น้ำเป็นของคู่กันสำหรับเด็ก ๆ อยู่แล้วค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับในการอาบน้ำเด็กและการเล่นน้ำของลูกน้อยที่ช่วยพัฒนาสมองและได้ประโยชน์ต่อลูกน้อยมาแนะนำคุณพ่อคุณแม่กับกิจกรรมความสนุกระหว่างการเล่นน้ำของลูกน้อย แต่ความปลอดภัยก็ต้องมาเป็นอันดับแรกค่ะ พร้อมแล้วเราไปดู 5 วิธีเล่นน้ำอย่างสร้างสรรค์กับนิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ
เด็ก ๆ แทบทุกคนรักการเล่นน้ำ ไม่ว่าจะแค่เอามือไปรองน้ำที่กำลังไหลลงมาจากก๊อก หรือนั่งเล่นในอ่างใบจิ๋ว ตลกขบขันกับน้ำที่พุ่งออกมาจากฝักบัว เอามือจุ่มในอ่างเลี้ยงปลา ไปจนถึงการแหวกว่ายในสระว่ายน้ำ ทั้งหมดนี้คือความสนุกสนาน ตื่นเต้น เพลิดเพลินตามแบบฉบับของเด็ก ๆ การเล่นน้ำที่ถูกต้องมีเทคนิคการเล่นและข้อควรระวังเกี่ยวกับการเล่นน้ำก็จะกลายเป็นอีกกิจกรรมโปรดที่ไม่มีใครอยากปฏิเสธ ที่สำคัญนอกจากสนุกแล้วยังได้ประโยชน์กับการพัฒนาสมองอีกด้วย
สิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รักการเล่นกับน้ำโดยเฉพาะเด็กแรกเกิด - 3 เดือน ก็เพราะพวกเขามีความคุ้นเคยจากการอาศัยอยู่กับน้ำคร่ำในครรภ์ถึง 9 เดือน ความรู้สึกอบอุ่น สบาย สดชื่นที่ได้อยู่กับน้ำ รวมทั้งตื่นเต้นกับคุณสมบัติเฉพาะของน้ำที่เขายังไม่เข้าใจดีนักว่า ทำไมน้ำถึงไหลไปมาได้ ทำไมถึงมีความลื่นและเย็น ทำไมสามารถตกลงบนพื้นเป็นเส้น ๆ ได้ นอกเหนือจากความตื่นเต้นใคร่รู้แล้ว เด็ก ๆ ยังค้นพบวิธีการเล่นของอุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกับน้ำได้หลากหลายอย่างไม่รู้จบ นี่คือเหตุผลที่พวกเขาจึงไม่เบื่อการเล่นน้ำง่าย ๆ
อย่างไรก็ตามการเล่นกับน้ำนั้นมีหลากหลายวิธี โดยให้ความสนุกแตกต่างกันออกไป ลองมาดูวิธีเล่นกับน้ำอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่าค่ะ
5 วิธีเล่นกับน้ำอย่างสร้างสรรค์
1. แม่น้ำจำลองเพื่อการเรียนรู้
อุปกรณ์ : อ่างน้ำพลาสติกทรงกลมหรือเหลี่ยมขนาดกลาง 1 ใบ / ตุ๊กตาสัตว์น้ำจำลอง เช่น ปลา ม้าน้ำ ปู เต่า, ต้นไม้จำลอง, น้ำพุจำลอง, ตุ๊กตารูปนกหรือสัตว์อื่น ๆ
วิธีเล่น :
1. จัดวางอ่างน้ำในระดับสูงประมาณลำตัวเด็ก เพื่อให้สะดวกในการเล่นและบังคับระดับสายตาในการสำรวจ
2. เทน้ำใส่อ่างในระดับพอประมาณ จากนั้นปล่อยตุ๊กตาสัตว์น้ำลงไปวางในตำแหน่งห่างกัน
3. อธิบายลูก ๆ ว่านี่คือแม่น้ำจำลอง มีระบบนิเวศซึ่งจะประกอบด้วยน้ำ สัตว์น้ำต่าง ๆ
4. ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการจุ่ม วักน้ำ เคลื่อนย้ายตุ๊กตาสัตว์ ได้ตามใจชอบ
2. โยกย้ายสายน้ำ
อุปกรณ์ : อ่างน้ำพลาสติกขนาดเล็ก 1 ใบ / แก้วน้ำพลาสติกมีสีสัน 3-4 ใบ
วิธีเล่น :
1. อธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้รู้ว่า น้ำมีน้ำหนัก ตกลงบนพื้นได้ สามารถไหล และอยู่ในภาชนะต่าง ๆ ได้
2. ตักน้ำในอ่างด้วยแก้วพลาสติก แล้วเทกลับไปให้รวมกับของเดิม หรือตักจากแก้วใบที่ 1 เทใส่แก้วใบที่ 2
3. ตักน้ำในอ่างด้วยแก้วพลาสติก แต่เทออกไปนอกอ่าง ให้เห็นว่าปริมาณน้ำจะลดลงไปเมื่อตักออก
4. ชักชวนเด็กให้เล่นตาม ฝึกตักน้ำด้วยตัวเอง บางครั้งอาจราดโดนตัวเองหรือตักรดคนอื่น จึงควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่ง สบาย แห้งง่าย
