x close

เฝ้าระวัง...โรคเลือดจาง เมื่อตั้งครรภ์

ธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์

           ภาวะเลือดจางในแม่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะหากเป็นมากก็จะอันตรายต่อแม่และลูกในท้อง วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้และวิธีสังเกตอาการของเลือดจางในแม่ตั้งครรภ์ มาแนะนำ แล้วจะป้องกันโรคเลือดจางได้อย่างไร ? เรามีคำตอบจากนิตยสาร Mother & Care มาบอกกันค่ะ

          
โรคเลือดจางหรือธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรม หรือยีนในส่วนของการสร้างเม็ดเลือด เกิดได้ทั้งชายและหญิง สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นภาวะที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์เรื่องสุขภาพของแม่และลูกน้อยได้ มีความสำคัญและต้องระวังอย่างไร ติดตามข้อมูลกันค่ะ

สาเหตุเลือดจาง

           ภาวะเลือดจางเกิดจากฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติหรือมีเม็ดเลือดแดงปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี ซึ่งในช่วงตั้งครรภ์จะมีเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าในภาวะปกติ ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง โดยระดับของฮีโมโกลบินในช่วงตั้งครรภ์จะค่อย ๆ ลดลง และจะกลับสู่ปกติหลังคลอดลูกแล้วประมาณ 6 สัปดาห์

           ดังนั้นคุณแม่จึงต้องระวังไม่ให้ระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดจาง และหากเป็นมากก็จะอันตรายต่อแม่และลูกในท้อง มาดูสาเหตุเจ้าปัญหากันค่ะ

           ขาดธาตุเหล็ก พบบ่อยที่สุด เนื่องจากร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ ต้องการธาตุเหล็กที่เพิ่มขึ้น (เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและการเจริญเติบโตของทารก) คือเฉลี่ยวันละ 6-7 มิลลิกรัม ทั้งนี้ปริมาณธาตุเหล็กที่ได้จากอาหารมีเพียง 1-2  มิลลิกรัมต่อวันซึ่งไม่พอเพียง ดังนั้นต้องให้ธาตุเหล็กเสริมกับแม่ตั้งครรภ์

           ขาดโฟเลต เกิดจากการกินอาหารที่มีโฟเลตไม่เพียงพอ หรือตั้งครรภ์แฝด การกินยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการดูดซึมโฟเลต เช่น ยากันชัก การขาดโฟเลตสัมพันธ์กับความพิการแต่กำเนิดของทารก โดยเฉพาะโรคระบบประสาทสมองและไขสันหลัง (NTD : neural tube detects)

           ขาดวิตามินบี 12 พบในกลุ่มคุณแม่ที่กินอาหารมังสวิรัติ (แบบเคร่งครัด) คือไม่กินแม้กระทั่งนมหรือไข่ และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 คือ ตับ ไข่ ชีส ปลา และเนื้อสัตว์

           การเสียเลือด มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะเลือดจางได้แบบเฉียบพลัน เช่น ตกเลือด ริดสีดวงทวาร เกิดอุบัติเหตุ ประจำเดือนที่มากผิดปกติ หรือเสียเลือดในปริมาณน้อยเป็นเวลานาน เช่น โรคพยาธิ แผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร การถูกทำลายของเม็ดเลือดแดง เช่น โรคจีซิกพีดี (G6PD deficiency), โรคธาลัสซีเมีย โรคที่เกี่ยวกับความผิปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE เป็นต้น

เลือดจาง ไม่ดี...

           ภาวะเลือดจางที่ไม่รุนแรงมาก ก็จะไม่ส่งผลกับคุณแม่หรือทารกเท่าไรนัก หากเป็นมากก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ทำให้แม่เหนื่อยง่าย เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ง่าย หากเป็นมากอาจมีอาการทางสายตามองภาพไม่ชัดเจน (จากการที่เส้นประสาทตาบวม) คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงของภาวะเลือดจางที่เกิดขึ้นและสาเหตุของโรค

           ในรายที่เป็นมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ การแท้งบุตร หรือส่งผลกับทารก เช่น น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย เรื่องการเจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์ รวมถึงพัฒนาการและระดับสติปัญญาของเด็กในช่วงเข้าวัยเรียน และอาจทำให้เสียชีวิตขณะคลอดได้ เป็นต้น ดังนั้นการปรึกษาขอคำแนะนำและไปตามนัดหมายการตรวจครรภ์ของคุณหมอ จึงมีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ

แม่ตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร

           โรคเลือดจางพบได้บ่อยในประเทศไทย เนื่องจากคนไทยเป็นโรคและเป็นพาหะคือ มียีนผิดปกติแฝงในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ หากพ่อและแม่มียีนผิดปกติอยู่ในร่างกาย ก็สามารถถ่ายทอดความผิดปกติสู่รุ่นลูกได้ ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็กร่างกายก่อนว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ ถ้าเป็นเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กก็ควรกินอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ควรรีบฝากครรภ์เพื่อให้คุณหมอตรวจว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ แม่ตั้งครรภ์ที่เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ มักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก คุณหมอจะให้ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กและวิตามินเสริมให้กินตลอดระยะการตั้งครรภ์และ 6 สัปดาห์หลังคลอด การดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอและปรึกษาคุณหมอในการดูแลตัวเองได้ถูกวิธีเพื่อลดการเสียเลือด นอกจากนี้ การกินอาหารก็ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดจางได้ กินเพื่อเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายนั้นทำได้ค่ะ

         กินอาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น ตับ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วแห้ง ผักเขียวเข้ม เมล็ดธัญพืช ต่าง ๆ เพราะการขาดโฟเลตอาจทำให้เกิดโลหิตจาง

         กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
เช่น ตับ ผักสีเขียวเข้ม ถั่วแห้ง เครื่องใน ผลไม้แห้ง สัตว์น้ำเปลือกจำพวก กุ้ง ปู หอย

         นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ลดการออกแรง การให้ออกซิเจน รวมถึงการให้เลือดทดแทน คุณแม่ที่มีปัญหาหลอดเลือด ผู้ป่วยอายุมากหรือเสียเลือดมากเฉียบพลัน

         การดูแลตามสาเหตุ
เช่น โลหิตจางเพราะพยาธิปากขอ คุณหมอก็จะให้ยากำจัดพยาธิและให้กินธาตุเหล็กควบคู่กันไป

          ส่วนคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ควรได้รับธาตุเหล็กเช่นกัน ควรได้รับจนถึง 6 เดือนหลังคลอด เพื่อไม่ให้ร่างกายของคุณแม่ขาดธาตุเหล็กและเกิดภาวะเลือดจาง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.129 กันยายน 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฝ้าระวัง...โรคเลือดจาง เมื่อตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2558 เวลา 16:33:39 6,234 อ่าน
TOP