โค้งสุดท้ายของแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวังอะไรบ้าง

ปัญหาคนตั้งครรภ์

          ช่วงใกล้คลอดคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังอะไรบ้างนะ...วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาแนะนำในการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังอาการก่อนคลอดในช่วงไตรมาสสุดท้ายมาฝากคุณแม่กันค่ะ ^^

          ยินดีด้วยค่ะในที่สุด...คุณแม่ก็มาถึง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องที่ต้องเผชิญในไตรมาสแรกก็ผ่านพ้นมาได้ ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเพราะฮอร์โมนในช่วงไตรมาสที่ 2 ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด และแน่นอนว่าในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ก่อนจะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยให้ชื่นใจนั้น ก็ยังมีอีกหลายสิ่งให้ว่าที่คุณแม่ต้องเผชิญ และเฝ้าระวัง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่น่ากังวลเลยสักนิด หากคุณแม่รู้ว่าต้องรับมืออย่างไร

อาการปวดหลัง มาแน่ ๆ !!!

          ในช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวน้อยในครรภ์จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และนั่นหมายความว่า น้ำหนักของคุณแม่ก็จะพุ่งพรวดขึ้นอย่างน่าตกใจด้วย ซึ่งน้ำหนักตัวและขนาดท้องที่เพิ่มขึ้นนี่เอง จึงเป็นสาเหตุให้ว่าที่คุณแม่อาจมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นได้ วิธีการป้องกันระดับหนึ่งก็คือ การระมัดระวังท่าทางการนั่งและนอน โดยว่าที่คุณแม่ควรนั่งหลังตรงบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง สำหรับการนอนควรนอนตะแคงข้าง โดยมีหมอนวางคั่นระหว่างขาของคุณแม่ หากมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นแล้ว อาจใช้การประคบร้อน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาแก้ปวดใด ๆ ก็ตาม

ตกขาวหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด

          เมื่อใกล้ถึงกำหนคลอดคุณแม่อาจพบว่ามีเมือกสีขาว ที่เรียกว่า Mucus Plug ออกมาจากช่องคลอดนี่เป็นสัญญาณเตือนว่าปากมดลูกเริ่มเปิด และบางลงในบางครั้ง เมือกนี้อาจเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ก็ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนคลอดเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ แต่หากคุณแม่มีของเหลวไหลออกมาเหมือนปัสสาวะ แต่ไม่สามารถกลั้นได้ นั่นอาจแปลว่าถุงน้ำคร่ำอาจแตก หรือที่ภาษาทั่วไปเรียกว่าน้ำเดิน ซึ่งคุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที กรณีที่มีเลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น รกเกาะต่ำ หรือคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

กรดไหลย้อน

          ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงใกล้คลอด จะทำหน้าที่ให้กล้ามเนื้อในร่างกายผ่อนคลาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหลอดอาหาร ซึ่งมีหูรูดในการปิดกั้นไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว ว่าที่คุณแม่ควรกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณไม่มากนัก แต่กินให้บ่อยขึ้น โดยอาจแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 6 มื้อ แทนการกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน และผลไม้ที่เป็นกรด สำหรับอาการท้องผูก

ท้องผูกและริดสีดวง

          เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ความเสี่ยงของว่าที่คุณแม่ในการเผชิญอาการท้องผูกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ ทั้งนี้เป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำในปริมาณมากเกินไป รวมถึงมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นไปกดทับลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระจับตัวเป็นก้อนแข็งจนเกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งเมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าที่คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยการเลือกอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย รวมทั้งดื่มน้ำให้มาก ๆ พยายามอย่าแบ่งถ่าย เพราะอาจนำไปสู่อาการริดสีดวงทวารหนักที่มักเกิดได้ง่ายในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากปริมาณเลือดที่ไหลเวียนมากขึ้น ผนวกกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีแรงกดทับมากขึ้น ถึงแม้อาการริดสีดวงทวารหนักจะไม่มีอันตราย แต่หากเป็นแล้วก็เจ็บปวดทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังคลอด ดังนั้น พยายามป้องกันด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำมาก ๆ จะดีที่สุดค่ะ

เฝ้าระวังอาการต่อไปนี้

         รู้สึก เวียนศีรษะอย่างมากผิดปกติ


         ปวดท้อง อย่างหนัก หรือปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน


         มีน้ำใส ๆ ออกจากช่องคลอดเหมือนปัสสาวะ

ระวัง...สัญญาณอันตราย !!!

          หากมีสัญญาณต่อไปนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที อาการเหล่านี้ ได้แก่

         คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง


         น้ำหนักเพิ่ม อย่างรวดเร็ว (ประมาณเดือนละ 2.9 กก.)


         มีอาการ ปวดแสบขณะปัสสาวะ


         มีเลือด ออกจากช่องคลอด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 268 พฤศจิกายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โค้งสุดท้ายของแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวังอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2558 เวลา 10:32:47 6,116 อ่าน
TOP
x close