x close

ความเชื่อมั่นและนับถือตนเอง เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูก

วิธีเลี้ยงลูก

          วิธีเลี้ยงลูกให้มีความเชื่อมมั่นและพัฒนาตนเองได้อย่างสมบูรณ์และเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน อาจจะดูเหนื่อยและต้องใช้ความอดทน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะพบกับความสุขเมื่อลูกเติบโตค่ะ แล้วจะเลี้ยงอย่างไรให้ลูกรู้จักคุณค่าของตนเอง วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ดี ๆ จากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากกันค่ะ

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวดารา นักร้อง นักแสดง ทั้งวงการบันเทิงไทยและฮอลลีวูด ประสบปัญหาด้านจิตใจกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภาวะซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่นั้นดูช่างมีชีวิตที่สดใส สมบูรณ์สวยงามเวลาปรากฏตัวบนเวทีหรือบนพรมแดงต่อหน้าประชาชนมากมาย เขาช่างดูมีความมั่นใจซะเหลือเกิน

 Self-esteem vs Self-confidence

          คำถามก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่พยายามฝึกฝนให้ลูกเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองนั้น จะช่วยให้ลูกมีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่ ถ้าหากอธิบายกันตามหลักจิตวิทยาแล้วเราคงตอบว่า คนที่ประสบปัญหาเช่นนั้นเพราะถึงแม้พวกเขาจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงแต่มีความรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ ทำให้มีภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคงและไม่สามารถรับมือกับเรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้อย่างสมเหตุสมผลนั่นเอง

          การรู้คุณค่าในตัวเองกับความมั่นใจในตัวเอง ไม่เหมือนกันนะคะ การรู้คุณค่าในตัวเอง คือ เรามองเห็นตัวเองแล้วรู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะบุคคลหนึ่งแค่ไหน รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น มีความสุขกับสิ่งที่ตนเป็น ซึ่งจะพัฒนามาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

          ความมั่นใจในตนเอง คือ ความรู้สึกมั่นใจในความสามารถหรือทักษะด้านต่าง ๆ ที่ตนทำได้ เช่น บางคนอาจมีความมั่นใจในการร้องเพลง กล้า แสดงออก ชอบการแสดง ก็จะมั่นใจที่จะแสดงเรื่องนั้น ๆ ออกมา

 Low vs High Self-esteem

          มีลักษณะทั่ว ๆ ไปที่คุณพ่อคุณแม่พอจะสังเกตได้ว่า ลูกเรามีการรู้คุณค่าในตัวเองสูงหรือต่ำมาฝาก จะได้ไหวตัวทันและรับมือวางแผนเสริมสร้างการรู้คุณค่าในตัวเองให้ลูกซะก่อนจะสายเกินไป การรู้คุณค่าในตัวเองไม่ได้มีมาแต่เกิด แต่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดไปจนโต ลูกจะมองว่าตนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เป็นทารก เพราะเมื่อคนเราก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว การจะเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ที่มองเห็นตัวเองมาแต่เด็กนั้น คงเป็นเรื่องยากเสียแล้ว

Low Self-esteem ลักษณะเด็กที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ

          เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือมีไม่มากพอ มักจะพูดถึงตัวเองในทางลบ เช่น "หนูไม่เก่ง" "หนูไม่ฉลาดพอ" "หนูไม่มีทางทำอันนี้ได้" หรือแสดงทัศนคติว่าไม่แคร์ ไม่สนใจ ไม่อยากทำ รอให้คนอื่นเข้ามาช่วยจะทำให้ท้อถอยง่าย ไม่อดทนทำงาน หรือทำกิจกรรมที่อาจยากขึ้นมาหน่อยยังไม่ทันเสร็จก็ล้มเลิก ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งก็จะส่งปัญหากับการเรียนโดยเฉพาะในวัยอนุบาลเนื่องจากต้องเริ่มเรียนอะไรใหม่ ๆ พอดี

High Self-esteem ลักษณะเด็กที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองสูง

          เด็กที่รู้จักคุณค่าของตน มีความสุขกับสิ่งที่ตนเป็นจะมองโลกในแง่ดีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถเล่นหรือทำงานเป็นกลุ่มได้ดี หรือด้วยตนเองก็ดีไม่แพ้กัน เมื่อเจองานใหม่ ๆ ถ้าทำไม่ได้จะรู้จักถามหาความช่วยเหลืออย่างไม่ขัดเขิน เช่น "หนูไม่เข้าใจ" "หนูทำตรงนี้ไม่ได้" และพยายามทำให้ได้ นั่นหมายถึง หนูน้อยรู้จุดแข็งและจุดด้อยของตัวเอง ยอมรับมัน และหาทางออกให้กับตัวเองได้ดี

