สธ. ลั่น 8 ก.ย. บังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณานมผงเด็ก ฝ่าฝืนปรับ 3 แสน



นมผงเด็ก

         สธ. ลั่น 8 กันยายน 2560 บังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณานมผงเด็ก ฝ่าฝืนปรับ 3 แสน ชี้โฆษณาได้แต่ห้ามเชื่อมโยงให้เข้าใจว่าเป็นอาหารทารก เพื่อให้เด็กกินนมแม่ได้เต็มที่

          วันที่ 1 กันยายน 2560 มีรายงานว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.นมผง จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารก-เด็กเล็ก ซึ่งจะควบคุมการส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อโฆษณา และวิธีลดแลกแจกแถม ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้กินนมแม่อย่างเต็มที
          โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีสารอาหารที่มีคุณค่ามากกว่า 200 ชนิด ช่วยการเจริญเติบโต มีภูมิคุ้มกันโรค และการโอบกอดขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และการสร้างสายใยผูกพันระหว่างแม่ลูก

          ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าว อ้างอิงจากหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือ โค้ดนม ซึ่งเป็นข้อแนะนำสากลที่มีการตกลงกันระหว่างนานาประเทศ ในเวทีสมัชชาอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2524 ที่ผ่านมา ไทยได้นำโค้ดนมมาใช้ โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจแบบสมัครใจ เพื่อควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และปรับปรุงเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขใน พ.ศ. 2551 แต่ยังพบการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสมอยู่ จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ.นมผง ฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดระบบและมอบหมายบุคลากรให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมาย และสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจในปี 2558 พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 เดือนร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีเพียงร้อยละ 16

          สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม มีมาตรการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

          1. มาตรการส่งเสริม กระตุ้นช่วยเหลือให้แม่มีความพร้อมและตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

          2. การสนับสนุน โดยจัดบริการคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาล การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน
 
          3. การปกป้อง โดยคุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทนในช่วงที่ยังควรได้รับนมแม่


          ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า หากแม่ได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้อง จะมีโอกาสให้นมแม่สำเร็จได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

          ทั้งนี้ ในวันที่ 18 กันยายน 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาการสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) เพื่อวางหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนพิจารณาให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการออกประกาศหรือกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีอีกกว่า 10 ฉบับ ภายใน 180 วัน
          ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารสำหรับเด็กเล็กยังสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามเชื่อมโยงมาทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารก โดยแยกฉลากให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และให้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1 ปี หลังจากนั้นถ้ายังไม่เปลี่ยนจะมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท และคณะกรรมการฯ ก็อาจพิจารณาออกประกาศควบคุมในภายหลังได้
 
          ขณะที่ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการโฆษณาสารอาหารต่าง ๆ ในนมผงที่ว่าทำให้เด็กฉลาดต่าง ๆ นั้นถือเป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะปัจจัยที่ทำให้เด็กฉลาด พัฒนาการสมวัยมีหลายอย่างทั้งเรื่องอาหารการกิน การเลี้ยงดูของครอบครัวร่วมด้วย ไม่ใช่ว่ากินนมชนิดนั้น ๆ อย่างเดียวแล้วจะฉลาด

          ด้าน นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสซ์ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเด็กไทย ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมกับอีก 135 ประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายในการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ลั่น 8 ก.ย. บังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณานมผงเด็ก ฝ่าฝืนปรับ 3 แสน อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2560 เวลา 19:53:27 10,196 อ่าน
TOP
x close