การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์

          การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย แล้วจะใช้ยาอะไรได้บ้างที่ไม่เสี่ยงอันตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร รักลูก กับกลุ่มยา 5 ชนิดที่คุณแม่สามารถกินได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ มาฝากกันค่ะ ส่วนจะมียาชนิดใดบ้างนั้นเราไปดูกันเลยค่ะ

          การใช้ยาของแม่ส่งผลต่อลูกในท้อง เพราะลูกรับสารอาหารต่าง ๆ ผ่านรกและสายสะดือของแม่โดยตรง ดังนั้นถ้าแม่ใช้ยารักษาไม่ถูกต้องอาจเสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้

5 กลุ่มยาของแม่และลูกในท้อง

          องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งกลุ่มยาตามระดับความปลอดภัยต่อแม่และลูกในท้องเป็น 5 ประเภทเรียกว่า Pregnancy Category A B C D และ X

         - Pregnancy Category A
เช่น วิตามินโฟเลต เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงท้อง 3 เดือนแรก

         - Pregnancy Category B เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin, Cephalosporin, Azithromycin ใช้รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ, ยาลดน้ำมูก CPM, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน Dramamine, Onsia เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัย เพราะผลการศึกษาในสัตว์พบว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์

         - Pregnancy Category C เช่น ยาแก้ปวด Tramadol ยาแก้ไอ Dextromethorphan, ยาฆ่าเชื้อรา มีการศึกษาในสัตว์ว่ายากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ว่าส่งผลดังกล่าว

          หากใช้ยาในกลุ่มนี้ แพทย์ต้องอนุญาตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อการรักษา ว่าจำเป็นมากกว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์

         - Pregnancy Category D เช่น ยาคลายกังวล, ยานอนหลับ Dormicum เป็นต้น ปัจจุบันห้ามจำหน่าย นอกจากแพทย์สั่งเท่านั้น โดยไม่ควรใช้ระยะยาว เพราะอาจมีภาวะพึ่งยาทั้งด้านร่างกายและจิตใจเมื่อไม่ได้รับยาหลังจากกินมาเป็นเวลานาน และขึ้นอยู่กับการตอบสนองยาของแต่ละคนด้วย เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ แพทย์จึงสั่งให้คุณแม่ทานยาเมื่อจำเป็นจริง ๆ เพื่อควบคุมโรค โดยได้คิดแล้วว่าประโยชน์จากการรักษาโรคที่ร้ายแรงนี้ความสำคัญจริง ๆ ที่จะยอมรับโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อลูกในครรภ์

         - Pregnancy Category X เป็นกลุ่มยาที่แม่ท้องห้ามกินโดยเด็ดขาด เพราะมีอันตรายต่อลูกในท้องมากกว่ายากลุ่มอื่น ๆ เมื่อสมองติดยา แม่ท้องเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม ทารกในครรภ์เสี่ยงพิการและเสียชีวิต

หากใช้ผิด...อันตราย

          แม้จะเป็นกลุ่มยา Pregnancy Category C และ D ซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งก็ตาม และมักให้ขนาดต่ำสุดแต่มีประสิทธิภาพรักษาโรคของแม่ท้องได้ ทั้งใช้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น แต่ถ้าแม่ท้องใช้ยาจนเสพติดขึ้นมา จะส่งผลร้ายแรงได้ อาทิ

+ ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง : ทรามาดอล (Tramadol)

          ถ้าใช้ปริมาณมาก จะทำให้การเต้นของหัวใจและการหายใจของแม่ช้าลง ง่วงนอนมาก ตัวเย็น จนเป็นลมได้ ลูกเสี่ยงเสียชีวิตในท้อง

          ทั้งหลังคลอดหากกินมากติดต่อกัน 3 วัน จะทำให้ในน้ำนมมีความเข้มข้นของยาถึง 1.8 มิลลิกรัม/ลิตร ดังนั้นเมื่อลูกกินนมแม่ก็จะหายใจช้าลง และการเต้นของหัวใจลูกน้อยแรกเกิดช้ากว่าปกติ

+ ยาแก้ไอ : เด็กซ์โตรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)

          หากแม่ท้องกินมากกว่า 360 มิลลิกรัม จะเกิดคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ง่วงมาก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะไม่ออก มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก เซลล์สมองถูกทำลายถาวร หมดสติ อาจเสียชีวิตได้

+ ยาแก้แพ้ : โปรโคดิล (Procody)

          ถ้ากินมาก ทำให้เกิดประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ไม่กระตือรือร้น รูม่านตาหด ไข้สูง ภาวะเม็ดเลือดขาวลดลง และไปกดการหายใจของแม่และลูกในท้อง ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว อาจชักและเสียชีวิตได้

+ ยานอนหลับ ยาคลายกังวล : โดมิคุม (Dormicum)

          หากร่างกายได้รับยาเกินขนาด จะทำให้ซึมอย่างหนัก หลับนานผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน การตอบสนองลดลง สับสน และไม่รู้สึกตัว

          เมื่อยาปนในนมแม่ จะทำให้ลูกน้ำหนักลด ไม่อยากอาหาร ไตวาย กล้ามเนื้ออ่อนแอ หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย นอนหลับแบบไม่ยอมตื่น หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ หัวใจเต้นไม่ปกติ และชักได้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 396 มกราคม 2559


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2559 เวลา 12:09:46 22,980 อ่าน
TOP
x close