 เลี้ยงอย่างไรให้ลูกรู้จักคุณค่าของตนเอง

          พ่อแม่ คือกุญแจสำคัญ การรู้จักคุณค่าของตนเอง เกิดขึ้นจากสมดุลที่ดีของการรู้ว่าตนเป็นที่รักของพ่อแม่ ควบคู่ไปกับการรับรู้ว่าตนทำได้ หรือมีความมั่นใจในตัวเองนั่นเอง เด็กที่มั่นใจในความสามารถของตนเอง รู้ว่าตนเก่ง และสามารถทำสิ่งที่ถนัดได้ดีถึงดีเยี่ยม แต่ไม่รู้สึกว่าตนเป็นที่รัก รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักตน หรือทำอะไรพ่อแม่ก็ไม่ภูมิใจซะที จะโตมาเป็นบุคคลที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem)

          ในขณะเดียวกัน เด็กที่รู้ว่าตนเป็นที่รักของพ่อแม่ แต่ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ก็จะมี Self-esteem ต่ำเช่นกัน ดังนั้น การรู้คุณค่าในตัวเองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พ่อแม่สามารถถ่วงสมดุลของทั้งสองอย่างนี้ให้กับลูกในวัยเด็กได้เป็นอย่างดีค่ะ

          ฟังดูยากใช่ไหมคะ แต่ไม่ต้องเครียดหรอก ถึงจะเป็นหน้าที่ที่หนักหน่วงของพ่อแม่ แต่ถ้าเราเข้าใจวิธีการก็จะไม่ยากแถมสนุกไปกับการเลี้ยงลูก ที่สำคัญเป็นการเพิ่มพลัง Self-esteem ให้กับคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะเราจะเลี้ยงลูกที่มี Self-esteem ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ยอมรับข้อเด่น ข้อด้อยของตน จะได้รู้ว่าอะไรเราทำได้ อะไรต้องหาตัวช่วยเสริม เพื่อการวางชีวิตที่มีความสุขให้กับลูกของเราค่ะ ที่สำคัญจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย

 หนูน้อย 0-2 ปี

          การรู้คุณค่าในตัวเองไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ได้มาระหว่างการเจริญเติบโต ความรักความผูกพันจากแม่และพ่อคือปัจจัยหลัก ไม่ต้องกลัวลูกติดแม่มากเกินไป ไม่ต้องกลัวเด็กติดมือ ไม่ต้องกลัวโอ๋ลูกมากเกินไป โดยเฉพาะในวัยแบเบาะ การโอ๋ไม่ใช่การตามใจไปเสียทุกอย่าง แต่คือการประคับประคองอารมณ์ลูก และทำให้ลูกรับรู้ว่าความรู้สึกของเขาสำคัญกับเรา และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นของการรู้คุณค่าในตัวเอง

          ทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับ 2 ขวบปีแรกนี้ เพราะช่วงนี้สมองของลูกน้อยเติบโตเร็วมาก และเป็นช่วงที่หนูน้อยกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ และเก็บข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่สมองกลายเป็นความจำแบบฝังชิปนั่นเอง สมองของเด็กเก็บข้อมูลจากสิ่งที่เขาได้รับบ่อย ๆ เวลาหนูน้อยส่งสัญญาณบางอย่างออกมาเขาคาดหวังว่าจะได้รับการตอบสนองที่อยากได้ เช่น หนูน้อยยกมือขึ้นเพื่อให้พ่อแม่อุ้ม แล้วพ่อแม่ก็อุ้ม หนูน้อยรู้สึกมีความสุข เมื่อเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ก็กลายเป็นแบบแผนในสมอง

          หนูน้อยเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะได้รับความสุข หรือได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เมื่อสมองเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขบนแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง หนูน้อยเรียนรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ โดยเก็บกักความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองไว้อย่างเต็มเปี่ยม

          หนูน้อยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข รู้สึกพึงพอใจในตนเอง และรู้แนวทางปฏิบัติอันถูกต้องที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้สึกนั้น จะฝึกฝนตนเองให้ทำสิ่งที่ดีเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีอุปสรรคหรือเรื่องร้าย ๆ ให้รู้สึกเศร้าเสียใจจะสามารถพาตนเองออกจากความเศร้า และกลับสู่ความสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง เพราะรู้ว่าการรู้สึกดีมันเป็นอย่างไร แต่หนูน้อยที่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ไปจะไม่รู้ว่าความสุขจริง ๆ เป็นเช่นไรและโหยหาอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่ได้ดังใจ หรือเจอเรื่องร้าย ๆ ในชีวิตก็หาทางที่จะกลับสู่ความสุขไม่เจอหรือไม่ถูกต้อง เช่น พึ่งยาเสพติด คิดฆ่าตัวตาย เพราะไม่เคยฝึกฝน และหาไม่เจอด้วยซ้ำว่าความสุขคืออะไร

