กฎหมายอุ้มบุญ เริ่มบังคับใช้ 30 ก.ค. นี้ ระบุห้ามปฏิเสธรับเด็กเป็นบุตร ย้ำห้ามทำเชิงพาณิชย์ หากแพทย์-คู่สามีภรรยา-ผู้รับตั้งครรภ์ ฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท
วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ปี 2558 หรือการอุ้มบุญ ว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อช่วยคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายแต่มีบุตรยาก ให้สามารถมีบุตรได้ และยังควบคุมป้องกันไม่ให้นำวิธีอุ้มบุญไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ การค้ามนุษย์ รวมถึงการทอดทิ้งเด็ก
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวยังกำหนดข้อห้ามดังนี้
ห้ามสามีและภรรยาที่ทำอุ้มบุญปฏิเสธรับเด็กเป็นบุตร
ห้ามรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า
ห้ามเป็นนายหน้าจัดการหรือชี้ช่องให้มีการตั้งครรภ์แทน
ห้ามซื้อ เสนอซื้อหรือขาย นำเข้าหรือส่งออกอสุจิ ไข่ ตัวอ่อน
โดยสถานประกอบการ แพทย์ คู่สามีภรรยา และผู้รับตั้งครรภ์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
สำหรับบทลงโทษมีดังนี้
1. กรณีแพทย์ไม่ปฏฺิบัติตามมาตรฐานแพทยสภา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. หากกระทำเชิงการค้ารับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
3. กรณีเป็นนายหน้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
4. กรณีขายอสุจิ หรือไข่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรณีที่มีการดำเนินการอุ้มบุญก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้นั้น สามารถยื่นรับรองบุตรได้ ซึ่งการปฏิบัติการตามกฎหมายจะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ โดยเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 15 คน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก