ช่วงหลังคลอด เชื่อว่าคุณแม่มุ่งความสนใจไปที่เจ้าตัวเล็กก่อนใคร ๆ จนลืมว่าคุณเอง ก็มีเรื่องที่ต้องดูแลใส่ใจเช่นกัน เรื่องอะไรบ้าง และเรื่องไหนที่แม่ ๆ มักกังวลใจ ฉบับนี้ มีข้อมูลทั้งเรื่องสุขภาพและความสวย ความงาม การดูแลตัวเองช่วงหลังคลอดมาบอกค่ะ
1. ตรวจสุขภาพเต้านม
เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจมะเร็งเต้านมหรือก้อนน้ำเหลือง โดยวิธีการคลำที่หน้าอก ซึ่งคุณแม่อาจคลำด้วยตัวเองจากที่บ้านก่อน หากพบก้อนเล็ก ๆ ที่เต้านมมีลักษณะแข็งหรือปวด อาจขอคำแนะนำจากคุณหมอได้
หน้าท้อง
เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งหลังคลอด 1 เดือน คุณสามารถบริหารหน้าท้องเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อหน้าท้องได้ หากไม่ได้ออกกำลังกายหลังคลอดจะทำให้หน้าท้องหย่อนและป่อง ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดก็ต้องตรวจแผลผ่าตัดว่าหายดีหรือยังด้วย
มดลูก
ช่วงตั้งครรภ์มดลูกขยายตัวขึ้นมาก จึงต้องตรวจว่ามดลูกหดตัวแล้วหรือยัง ที่เรียกว่า เข้าอู่นั่นเอง และอยู่ในตำแหน่งเดิมภายในอุ้งเชิงกราน ช่วง 4 - 6 สัปดาห์หลังคลอด (อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ให้ลูกดูดนมแม่ค่ะ)
2. ดูแลแผลคลอด
แผลจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งอาการปวดแผลหลังคลอดจะปวดประมาณ 3 - 4 วัน หรืออย่างมาก 1 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากปวดมากสามารถกินยาแก้ปวดลดอาการได้ หากมีอาการปวดแผลฝีเย็บมาก มีอาการบวมแดง กดแล้วเจ็บอาจเป็นเพราะฝีเย็บอักเสบควรรีบพบคุณหมอทันที ต้องหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ การทำความสะอาดโดยทั่วไปคือ ทำความสะอาดแผลทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ด้วยสบู่หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างอ่อนล้างกับน้ำสะอาด จากด้านหน้าไปด้านหลัง เพราะการล้างจากก้นมาด้านหน้า จะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลและช่องคลอด
แผลผ่าคลอด
ตรวจดูแผลว่ามีการปริแตกไหม ซึ่งคุณหมอจะปิดพลาสเตอร์กันน้ำมาให้ เมื่อครบกำหนดที่คุณหมอนัดก็ควรไปตามนัดเพื่อตรวจแผลว่าเรียบร้อยดีหรือไม่
ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติหรือผ่าคลอดก็ตาม การดูแลแผลหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญ เน้นเรื่องความสะอาด เพราะหากแผลติดเชื้อจากสิ่งสกปรกจะยิ่งทำให้แผลหายช้ามากขึ้น
น้ำคาวปลา
หลังคลอด 3 - 4 วันแรก จะออกมาเป็นเลือดสด หลังจากนี้อีก 10 - 14 วัน เป็นน้ำปนเลือดสีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมด (ภายใน 4 สัปดาห์) ในช่วงที่น้ำคาวปลายังไม่หมดนั้น ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด และหากน้ำคาวปลาออกมาเป็นสีผิดปกติ หรือยังเป็นเลือดอยู่ อาจมาจาก 2 สาเหตุ คือ มีเศษรกค้างอยู่ หรือมีการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูก ควรรีบไปพบคุณหมอ
3. พักผ่อน
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ควรพักผ่อนให้มาก อย่างน้อยควรนอนพักผ่อนช่วงกลางคืนให้ได้ 6 - 8 ชั่วโมง ส่วนหลังอาหารกลางวันอาจหาเวลาพักผ่อนให้ได้ประมาณ 30 นาที และช่วงหลังคลอดก็ไม่ควรหยิบจับหรือยกสิ่งของหนักใด ๆ เพราะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อและมดลูกกลับคืนสู่สภาพปกติ หากคุณแม่พักผ่อนน้อยหรือยกของหนัก อาจกระทบกระเทือนถึงอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานมดลูกได้
4. ออกกำลังกาย
เน้นการออกกำลังกายเบา ๆ ช่วงแรกอาจเป็นการเดินหรือทำงานบ้านเบา ๆ ไปก่อน เพื่อช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของคุณแม่กลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของน้ำหนักตัว รูปร่าง สัดส่วนกระชับได้เป็นอย่างดี ซึ่งปกติแล้วหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ น้ำหนักคุณแม่จะลดลงประมาณ 5 - 10 กิโลกรัม คือมีน้ำหนักมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ 2 - 3 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์) หากน้ำหนักและความดันเลือดยังสูงอยู่ อาจต้องควบคุมอาหารให้เหมาะสมและบริหารร่างกายร่วมด้วย
5. ดูแลรูปร่าง
เป็นประเด็นที่แม่ ๆ กังวล (ตั้งแต่ยังไม่คลอดจนหลังคลอด) อยู่ไม่น้อยกับสรีระที่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็น ที่จริงบทสรุปเรื่องนี้ คุณหมอแนะนำว่า เพียงแค่คุณดูแลตัวเองตั้งแต่ที่ตั้งครรภ์ จนกระทั่งหลังคลอด ทำเป็นปกติทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย แบบถูกต้องเหมาะสม เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ให้กังวล ทว่า ก็เป็นไปได้อีก แม้จะทำตามขั้นตอนตามคำแนะนำแล้ว ส่วนเกินหรือเรื่องไม่พึงประสงค์ก็ยังเกิดขึ้นจะมีวิธี ทาเลือกไหนที่จะแก้ไขบ้างไหม
หัวข้อนี้เราขยายความ ทำความเข้าใจกับข้อกังขาหรือความไม่แน่ใจในการดูแลรูปร่างคุณแม่หลังคลอด เช่น น้ำหนักส่วนเกิน ผิวหนังหน้าท้อง รอยนูน รอยแผล ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำศัลยกรรมค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.127 กรกฎาคม 2558