยมาฝากกันแล้วค่ะ


โรคเด็ก

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนอาจเป็นกังวลเมื่อลูกแรกเกิดหายใจแรง หรือหายใจเร็ว ในทารกบางคนอาจมีเสียงหายใจดังครืดคราด คล้ายกับการกรน ซึ่งสาเหตุของภาวะหายใจแรงในเด็กทารกเกิดจากอะไร และจะเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่นั้น วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีความรู้และคำแนะนำดี ๆ พร้อมกับวิธีสังเกตการหายใจของลูกน้อยมาฝากกันแล้วค่ะ

ลูกแรกเกิดหายใจแรง สังเกตยังไง

          ในเด็กทารกแรกเกิดจะมีการหายใจเป็นจังหวะ คือหายใจเร็วและลึก จากนั้นจะหายใจช้าและตื้นขึ้น อาจมีอาการหายใจแรง และมีเสียงดังครืดคราดระหว่างนอน เป็นเพราะว่าช่องลมของลูกยังมีขนาดเล็ก หลอดลมที่อยู่ด้านหน้ากระดูกอ่อนที่เป็นโครงสร้างของหลอดลมยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงทำให้หลอดลมมาขวางอากาศที่หายใจ หรืออาจเป็นเพราะมีเมือกมาบังช่องอากาศที่ลูกหายใจ จนทำให้ลูกนอนกรน หรือหายใจแรงได้ ซึ่งหากทารกสามารถนอนหลับได้สนิท ไม่มีอาการกระสับกระส่าย ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงค่ะ เพราะการหายใจแบบนี้ถือว่าปกติสำหรับเด็กทารกและจะหายไปเมื่อช่องอากาศของลูกค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้หายใจได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

          แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตการหายใจของลูกอยู่เสมอนะคะ หากลูกหายใจผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจเสียงเหมือนนกหวีด มีเสียงแหลมสูง หรือมีอาการไอร่วมด้วย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเกิดจาก ไข้หวัด ทำให้มีน้ำมูก มีเสมหะอุดตันหลอดลม หรืออาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ เป็นต้น

โรคเด็ก

          ทั้งนี้ เด็กแรกเกิดหายใจแรงอาจเป็นภาวะปกติ หรืออาจส่งสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เรียนรู้วิธีสังเกตการหายใจเข้า-ออก พร้อมกับดูลักษณะการเคลื่อนไหวของทรวงอกขณะที่ลูกหายใจ ก็จะช่วยให้ทราบถึงอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็วค่ะ

          ตามปกติแล้วเด็กเล็กมักจะหายใจเร็ว ซึ่งอัตราการหายใจของเด็กแรกเกิด - 2 เดือน จะอยู่ที่ 60 ครั้งต่อนาที เมื่อโตขึ้น อายุ 2 เดือน - 1 ขวบ อยู่ที่ 50 ครั้งต่อนาที แต่เมื่ออายุ 1-3 ขวบขึ้นไป อัตราการหายใจของลูกจะเริ่มลดลง และจะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 20-30 ครั้งต่อนาที โดยวิธีที่ง่ายที่สุดในการสังเกตการหายใจของลูกน้อยก็คือการนับอัตราการหายใจนั่นเองค่ะ จะช่วยให้ทราบว่าเด็กมีการหายใจเพียงพอหรือไม่ ซึ่งวิธีการนับอัตราการหายใจ ต้องนับให้ครบ 1 นาที (60 วินาที) ขณะที่เด็กพักอยู่นิ่ง ๆ อาจเป็นช่วงนั่ง หรือนอนเฉย ๆ เพราะหากนับตอนที่เด็กร้องไห้ จะได้ค่าคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง 

วิธีสังเกตการหายใจของลูก

          - ฟังเสียงหายใจของลูกระหว่างหลับ โดยเอาหูแนบกับจมูกหรือปากของลูก มีเสียงเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือไม่

          - ใช้หลังมือ หรือแก้ม สัมผัสลมหายใจของลูกว่ามีความชื้นหรืออุณหภูมิเป็นอย่างไรบ้าง

          - สังเกตการเคลื่อนไหวของหน้าอกและหน้าท้องของลูกน้อย โดยใช้มือสัมผัสหน้าท้องเบา ๆ ขณะนับการเคลื่อนไหว พร้อมกับจับเวลา 1 นาที (60 วินาที)

โรคเด็ก

อาการใดที่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

          - หากพบว่าลูกมีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ หรือมีเสียงดังครืดคราดคล้ายกับคัดจมูก หรือหายใจไม่ออก

          - ลูกมีอัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที

          - ระหว่างลูกหายใจเข้า ช่วงกล้ามเนื้อหน้าอกมีการหดตัวลึกกว่าปกติ มีลักษณะชายโครงบุ๋มเข้า

          - มือ ปาก และหน้า มีความซีด คล้ำ บ่งบอกว่าออกซิเจนในเลือดต่ำ

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วว่าสาเหตุที่ลูกแรกเกิดหายใจแรงเกิดจากอะไร ก็คงจะช่วยคลายความสงสัยได้บ้างนะคะ ทั้งนี้ ควรสังเกตการหายใจของลูกน้อยอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติตามที่กล่าวมา ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com, babygaga.com, th.wikipedia.org, เฟซบุ๊ก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกแรกเกิดหายใจแรง เกิดจากอะไร และมีวิธีสังเกตทารกหายใจแรงอย่างไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:45:16 247,855 อ่าน
TOP
x close