สุขภาพช่องปากของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อยให้มีลมหายใจที่สดชื่นและไม่มีกลิ่นปาก วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับในการช่วยลดกลิ่นปาก มาแนะนำกันค่ะ ส่วนสาเหตุและวิธีป้องกันลูกมีกลิ่นปากต้องทำอย่างไรไปดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร Mother & Care กันเลยค่ะ ><
การละเลยสุขภาพช่องปากและฟัน จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในช่องปาก และอาจเป็นสาเหตุที่ทำลายความสุขของคุณและคนใกล้ชิดได้เหมือนกัน เพื่อลดปัญหาเรื่องนี้ เรามีกลเม็ดง่าย ๆ สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากให้ปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์มาฝากค่ะ
กลิ่นปากมีสาเหตุ
มาจากทั้งภายในและภายนอกช่องปาก สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 90% มาจากภายในช่องปาก เพราะกลิ่นปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปากไปทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดกลิ่นขึ้น สาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยที่สุดคือ การมีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะที่โคนลิ้นด้านใน สามารถทดสอบกลิ่นได้โดยใช้ช้อนขูดที่บริเวณนี้ ปล่อยทิ้งไว้สักครู่แล้วดม กลิ่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่า หากฝ้าหนามาก ๆ จะมีกลิ่นเหมือนอุจจาระเลยทีเดียว สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ในช่องปากยังมีอีกมากมาย เช่น ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึกยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน
โรคเหงือกอักเสบ ที่เกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด จะทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบจะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปากคือ ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อมีน้ำลายน้อยเชื้อโรคต่าง ๆ จะตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลิ่นมากขึ้น ในบางขณะจะมีการหลั่งของน้ำลายลดลงตามธรรมชาติ ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหารหรือหิว ตลอดจนภาวะเครียด และอาชีพที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ครู ทนายความ จะมีผลให้น้ำลายลดลง ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน ดังนั้น น้ำจึงเป็นยาที่ดีที่สุด
การลดกลิ่นปาก
ส่วนสาเหตุจากภายนอกช่องปาก มักมาจากระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูกและการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล และระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาหารบางชนิด เมื่อกินแล้วจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลาย ๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
กลิ่นปากในเด็ก
ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุภายในช่องปาก และระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยได้แก่ การมีสุขอนามัยในช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุ เศษอาหารตกค้างตามซอกฟัน เหงือกบวมเป็นหนอง หรือไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ และการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ตลอดจนโรคภูมิแพ้ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ การดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้ดีตั้งแต่เด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เลือกแปรงที่มีขนาดเหมาะสมและมีขนอ่อนนุ่ม
สรุปว่า กลิ่นปากเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ การรักษาคือการแก้ไขสาเหตุเหล่านั้นประกอบกับการปรับพฤติกรรมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในช่องปาก ที่สำคัญที่สุดคือ
อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะเมื่อปากแห้ง แบคทีเรียในปากจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
การดื่มน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรียและช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่องปาก ช่วยขจัดคราบบนลิ้นและเสมหะในลำคอ ตลอดจนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามร่องทอนซิลและทำให้มีน้ำลายเพิ่มขึ้น
ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร
ควรแปรงด้านบนของลิ้นด้วย เพราะเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในช่องปากให้เหมาะสม ไม่ทำให้ปากแห้ง
ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้กินผลไม้รสเปรี้ยวหลังอาหารก็จะสามารถลดกลิ่นปากได้บ้าง
พยายามงดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม กะปิ หอมใหญ่ เครื่องเทศ และเนยแข็ง
กินผักผลไม้ให้ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมด
ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคกลุ่มนี้
ที่สำคัญคือ การทำจิตใจให้ผ่องใส เพราะความเครียดจะทำให้น้ำลายลดลง และตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ไม่มีกลิ่นปากมารบกวนใจแล้วค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.126 มิถุนายน 2558