3. เล่นง่าย ๆ กับสายยาง
อุปกรณ์ : สายยางขนาดพอดีมือ ไม่ยาวและหนักจนเกินไป ต่อเข้าไว้กับก๊อกน้ำให้เรียบร้อย ทางที่ดีควรเลือกชนิดปรับความดันในการฉีดน้ำได้
วิธีเล่น :
1. สำหรับเด็กเล็กไม่ถึง 1 ขวบ วิธีการเล่นคือให้เด็กนั่งอยู่ในที่ปลอดภัย จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากสายยาง เพื่อให้เห็นลักษณะการพุ่งของน้ำเป็นฝอย ๆ ฉีดเข้ามาใกล้ ๆ ลูก ซึ่งอาจพยายามใช้มือวัก หรือตื่นเต้นไปกับละอองน้ำที่กระจายไปรอบ ๆ
2. สำหรับเด็กวัย 1 - 2 ขวบที่เริ่มเดินได้แล้ว ให้ฝึกจับสายยางเองพวกเขาจะสนุกกับการฉีดน้ำไปมา ยิ่งถ้าโดนตัวเองก็ยิ่งสนุก
3. คอยช่วงเหลือ หยิบจับสายยาง ตำแหน่งจับของเด็ก ความแรงของน้ำอยู่เสมอ
4. อ่างน้ำสุดหรรษา
อุปกรณ์ : อ่างน้ำขนาดบรรจุเด็กน้อยได้พอดีตัว / ของเล่นพลาสติกมีสีสันลอยน้ำได้ / อุปกรณ์อาบน้ำเด็ก
วิธีเล่น :
1. ใส่น้ำลงไปในอ่างประมาณ 30% ของอ่าง
2. นำของเล่นที่ดึงดูดความสนใจเด็กลงไปลอยเล่นในอ่างด้วย
3. ชักชวนเด็กลงไปนั่งเล่น จากนั้นกระตุ้นด้วยการใช้มือตีน้ำให้เป็นคลื่น ผลักของเล่นให้เคลื่อนที่ไปมา
4. หยอกล้อและเป็นเพื่อนเล่นเด็กให้สนุกกับการเล่นกับน้ำ อย่าปล่อยเด็กไว้ลำพังในอ่างโดยเด็ดขาด หรือหากเป็นอ่างที่ใหญ่พอให้คุณพ่อคุณแม่ลงไปเล่นด้วยก็ยิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น
5. หลังเล่นน้ำ อาบน้ำ สระผมเด็กในอ่างให้เรียบร้อย
5. หนูน้อยเจ้าสระ
อุปกรณ์ : ชุดว่ายน้ำสำหรับเด็กขนาดพอดีตัว ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป อุปกรณ์ชูชีพ เช่น ห่วงยาง, ของเล่นลอยน้ำ / ผู้ดูแลหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการว่ายน้ำ
วิธีเล่น :
1. สวมชุดที่เหมาะสมกับการว่ายน้ำ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันภัยครบถ้วน โดยเฉพาะห่วงยางหรือชูชีพ เพื่อป้องกันเด็กน้อยหลุดมือและจมน้ำโดยเฉพาะทารก
2. สร้างบรรยากาศในการว่ายน้ำ สำหรับเด็กกลัวน้ำอาจอบอุ่นใจที่เห็นผู้ปกครองเล่นด้วย
3. ให้ความเชื่อมั่นแก่เด็กเสมอ ด้วยการประคองเด็กในวงแขนไม่ให้ห่าง ขณะที่ลูกลอยขึ้นเหนือน้ำ และจำกัดเวลาการว่ายที่เหมาะสม
4. หากลูกมีอาการสำลักน้ำควรช่วยเหลือทันที
หมายเหตุ : คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ถึงสภาพร่างกายและความพร้อมของเด็กในการลงเล่นน้ำในสระครั้งแรก และหากเป็นไปได้ควรฝึกว่ายน้ำกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่หากผู้ปกครองว่ายน้ำเป็นและสามารถสอนลูกได้เอง ก็ให้แน่ใจว่าอยู่ในการดูแลที่พร้อมที่สุด
เล่นกับน้ำ ประโยชน์มหาศาล
เพราะเด็กทุกคนชอบเล่นน้ำ เมื่อไรที่เนื้อตัวเปียกความรู้สึกผ่อนคลายจะค่อย ๆ เกิดขึ้น การเล่นกับน้ำคือกิจกรรมที่จะได้รับความรู้สึกดี สดชื่น สบายและตื่นเต้น ไม่ว่ากับเด็กในเพศและวัยใดก็ตามมีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและการทำงานของสมอง ดังต่อไปนี้
1. การเล่นกับน้ำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งดีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ปลูกฝังความรักในการอยู่กลางแจ้งและไม่กลัวน้ำ
