อยากให้ลูกฉลาด คุณแม่ช่วยได้ตั้งแต่ในครรภ์

การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์

          ความฉลาดของลูกน้อยคุณแม่สร้างได้ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ในการพัฒนาเซลล์สมองของลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์มาแนะนำกันค่ะ เพราะการกินอาหารที่ดีจะช่วยบำรุงสมองของลูกน้อยและกระตุ้นพัฒนาการได้ดีค่ะ ปัจจัยสำคัญคุณแม่ต้องไม่เครียดค่ะ ถ้าอยากให้ลูกเติบโตแบบสมบูรณ์และแข็งแรงเราไปดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร Mother & Care กันเลยค่ะ ...

          คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เคยตั้งคำถามไหมคะ ว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยในครรภ์ เชื่อว่าบางท่านอาจตอบว่า การฟังดนตรีคลาสสิก การกินอาหารมีประโยชน์ การพักผ่อนมาก ๆ Prof.Carla J. Shatz นักประสาทชีววิทยาแห่ง Stanford University ได้ทำการวิจัยแล้วผลออกมาว่า

 4 พฤติกรรมที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกนั่นก็คือ

        น้ำหนัก

        สารอาหาร

        การออกกำลังกาย

        ความเครียด

เพิ่มน้ำหนักแต่พอดี

         จริงอยู่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้มากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าคุณแม่ไม่กินมากเกินไป เท่ากับคุณแม่ได้สร้างเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยแล้ว อธิบายง่าย ๆ อย่างนี้ก็คือ IQ ของลูกนั้นขึ้นอยู่กับปริมาตรของสมอง ดังนั้นขนาดของสมองทำให้เราคาดเดา IQ ของลูกได้ประมาณ 20% (ยิ่งโดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด) นอกจากนั้น น้ำหนักของสมองยังสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกคลอด ซึ่งก็นับได้ว่า เด็กที่เกิดมาน้ำหนักตัวมากจะมีเนื้อสมองมากกว่าเด็กที่เกิดมาน้ำหนักตัวน้อยนั่นเอง

         พลังงานในอาหารที่กินก็จะส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูก ยิ่งโดยเฉพาะเดือนที่ 5 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีความเซนซิทีฟต่อทั้งปริมาณและประเภทอาหารที่คุณแม่กินมากขึ้น งานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ไว้ว่า ทารกในครรภ์ที่ได้รับสารอาหารน้อยจะทำให้มีเซลล์ประสาทของสมองน้อยลงไปด้วย และเมื่อเซลล์ประสาทสมองน้อย การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทก็จะยิ่งน้อยลงไป ซึ่งไม่ได้ส่งผลแต่เพียงระยะสั้น แต่ยังส่งผลไปจนกระทั่งเด็กโตขึ้น เด็กเหล่านี้มักจะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม อาจมีปัญหาเรื่องของการสื่อสารหรือการใช้ภาษา IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น

         คุณแม่อาจถามว่า แล้วควรกินเท่าไรกันแน่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่โดยปกติแล้ว คุณแม่ไม่ควรจะเพิ่มน้ำหนักเกิน 20 กิโลกรัม เพราะจะอยู่ในสภาวะอ้วนจนเกินไป

         สิ่งที่พึงระวังเสมอคือ พลังงานที่ได้รับจากอาหารเป็นเรื่องสำคัญ อาหารที่คุณแม่ชอบกับอาหารที่คุณแม่ควรกินระหว่างตั้งครรภ์อาจไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน คุณแม่ที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง นอกจากจะอ้วนจนลดไม่ได้หลังคลอดแล้ว พึงระวังโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ด้วยค่ะ

