อยากรู้ไหม...ลูกทำอะไรอยู่ในครรภ์อันอบอุ่น



           เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่มือใหม่ทุกคนก็คงอยากจะรู้พัฒนาการของลูกในท้องว่าเติบโต แข็งแรงแค่ไหนใช่ไหมละคะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเรื่องราวและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ตั้งแต่ 7-15 สัปดาห์ จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาฝากกคุณแม่กันด้วยค่ะ ก่อนลูกน้อยจะออกมาพบโลกใบใหม่เรามาดูกันค่ะว่าแต่ละสัปดาห์ลูกจะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ^^

           ครั้งแรกที่คุณรู้สึกถึงการเตะของเจ้าตัวตัวน้อย ความรู้สึกนั้นคงยากที่จะอธิบายใช่ไหมคะ ยิ่งหากคิดไปว่ามีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ดิ้นดุ๊กดิ๊ก และค่อย ๆ เติบโตอยู่ในในครรภ์ของคุณ มันคงเป็นสิ่งที่ยากจะบรรยายตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ดูเหมือนยาวนาน เคยสงสัยไหมคะ ว่าเจ้าตัวน้อยทำอะไรอยู่ในครรภ์ของคุณบ้าง บันทึกคุณแม่ฉบับนี้จะพาคุณแม่เดินทางเข้าไปในครรภ์อันอบอุ่น ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกของลูกน้อย แล้วแอบสำรวจพฤติกรรมเจ้าตัวเล็กดูสิว่า ก่อนจะออกมาดูโลกนั้นชีวิตประจำวันของลูกเป็นอย่างไรบ้าง

ในแต่ละวัน กับอายุครรภ์ของลูก

           การเคลื่อนไหวของลูกนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าที่คุณจะรู้สึกได้เสียอีกค่ะ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างการอัลตร้าซาวด์ก็ทำให้เราได้รู้ว่า ในแต่ละอายุครรภ์เคลื่อนไหวของหนูน้อยมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง

         อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ ลูกน้อยเริ่มหมุนตัวไปมา เช่น หดตัวไปด้านข้างและมีอาการผวา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเพราะลูกน้อยหวาดกลัว หรือตกใจแต่อย่างใด

         อายุครรภ์ประมาณ 9 สัปดาห์ เจ้าตัวน้อยจะเริ่มสะอึก และเริ่มขยับแขนขาน้อย ๆ รวมทั้งยังเริ่มที่จะดูดนิ้ว และฝึกหัดการกลืนอีกด้วย

         อายุครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ ลูกน้อยสามารถขยับศีรษะ ยกมือขึ้นมาสัมผัสใบหน้าตนเอง อ้าขากรรไกร รวมทั้งยังยืดเหยียดลำตัวได้ด้วย

          อายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ ในช่วงนี้หนูน้อยไม่เพียงยืดเหยียดลำตัวบิดขี้เกียจ แต่ยังสามารถหาวไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย

          อายุครรภ์ประมาณ 14 สัปดาห์ ลูกน้อยสามารถขยับลูกนัยต์ตาได้แล้ว

          อายุครรภ์ประมาณ 15 สัปดาห์ เจ้าตัวน้อยสามารถเลือกดูดนิ้วมือข้างที่เขาพอใจได้ และหากคุณพ่อคุณแม่บังเอิญเห็นหนูน้อยกำลังดูดนิ้วมือขณะอัลตร้าซาวด์พอดี คุณก็อาจพอจะเดาได้ว่าลูกรักจะเติบโตไปเป็นเด็กถนัดซ้าย หรือถนัดขวา

           หลังจาก 15 สัปดาห์เป็นต้นไป การเคลื่อนไหวของเจ้าตัวน้อยแรงขึ้นจนคุณแม่สัมผัสได้ ในช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกเหมือนมีปลาตัวน้อยตอดอยู่ในท้อง พอเข้าสู่ช่วงท้ายของไตรมาสที่สอง คุณจะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวร่างกายของลูก เตะ ต่อย พลิกตัว หรือกระทั่งสะอึก และยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าไร เจ้าตัวน้อยก็จะใช้เวลาไปกับการนอนหลับพักผ่อนมากขึ้น ประมาณครั้งละ 20 นาที หรือหนูน้อยบางรายอาจนอนหลับนานถึงครั้งละ 50-75 นาที เลยทีเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 269 ธันวาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อยากรู้ไหม...ลูกทำอะไรอยู่ในครรภ์อันอบอุ่น อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 14:50:08 14,194 อ่าน
TOP
x close