2. ส่วนใหญ่เด็กที่ชอบเล่นน้ำพบว่ามีสุขภาพที่แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กที่ชอบว่ายน้ำจะได้รับการออกกำลังกายทุกส่วน มีปอดที่แข็งแรง และช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางน้ำ
3. เด็กมีอารมณ์ดีจากการเล่นน้ำ ส่งผลให้สมองหลั่งสารเอ็นโดฟินที่มีทั้งความสุขและความตื่นตัว
4. เด็กได้เข้าใจในเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของน้ำ แรงโน้มถ่วงของโลก และระบบนิเวศวิทยา ทำให้เป็นเด็กที่มีเหตุผล ฉลาดเฉียว มีความรู้รอบตัว
5. เด็กได้ใช้จินตนาการในการเล่นกับน้ำ เด็ก ๆ ได้ความคิดและจินตนาการพลิกแพลงวิธีการเล่นด้วยตัวเองในการใช้น้ำ
6. การเล่นน้ำกลางแจ้งในเวลาที่เหมาะสม เช่น เช้าและเย็น ทำให้เด็กได้รับวิตามินดีจากธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์และมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น
7. การเล่นน้ำช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมไปในตัว เมื่อต้องเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ หรือใช้สระว่ายน้ำร่วมกับคนอื่น ได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์ในที่สาธารณะได้ดี
8. กิจกรรมการเล่นน้ำซึ่งส่วนใหญ่มีผู้ปกครองไปด้วย ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีกิจกรรมร่วมกัน
ใกล้น้ำอย่างไรให้ปลอดภัย
แม้น้ำจะมีประโยชน์และสร้างความสุขแก่เด็กได้มากแค่ไหนก็ตาม แต่ความเสี่ยงของปัญหาและอันตรายก็มีไม่น้อยทีเดียว การเล่นน้ำจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ซึ่งได้แก่
1. ตรวจสอบคุณภาพน้ำ : ให้แน่ใจเสมอว่าน้ำที่กำลังจะให้เด็กเล่นเป็นน้ำสะอาด ไม่ใช่น้ำเน่าเสีย ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน เพราะพวกเขาต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง และอาจหลุดเข้าไปในปากและจมูกได้ด้วย
2. อย่าทิ้งลูกลำพัง : ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เพราะน้ำเพียงเล็กน้อยหากสำลักก็ทำลายระบบหายใจเสียหายได้ เด็กสามารถลื่นล้มแม้ในอ่างเล็ก ๆ และจมน้ำตายได้ในไม่กี่วินาที
3. ทำสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย : ไม่ว่าจะเป็นสนามหญ้าหน้าบ้าน ในห้องน้ำ หรือที่กลางแจ้ง ให้แน่ใจว่ารอบ ๆ ไม่มีสัตว์เลี้ยงที่จะกระโจนเข้ามาทำร้ายขณะเด็กเล่นอยู่
4. เช็กความเรียบร้อยของอุปกรณ์ชูชีพ : ตรวจสอบทุกครั้งก่อนใช้งานเสมอว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ขาดลุ่ยหรือมีรูรั่ว
5. ป้องกันอันตรายจากแสงแดด : ไม่พาเด็กเล่นน้ำในเวลาร้อนจัด หากพาลูกเล่นน้ำในตอนสายหรือบ่ายอาจใช้ครีมกันแดดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต เพราะผิวของเด็กนั้นไวต่อแสงแดดมาก
การเล่นกับน้ำ มีวิธีการที่หลากหลายที่สร้างสรรค์ ให้ประโยชน์มหาศาลทั้งร่างกายและสมอง แต่อย่าลืมรักษาความปลอดภัยให้กับลูกน้อย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นกับน้ำค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.20 No.237 กรกฎาคม 2558