
วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กรักการอ่าน ทำได้ไม่ยากค่ะ แต่ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับที่ช่วยฝึกสมองลูกน้อยให้แจ่มใสและรักการอ่านจากนิตยสาร Mother & Care มาแนะนำกัน รับรองว่าทำได้ไม่ยากเลยค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูเคล็ดลับดี ๆ กันเลยค่ะ
หลายท่านยอมรับว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ แต่เราคงได้ยินได้ฟังมาแล้วว่าเด็กไทยอ่านได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่สนใจหนังสือ ทำให้หนังสือกำลังกลายเป็นสิ่งล้าสมัยสำหรับเด็กที่เกิดมาในยุคโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้เด็กมีขีดความอดทนต่ำลง สมาธิสั้นลง เชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่คงไม่อยากให้ลูกสมาธิสั้น อ่านน้อย เรียนรู้ได้น้อย และสมองไม่พัฒนาอยู่แบบนี้ใช่ไหมคะ

ยุคนี้คงมีคำถามเกิดขึ้นว่าหนังสือหมดความจำเป็นหรือไม่ หลายคนให้ข้อคิดเห็น เช่น หนังสือเสิร์ชหาข้อมูลได้ไม่เร็วเท่าอินเทอร์เน็ต เปลืองเนื้อที่จัดเก็บ แถมยังเก่าขาดได้อีก ยิ่งก๊อบปี้ คัดลอกมาทำรายงาน ยิ่งเป็นไปไม่ได้ แล้วข้อมูลยังช้าไม่ฉับไว หรืออื่น ๆ ส่วนคนรักการอ่านก็บอกว่าหนังสือสืบค้นได้ เวลาสืบค้นก็ต้องใช้สมองนึกคิดมากกว่า แถมยังได้อรรถรสของการแสวงหามากกว่า โดยเฉพาะการดั้นด้นไปค้นหาที่ห้องสมุด ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศที่ดีกว่า แล้วการอ่านผ่านหนังสือยังได้หยิบได้จับได้กลิ่นกระดาษ ที่สำคัญอ่านได้นานมากกว่าอ่านผ่านหน้าจอด้วยค่ะ

ณ เวลานี้ คุณแม่รู้ดีว่าปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตลูกมากที่สุด คือ โลกออนไลน์ ผ่านมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกแทบขาดใจถ้าไม่ได้ออนไลน์แชทกับเพื่อน เล่นเกมหรือเปิดไปดูสิ่งเร้าใจสารพัด คุณแม่จึงต้องดึงลูกให้หลุดจากโลกออนไลน์ กลับมาสู่โลกการอ่าน พร้อมกับทำให้ลูกเห็นว่าเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ที่ได้ผลของสมอง คือ หนังสือ

ถึงแม้จะมี E-books หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดอ่านได้ แต่เชื่อไหมว่าไม่ได้ผลสำหรับเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ เพราะในโลกออนไลน์มีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการอ่าน E-books ได้เสมอ เช่น การเล่น Line แชทกัน การเล่น Facebook, การเล่น Instagram หรืออื่น ๆ ทำให้ไม่มีสมาธิในการอ่านได้อย่างแท้จริง เราลองมาดูเหตุผล 8 ข้อสิว่าทำไมอินเทอร์เน็ตถึงเข้ามาแทนที่หนังสือและห้องสมุดไม่ได้








How to…ทำอย่างไรให้ลูกออฟไลน์หันกลับมาสนใจหนังสือ

ก่อนอื่นหาทางดึงลูกออกจากโลกอินเทอร์เน็ตให้ได้ก่อน โดยชวนลูกทำกิจกรรมสนุก ๆ เช่น ไปเที่ยว ไปสวนสนุก เล่นเครื่องเล่นสารพัด ไปดูสิงสาราสัตว์น่ารักที่สวนสัตว์ ดูแมลงหลากชนิดที่พิพิธภัณฑ์ ดูนก พาลูกไปท่องธรรมชาติ เที่ยวทะเล ปีนเขา ปั่นจักรยาน ล่องแก่ง หรือทำกิจกรรมที่ไม่เป็นอันตราย แล้วอย่าลืมหยิบหนังสือติดมือไปด้วยค่ะ

หาเวลาเหมาะ ๆ หลังทำกิจกรรมเสร็จ ชวนลูกพักผ่อนสบาย ๆ กับการนอนหนุนตักแม่ แล้วหยิบหนังสือนิทานที่เตรียมมาอ่านให้ลูกฟัง เลือกหนังสือที่มีภาพประกอบสวย ๆ มีเนื้อหาน้อย ๆ สั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ใช้ภาษาที่ง่าย ๆ ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ มีข้อคิดเตือนใจที่น่าคิดน่าติดตาม และเป็นนิทานที่ช่วยกระตุ้นความคิดและพัฒนาสมองลูก