กินอาหารอย่างถูกต้อง

         เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คุณแม่คงเคยได้ยินอาหารที่ควรกินในแต่ละไตรมาสมาบ้างใช่ไหมคะ แต่ที่แปลกคือ เมื่อตอนตั้งครรภ์อาหารที่คุณแม่เคยชอบก็อาจจะไม่ชอบ หรือที่ไม่ชอบก็อาจจะอยากขึ้นมาเสียอย่างนั้น เคยมีคนถามว่าอาหารที่คุณแม่อยากกินนี้ เป็นความอยากส่วนตัวของคุณแม่เองหรือคุณลูกกันแน่ นักวิจัยได้คำตอบว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับลูกในครรภ์แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น คุณแม่ที่ชอบกินช็อกโกแลต ก็อาจจะอยากกินช็อกโกแลตมากขึ้นเวลาเมื่อตั้งครรภ์ อาการอยากกินนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์การลิ้มชิมรสในอดีต หาได้เกี่ยวกับชีวสมดุลแต่อย่างใด ไม่นับถึงปัจจุบันงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอยากกินอาหารในแม่ตั้งครรภ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งยังคงมีน้อยมากค่ะ

         แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าร่างกายคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์จะไม่ต้องการอาหารบำรุงแต่อย่างใด เพราะจากงานวิจัยทารกในครรภ์ต้องการสารอาหารอย่างน้อย 45 อย่าง เพื่อการเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง ซึ่งในจำนวนนั้น 38 ประเภท เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของระบบประสาท ดังนั้น โดยสรุปคุณแม่จะต้องการอาหารจำพวกโปรตีน และผักผลไม้เพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรีต่อวัน

         นอกเหนือจากอาหารโดยทั่วไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ขาดไม่ได้และไม่ควรขาดเลย คือ วิตามิน ซึ่งจากงานวิจัยมีวิตามินแค่ 2 ประเภทเท่านั้น ที่เชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตของระบบประสาทของทารกในครรภ์ คือ

         โฟลิค ซึ่งควรกินตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์ที่จำเป็น

         กรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการสร้างเครือข่ายระบบประสาทของสมอง ซึ่งกรดไขมันโอเมก้า-3 นี้ร่างกายจำเป็นต้องได้รับจากการกินเสียเป็นส่วนใหญ่ การขาดกรดไขมันประเภทนี้อาจส่งผลทำให้กลายเป็นเด็กที่มีความสามารถทางการเรียนรู้ต่ำ สมาธิสั้น หรือแม้แต่เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายได้

         งานวิจัยหนึ่งซึ่งทำโดยทีมวิจัยจาก Harvard University ได้เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการทดสอบกระบวนการคิดทั้งทางด้านความจำ ความมีสมาธิ และการจำได้หมายรู้ของเด็กอายุ 6 เดือน ระหว่างเด็กที่คุณแม่รับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปกับคุณแม่ที่ไม่ได้กิน ผลปรากฏว่า เด็กที่คุณแม่กินปลามีคะแนนการทดสอบทักษะกระบวนการคิดที่สูงกว่า ดังนั้นนักวิจัยจึงแนะนำว่า คุณแม่ควรกินปลาอย่างน้อย 12 ออนซ์ต่อสัปดาห์ ส่วนประเภทของปลาที่เรารู้จักกันดีว่ามีกรดไขมันโอเมก้า-3 ก็คือ ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาคอด แทนที่จะเป็นปลาดาบ ปลาแมคเคอเรล และปลาทูน่า

         เหนือสิ่งอื่นใด คุณแม่คงต้องตระหนักว่า ควรจะกินเท่าไรจึงจะพอดี เอาแค่พอดีค่ะ เพราะมากเกินไปก็ไม่ได้พัฒนาเซลล์สมองให้แล่นปรู๊ดปร๊าดมากกว่าแต่อย่างใด

ออกกำลังกายแต่พอดี

         งานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่าคุณแม่ที่ออกกำลังกายบ้างระหว่างตั้งครรภ์จะคลอดลูกที่มีความฉลาดมากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย เหตุผลก็คือ

         1. การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างเครือข่ายของเซลล์สมอง ไม่เฉพาะในคนที่ออกกำลังกายนั่นคือคุณแม่ แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงลูกในครรภ์ด้วย

         2. การออกกำลังกายเป็นการช่วยลดความเครียด งานวิจัยได้สนับสนุนด้วยว่า การออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเต้นแอโรบิกจะช่วยลด glucocorticoids ซึ่งเป็นตัวทำลายสมองได้อย่างชัดเจน

