ไวรัส RSV คืออะไร พร้อมวิธีสังเกตอาการ และป้องกันลูกน้อยจากไวรัส RSV

          ไวรัส RSV เชื้อไวรัสที่มักมาในช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลให้ลูกน้อยเกิดอาการป่วย เป็นไข้ บางรายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ไวรัส RSV คืออะไร และคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีสังเกตอาการลูกน้อย มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีความรู้ดี ๆ มาแนะนำกันแล้วค่ะ

ไวรัส RSV

          ช่วงนี้ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) กำลังระบาดอีกครั้ง ทั้งยังเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก ๆ เป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงฤดูฝน ช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือระหว่างเดือนสิงหาคมหรือตุลาคม เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เด็ก ๆ จึงเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปได้ง่าย ซึ่งลักษณะอาการจะคล้ายกับไข้หวัด แต่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ โดยมากมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ โดยเด็ก ๆ จะติดเชื้อ RSV จากการรับเชื้อทางเดินหายใจเหมือนโรคหวัดทั่วไป เช่น การไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การสัมผัสน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน

ไวรัสร้ายทำลายระบบทางเดินหายใจ

          การติดเชื้อไวรัส RSV เกิดได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจจากส่วนบนถึงส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยง่าย และอาจมีเสียงหายใจดัง "วี้ด" บางรายอาจรุนแรงมากถึงขั้นระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการรุนแรงคือ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะระบบทางเดินหายใจส่วนบนตั้งแต่ช่วงจมูกถึงปอดจะมีช่วงสั้นมาก จึงทำให้เชื้อไวรัสเดินทางได้เร็วมากนั่นเองค่ะ

วิธีสังเกตไข้หวัดธรรมดา & ไวรัส RSV

          เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกอาจจะติดเชื้อ RSV ได้แก่อาการต่อไปนี้

          - มีไข้สูง

          - ไอมาก เสมหะเยอะและเหนียวข้น

          - หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋ม

          - อาจมีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ

          - ไม่กินอาหารและน้ำ

          - มักจะซึม หรือหงุดหงิด กระสับกระส่าย

          หากลูกมีอาการเหล่านี้ในช่วงที่ไวรัส RSV กำลังระบาด ควรพาไปให้คุณหมอเช็กอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอด ถ้ามีเสียงวี้ด คุณหมอจะพ่นยาขยายหลอดลม การเคาะปอด รวมถึงการเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยว่าปอดอักเสบ การตรวจหาเชื้อนี้ทำได้ไม่ยาก โดยหมอจะนำเชื้อจากจมูกหรือคอ ไปส่งตรวจหาไวรัส RSV คล้ายกับที่ทำในไข้หวัดใหญ่

ไวรัส RSV

การรักษา RSV

          ปัจจุบันยังไม่มียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษา RSV โดยเฉพาะ การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV จึงต้องรักษาไปตามอาการที่ป่วย คือ ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ให้ยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอาการหนักอาจต้องนอนโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด และอาจจะต้องช่วยดูดเสมหะ หรือถ้ามีอาการรุนแรงมากก็จะต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หากเด็กมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ด้วยการกินยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอค่ะ และในที่สุดเชื้อนี้ร่างกายก็จะสามารถกำจัดไปได้เอง ทั้งนี้ เด็กที่เคยติดเชื้อ RSV แล้วสามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้ง แต่อาการจะน้อยลงกว่าครั้งแรก

ทำอย่างไรให้ห่างไกล RSV


          เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสในช่วงที่แพร่ระบาดได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรี ดังนั้น สิ่งสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ RSV คือ การรักษาความสะอาด ฝึกให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนรับประทานอาหาร เพราะการล้างมือสามารถช่วยลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงค่ะ

          แม้ว่าในช่วงนี้ไวรัส RSV จะกลับมาระบาดอีกครั้ง ทั้งยังมีลักษณะอาการที่รุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตอาการของเจ้าตัวน้อย และช่วยกันดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรงแล้ว ก็จะปลอดภัยจากเจ้าไวรัสร้ายนี้ไปได้แน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัส RSV คืออะไร พร้อมวิธีสังเกตอาการ และป้องกันลูกน้อยจากไวรัส RSV อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2563 เวลา 17:30:02 76,583 อ่าน
TOP
x close