เมื่อตั้งครรภ์ความเสี่ยงหลาย ๆ ปัจจัยก็ตามมา แม้กระทั่งอาการเจ็บป่วยและการรับประทานยาคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แล้วต้องกินยาอย่างไรไม่ให้มีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้การใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการอย่างไรไม่ให้ครรภ์เป็นพิษมาฝากคุณแม่ตั้งครรภ์กันค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ ^^
ยาแก้ปวด เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ใช้ยามปวดศีรษะ หรือมีอาการปวดอื่น ๆ แต่สำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ ต้องระวังเป็นพิเศษค่ะ เพราะถ้ากินเกินขนาดอาจทำให้อาการแย่ลงได้
ยาแก้ปวดกับแม่ตั้งครรภ์
นอกจากพาราเซตามอล (paracetamol) แล้ว ก็ยังมียาแอสไพริน ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในสมัยก่อน แต่เพราะพัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้รู้ว่าการใช้ยาแอสไพรินมีผลข้างเคียงเยอะการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ อีกทั้งมีการพัฒนายาแก้ปวดกลุ่มใหม่ ๆ ที่ให้ผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารน้อยกว่าและระงับปวดได้ดีกว่าด้วย การใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ จึงมีมากขึ้น
แอสไพรินป้องกันครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันการใช้ยาแอสไพรินในแม่ตั้งครรภ์จะใช้เฉพาะกรณีกลุ่มเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ใช้เพื่อป้องกันอาการครรภ์เป็นพิษ โดยแพทย์จะให้แม่กินยาแอสไพรินขนาด 81 มก. วันละเม็ด เพื่อป้องกันโรค เริ่มกินตั้งแต่อายุครรภ์ 12-16 สัปดาห์ จนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์จึงหยุด ซึ่งทางการแพทย์พบว่าการใช้แอสไพรินขนาดต่ำ ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ และการเสียชีวิตก่อนกำเนิดได้
อันตราย..หากใช้แอสไพรินไม่ถูกต้อง
1. แม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการครรภ์เป็นพิษ และกินยาแก้ปวดแอสไพรินอยู่ก่อนแล้ว หากมีการใช้ยาเกินขนาดหรือใช้โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตราย และเกิดอาการครรภ์เป็นพิษกำเริบรุนแรงขึ้นได้
2. ไม่รู้ตัวว่าครรภ์เป็นพิษ แต่มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดจุกลิ้นปี่รุนแรง แล้วคิดว่าเป็นอาการปวดธรรมดา ก็หายาแก้ปวดมากินเอง และถ้าไปกินแอสไพรินก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบรุนแรงมากขึ้น จนเกิดครรภ์เป็นพิษวิกฤต และอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นแม่ตั้งครรภ์จึงต้องหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ว่าเกิดจากครรภ์เป็นพิษหรือไม่ด้วยค่ะ
ข้อดีของการฝากครรภ์
เมื่อแม่มาฝากครรภ์ แพทย์จะซักประวัติ หากพบว่าแม่อายุมาก สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อ มีประวัติใช้ยาลดความดัน ใช้ยาแอสไพริน ซึ่งอาจต้องกินเพราะโรคประจำตัว มีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน ทำให้แม่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะตรวจเลือด PIGF, PAPP-A และตรวจอัลตราซาวด์ดรอปเปอร์ของหลอดเลือดแดง uterine ประเมินความน่าจะเป็นและความรุนแรง เพื่อพิจารณาให้ยาและวางแผนป้องกัน นอกจากนั้นต้องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อประมวลดัชนีมวลกาย และค่าความดันโลหิตด้วย
สังเกตอาการแบบนี้ เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่
มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (โดยตั้งครรภ์ในอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์) ซึ่งวินิจฉัยจากการวัดความดันโลหิตของแม่ตั้งครรภ์ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 ชม. หากพบว่าความดัน systolic สูงกว่าหรือเท่ากับ 140 มม.ปรอท หรือความดัน diastolic มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท ถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
ตัวบวม เนื่องจากมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
หากมีอาการรุนแรงขึ้นจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษวิกฤต คือเกิดการล้มเหลวของระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ไตทำงานแย่ลง ระดับเอนไซม์ตับสูงผิดปกติ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นยอดอก ปอดบวมน้ำ ชักหมดสติ ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์
แม่ตั้งครรภ์จึงต้องใส่ใจตัวเองให้มาก หากมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเรื่องกินยาแก้ปวด ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการหนักและรุนแรงได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 389 มิถุนายน 2558