          ฟังแล้วไม่ต้องตกใจนะคะ บางวันบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่สะดุดพลาดพลั้ง ไม่ยั้งอารมณ์ใส่ลูกไปบ้าง ลูกน้อยมีความเก่งอย่างที่คุณคาดไม่ถึง แบบแผนที่ทำประจำคือสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่ลูกน้อยเลือกจำสาระสำคัญที่ต้องให้ลูกรู้คือ "แม่อยู่ตรงนี้เสมอเพื่อลูก" ค่ะ

Advice

          สำหรับวัยที่ยังเล็กนี้ เรื่องสำคัญก็คือการดูแลและการตอบสนองสิ่งที่ลูกน้อยต้องการอย่างทันท่วงทีและสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ

          ตอบสนองทันท่วงที : การตอบสนองความต้องการของหนูน้อยวัยเบบี้อย่างทันทีคือหัวใจสำคัญ ลองนึกแบบนี้ค่ะ ในช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้หรือยังได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การร้องไห้คือการสื่อสารเดียวของลูก เมื่อความต้องการของลูกได้รับการตอบสนองทันที ลูกน้อยแฮปปี้ และมันเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกลายเป็นแบบแผนในหัวลูก หนูน้อยเรียนรู้ว่า มีคนฟังหนู เข้าใจหนู เย่ ! หนูเป็นคนสำคัญนะ

          ในทางกลับกันหากหนูน้อยร้องไปก็ไม่ได้ผล หนูน้อยเรียนรู้ว่าสัญญาณที่หนูส่งไปไม่มีใครรับรู้ หรือได้ยิน ดังนั้น "หนูไม่มีค่าพอให้ใครใส่ใจ" และ "มันไม่มีประโยชน์ที่จะพยายาม เพราะยังไงก็ไม่มีใครแคร์หนูอยู่ดี"

 หนูน้อย 2-6 ปี

          อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งหนักใจนะคะ หากที่ผ่าน ๆ มาไม่แน่ใจว่าตอบสนองความต้องการองลูกและเลี้ยงดูอารมณ์ลูกกันดีแล้วหรือไม่ ยังไม่สายเกินไปค่ะที่จะสร้างการรู้คุณค่าในตนเองให้กับลูกน้อย ที่สำคัญให้เวลาลูกมาก ๆ อยู่กับลูกจริง ๆ ไม่ใช่ตัวอยู่แต่มืออ่านโทรศัพท์ พิมพ์ไลน์ เป็นต้น

          เด็กวัยนี้เป็นวัยกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่พัฒนาขึ้นมาก สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้คล่องแคล่ว พัฒนาการด้านภาษาก้าวหน้า เข้าใจคำศัพท์ต่าง ๆ ที่มีคนพูดด้วย และสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน เรียกว่าเป็นวัยที่เริ่มมีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อพร้อมก้าวสู่โลกนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งต่าง ๆ เอง แม้ว่าจะยังมีข้อผิดพลาดบ้าง ก็อย่าเพิ่งรีบตำหนิ ดุว่า หรือเห็นเป็นเรื่องขำขัน และที่สำคัญควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือก ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงชมเชยและเป็นกำลังใจเมื่อทำสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้คุณค่าในตัวเองของลูกวัยซนนี้

Advice

          ลูกน้อยวัยนี้ยังต้องการการเสริมสร้างการรู้คุณค่าในตัวเองไม่แพ้กัน แถมบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจปูทางมาอย่างดี แต่ก็เริ่มมีปัจจัยภายนอกต่าง ๆ มากระทบกระเทือนให้การรู้คุณค่าในตนเองของลูกน้อยสั่นคลอนได้ มีข้อแนะนำมาฝากกันค่ะ

         ความรัก : ความรักคือพลังขับเคลื่อน Self-esteem ค่ะ พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่คุณทำให้ลูกรู้หรือยังว่าคุณรักเขา มอบสัมผัสรักให้เขาเยอะ ๆ การอุ้มลูก กอด หอม โอบไหล่ ตบไหล่ เดินจูงมือกัน นั่งทำกิจกรรมใกล้กัน ส่งผ่านความรักจากคุณพ่อคุณแม่สู่ลูกได้ทั้งนั้นค่ะ