ทุกครั้งที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ควรกะระยะเวลาที่พอดี อย่าให้นานมากเกินไปจนลูกรู้สึกเบื่อ หรือสั้นเกินไปจนทำให้ลูกรู้สึกไม่เพียงพอ ขณะอ่านก็ให้สังเกตท่าทีของลูกด้วยว่าลูกยังต้องการฟังอยู่หรือไม่ ถ้าลูกยังทำตาแป๋วตั้งอกตั้งใจฟังก็ควรอ่านไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าลูกเริ่มสนใจสิ่งอื่น ยุกยิก มองโน่นมองนี่ก็อย่าฝืนใจลูก ควรหยุดอ่านไปก่อน

หลังอ่านหรือแม้ขณะที่กำลังอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หาจังหวะตั้งคำถามกระตุ้นให้ลูกคิดหาคำตอบและเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิด เช่น "ไหนดูนิ้วมือของเจ้าหมีน้อยสิจ๊ะ มันมีกี่นิ้วจ๊ะ เท่าของลูกไหมเอ่ย" หรืออื่น ๆ แล้วแต่คุณแม่จะคิดตั้งคำถาม เพื่อต่อยอดทางความคิดให้ลูกไปด้วย แต่ก็ไม่ควรถามมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกเบื่อได้

ก่อนอ่าน ระหว่างอ่าน หรือหลังอ่าน ถ้ามีการเล่นกับลูกด้วยก็จะช่วยให้ลูกรักสนใจอยากอ่าน และกลายเป็นนักอ่านได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากิจกรรมสนุก ๆ เช่น ทายปัญหาอะไรเอ่ย หรือหาตุ๊กตาของเล่น หรือเกมต่าง ๆ มาอ่านไปเล่นไป อ่านไปร้องไป หรืออ่านไปเต้นไป ซึ่งจะช่วยแก้เบื่อ และสนุกกับการอ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่

ลองใช้ไอเดียเก๋ ๆ นำหนังสือที่เหมาะกับวัยลูกมาจัดวางไว้เป็นที่เป็นทางให้ดูน่าสนใจ เช่น หาตู้หนังสือเล็ก ๆ น่ารัก ๆ หรือชั้นหนังสือสีสันสดใส มีลายการ์ตูนตัวโปรดของลูกตกแต่งตามชั้นหนังสือ เพื่อดึงดูดใจให้ลูกรู้สึกสะดุดตา แล้วเดินเข้ามาหยิบจับหนังสือขึ้นมาเปิดดู ควรจัดเป็นมุมสบาย ๆ สงบ ๆ ไม่มีโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรืออื่น ๆ ที่ดึงสมาธิลูกไปด้วยนะคะ ลูกจะได้รู้ว่าถ้าลูกอยากจะอ่าน ลูกจะต้องมาที่มุมนี้

ต้องอ่านหนังสือให้ได้ทุกวัน แล้วต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วย แล้วก็ต้องทำให้ลูกรับรู้ว่าช่วงการอ่านเป็นช่วงแห่งความสุข ด้วยการแสดงท่าทีว่าพ่อแม่เป็นสุขทุกครั้งที่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ลองเลือกช่วงเวลาหลังมื้ออาหาร หรือก่อนเข้านอนทุกวัน ปิดสื่อสารพัดที่เร้าใจลูก แล้วอ่านหนังสือร่วมกัน ถ้าลูกยังอ่านไม่ได้ก็อ่านให้ลูกฟังทุกวัน

อยากให้ลูกรักการอ่าน พ่อแม่ต้องเห็นความสำคัญของการอ่าน และเป็นตัวอย่างของการอ่านให้ได้จริง ๆ วิธีง่าย ๆ คือ ไปไหนให้พกหนังสือ หรือว่างเมื่อไรต้องอ่านเมื่อนั้น แล้วเชิญชวนให้ลูกอ่านด้วยกัน ชี้ชวนให้ดูภาพพูดคุยด้วยกัน หรือไม่ก็ลองอ่านออกเสียงดัง ๆ เรียกความสนใจลูก แล้วถ้าเห็นลูกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเอง ต้องชมลูกอย่างจริงใจลูกจะได้ภูมิใจ มีกำลังใจที่จะอ่านเพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้จะช่วยให้ลูกติดเป็นนิสัยรักการอ่านอย่างได้ผลค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.130 ตุลาคม 2558