         คุณแม่ควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หรือประมาณ 30 นาทีต่อวันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหักโหมเพราะคิดว่าจะทำให้ลูกฉลาดมากขึ้น เพราะงานวิจัยสรุปไว้ด้วยว่า คุณแม่ที่ออกกำลังกายมากเกินพอดีมีโอกาสจะทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ต้องไม่เครียด

         เรื่องของความเครียดนี้มีการทำวิจัยค่อนข้างมากพอสมควร ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การที่นักวิจัยทำการเก็บข้อมูลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องผิดนัด follow-up กับคุณหมอ อันเนื่องมาจากพายุหิมะถล่มที่ประเทศแคนาดา ในปี 1998 เป็นเวลา 80 ชั่วโมงที่หิมะตกหนัก ถนนถูกตัดขาด เสาไฟฟ้าหักโค่น ทำให้คนเสียชีวิต 30 คนเป็นอย่างน้อย แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณแม่เครียด นักวิจัยตั้งคำถามว่า ลูกจะได้รับความเครียดนั้นหรือไม่ โดยการเก็บข้อมูลคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนั้น ไปจนกระทั่งเด็กอายุครบ 5 ขวบ ผลที่ได้ก็คือ เด็กที่คุณแม่เผชิญกับความเครียดระหว่างเกิดพายุหิมะนั้น กลายเป็นเด็กที่มี IQ ด้านภาษารวมถึงพัฒนาการด้านภาษาต่ำกว่าเด็กโดยทั่วไป

         งานวิจัยนี้นำมาซึ่งคำถามว่า : ความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอะไรบ้าง ?

         ซึ่งจากงานวิจัยระยะหลังที่ทำมาประมาณ 100 กว่าผลงานในทั่วทุกภูมิภาคของโลก แสดงให้เห็นถึงผลร้ายของความเครียดนี้ อย่างน้อยก็คือ

       เด็กขี้โมโหง่าย มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด

       IQ ต่ำลงอย่างน้อย 8 จุด โดยเฉพาะส่วนทักษะกระบวนการคิด ในช่วงอายุขวบปีแรก

       มีปัญหาเรื่องสมาธิอย่างชัดเจนในช่วงอายุ 6 ปี

       มีขนาดของสมองเล็กกว่าเด็กทั่วไป

         นักวิจัยสรุปไว้ด้วยว่า "การที่คุณแม่มีความเครียดสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาระบบประสาทของสมองของทารกในครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องต่อพฤติกรรมของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น" คำถามคือ อย่างไรเรียกว่า เครียดมากเกินไป และอย่างไรเรียกว่าเครียดพอดี ๆ คำตอบคือ เมื่อไหร่ที่คิดว่าเหตุการณ์บางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็น การหย่า การตายของคู่สมรส การถูกไล่ออกจากงาน การตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เป็นต้น แล้วเหตุการณ์นั้น ๆ ก่อให้เกิดความเครียดละก็ นั่นคือความเครียดเกินพอดีนั่นเอง

ประเด็นน่าคิด

         1. ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสแรกถึงกลางไตรมาส 2) เป็นช่วงที่คุณแม่ควรใช้เวลาเงียบ ๆ ไม่ควรให้มีสิ่งเร้าหรือความเครียดมาก

         2. อย่าเสียเงินซื้ออุปกรณ์ที่โฆษณาว่าช่วยพัฒนาเซลล์สมองหรือทักษะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เพราะยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่าได้ผล

         3. ในช่วงไตรมาส 2 ประสาทสัมผัสของทารกในครรภ์จะทำงานได้ดีขึ้น แม้แต่กลิ่นน้ำหอมของคุณแม่ ลูกก็รับรู้ได้

         4. อยากพัฒนาสมองของลูกเพียงแค่เพิ่มน้ำหนักตัวให้พอดี กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และลดละความเครียด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.126 มิถุนายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อยากให้ลูกฉลาด คุณแม่ช่วยได้ตั้งแต่ในครรภ์ อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2558 เวลา 10:15:44 7,907 อ่าน
TOP
x close