         ชมให้บ่อยและถูกต้อง :
คงต้องขอย้อนกลับไปเรื่องที่เคยเขียนไว้ คือชมอย่างไรให้ได้ดี เด็ก ๆ ทุกคนต้องการคำชมเพื่อกระตุ้นคุณค่า ชมบ่อยแต่อย่าพร่ำเพรื่อ จริงใจอย่าเสแสร้ง ชมให้เจาะจง อย่าชมลอย ๆ เช่น แทนที่จะชมว่า "เก่งมากค่ะลูก" ให้ชมว่า "ลูกเก่งมากที่กินข้าวเองหมดจานเลย" และใช้ประโยคง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนนะคะ

         ครอบครัวที่อบอุ่น : เด็ก ๆ ที่โตมาท่ามกลางการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่ หรือมีการใช้คำพูดที่รุนแรงใส่กัน จะมี Self-esteem ต่ำ

         เล่นกับลูก : การเล่นกับลูกเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุดในการเสริมสร้าง Self-esteem โดยให้ลูกได้เป็นฝ่ายเลือกเกมหรือตั้งกฎกติกาบ้าง สนุกไปด้วยกัน แม้ลูกจะชอบเล่นซ้ำ ๆ ก็ตาม ที่สำคัญ การเล่นนี่ล่ะค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สังเกตลูกว่า ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาและควบคุมอารมณ์ของตนเองดีแค่ไหน และจะได้เข้าแทรกแซงแก้ไขได้ทันค่ะ

         มอบหมายงานบ้าน : ตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป หนูน้อยสามารถร่วมมีส่วนรับผิดชอบในงานบ้านได้แล้ว เช่น เก็บของเล่นเข้ากล่องให้เรียบร้อย พอสัก 3 ขวบก็อาจให้ช่วยขัดห้องน้ำ โดยมีแปรงหรือฟองน้ำเล็ก ๆ ให้ได้ทำพอสนุก ตอนน้องแองจี้ยังไม่ 3 ขวบดี แอนนี่หาชุดไม้กวาดกับที่โกยผงเล็ก ๆ ไว้ให้ช่วยทำความสะอาดบ้าน ซึ่งลูกชอบมาก รู้สึกว่าตัวเองพิเศษที่ได้ทำและมีของมีหน้าที่ตนเอง ค่อย ๆ ขยับขึ้นตามอายุค่ะ ล้างจานบ้าง ช่วยจัดโต๊ะอาหารบ้าง เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในครอบครัว

         การโกรธหน้าโมโหเป็นเรื่องธรรมดา : อย่าดุว่าลูกแรง ๆ เวลาลูกโมโห กรีดร้องแสดงความไม่ได้ดังใจ แต่ช่วยลูกให้ได้รู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา พ่อแม่เองก็มีวันที่หงุดหงิด เสียใจ แต่เราต้องรู้จักการแสดงออกที่เหมาะสม และรู้จักรับมือกับมันได้ตามกาลเทศะ อย่าบอกให้ลูกเก็บกดความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ไว้ หรือถ้าลูกแสดงความไม่พอใจเป็นสิ่งผิด เขาจะเก็บกดสะสมความรู้สึกเดือดดาลไว้ และไม่รู้จะทำให้มันหายไปอย่างไร และคิดว่าความรู้สึกของตนไม่มีค่าพอ

         ทุกคำพูด ทุกสัมผัส ทุกปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่ลูก คือหนทางแห่งการสร้างการรู้คุณค่าในตนเองของลูกทั้งสิ้น หากเริ่มไม่แน่ใจหรือกลัวลูกรู้สึกด้อยค่า และคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ยังไม่จำเป็นต้องพาลูกไป แค่คุณพ่อคุณแม่ไปคุยและขอคำแนะนำมาปฏิบัติใช้ก็ได้ค่ะ

          อาจดูเป็นงานหนัก แต่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำภารกิจที่สำคัญที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่เลี้ยงเด็กคนหนึ่ง แต่คุณพ่อคุณแม่กำลังสร้างคนค่ะ เหนื่อยหน่อยตอนนี้แล้วสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่จะได้นั่งเอนหลัง อมยิ้มอย่างมีความสุข เมื่อเห็นลูกโตขึ้นอย่างเต็มคุณค่าค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.20 No.240 ตุลาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความเชื่อมั่นและนับถือตนเอง เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูก อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2559 เวลา 17:11:08 4,521 อ่าน
TOP