ปรับพฤติกรรมลูก ด้วยเทคนิค Time-out

การใช้วิธี Time-out ในเด็ก

          การใช้วิธี Time-out หรือขอเวลานอก กับเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและใจเย็นให้มากค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำกันค่ะ หากวิธี Time-out ใช้ได้ผลก็ดีไปค่ะ แต่หากใช้ไม่ได้ผลและเด็กรู้สึกต่อต้านหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ค่ะ และต้องทำตั้งแต่ลูกยังเล็กแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูคำแนะนำดี ๆ จากนิตยสาร MODERNMOM กันค่ะ ^^

          คุณพ่อคุณแม่และคุณครูหลาย ๆ ท่านมักจะถามแอนนี่อยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กเล็ก ๆ ทำผิดแล้วจะลงโทษอย่างไร" หรือ "อ้าว! ไม่ให้ตีแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผิด" และอีกหลาย ๆ คำถามที่เกิดขึ้น เมื่อปัจจุบันมีคำแนะนำไม่ให้ดุด่าว่าลูกแรง ๆ หรือตีลูก ซึ่งแอนนี่ดีใจที่ทุกคนเข้าใจความสำคัญเรื่องนี้กันมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นการใช้ Time-out กันอย่างแพร่หลาย บางห้องเรียนมีเก้าอี้ Time-out เตรียมไว้ ให้เด็กเล็ก ๆ กันเลยทีเดียว

          ประเด็นที่แอนนี่อยากให้ความสนใจกันมากขึ้นก็คือ เราใช้ Time-out กันอย่างถูกต้องแล้วหรือยัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กวัย 1-3 ขวบ เพราะแน่นอนใช้ถูกผลดีตามมา ใช้ไม่ถูกต้องมีเกิดผลเสียตามมาเช่นกัน

รู้จัก Time-out

          ขอให้ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า Time-out ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการให้เวลาเพื่อสงบสติอารมณ์เมื่อหนูน้อยกำลังอาละวาดหรือเพื่อหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ นึกถึงเวลาดูกีฬา แล้วโค้ชหรือนักกีฬาขอ Time-out เพื่อออกมาหยุดและตั้งกลยุทธ์การต่อสู้กันใหม่ให้ดีขึ้นค่ะ

ลูกวัยไหนใช้ Time-out

          The American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่าสามารถใช้ Time-out กับหนูน้อยวัย 1 ขวบขึ้นไป แต่ควรใช้เวลาสั้น ๆ เท่านั้นนะคะ

6 เทคนิคใช้ Time-out

         1. เน้น Time-in มาก ๆ : ฝึกให้ลูกน้อยรู้จัก Time-in (เวลาอยู่ร่วมกัน เวลาสนุก) ตั้งแต่ก่อนจะถึงวัยใช้ Time-out แอนนี่สนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยพลังบวก นั่นหมายถึงการใช้ Time-out ที่ดีก็ต้องเกิดจากพลังบวกด้วยเช่นกัน ลูกน้อยต้องได้รับอย่างเพียงพอจึงจะเข้าใจว่า Time-out คือช่วงที่ Time-in ต้องหยุดลง Time-in ที่ดีควรเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละครอบครัวโดยสร้างเวลาดี ๆ มีความสุข ทำกิจกรรมที่ลูกชอบร่วมกัน เพราะเราต้องการให้เด็กเชื่อมความเข้าใจระหว่างพฤติกรรมดี ๆ กับความรู้สึกดี ๆ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เขารักษาพฤติกรรมดี ๆ เอาไว้

         2. ต้องสั้นและทันที : ใช้ Time-out ทันทีเมื่อเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ลูกจะได้เข้าใจว่า เพราะเขาทำอะไรถึงได้ Time-out และต้องสั้น อาจเริ่มแค่ประมาณ 1 นาที ตั้งเสียงปลุกไว้เลยก็ดีนะคะจะได้ดูจริงจังและเด็กจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

         3. ต้องเงียบ : Time-out เวลาสงบสติอารมณ์ และคิดได้ว่าไม่ควรทำในสิ่งที่เพิ่งทำไป ไม่ใช่เวลาร้องไห้ดีดดิ้น โวยวาย ทั้งของลูกและพ่อแม่ ดังนั้นห้ามตะโกน ดุลูก เช่น "ทำอย่างนี้แย่มากไปอยู่ที่ห้องเดี๋ยวนี้" ด้วยเสียงอันดังและอารมณ์โมโห ไม่ต้องสอนสั่งระหว่าง Time-out ด้วย เดี๋ยวค่อยคุยกันอีกทีเมื่อออกจาก Time-out แล้ว เรียกว่า เงียบ ทั้งฝ่ายโดน Time-out และฝ่ายให้ Time-out ค่ะ

         4. คำพูดสำคัญ : เราไม่ต้องการให้ลูกรู้สึกโกรธหรือเคียดแค้น เมื่อ Time-out ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองดี ๆ พูดดี ๆ อย่าขึ้นเสียง เช่น หนูต้องใช้เวลาคิดเงียบ ๆ ไปนั่งคิดตรงนี้นะคะว่าควรทำ (สิ่งที่ลูกทำ) ดีหรือเปล่า หรือหยุดก่อนนะคะ พัก 1 นาที ให้ใจเย็นลง แล้วเดี๋ยวเราคุยกันค่ะ เป็นเวลาสงบสติอารมณ์ สำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อหากลยุทธ์ในการจัดการกับเจ้าตัวน้อยต่อไปด้วยค่ะ

         5. เมื่อ Time-out จบ : เมื่อหมดเวลา TIme-out แล้วห้ามบ่นว่าลูกต่อ คุณพ่อคุณแม่ต้องหายหงุดหงิดด้วย

         6. กอด : กอดลูกหลังจบ Time-out ให้ลูกมั่นใจว่าคุณรักเขาเพียงแต่พฤติกรรมที่ทำนั้นไม่ควรทำเท่านั้นเอง

          คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่า เมื่อ Time-out ลูกแล้วลูกต้องหยุดนิ่งจากกิจกรรมอันแสนสนุกทุกชนิด บางครั้งคุณแม่ให้ไป Time-out ในห้องตัวเองเงียบ ๆ แต่ในห้องมีของเล่นเพียบหรือไปนั่งเก้าอี้เงียบ ๆ คนเดียวเพราะลูกไม่ทำอะไรสักอย่างที่คุณแม่บอก แต่เผอิญว่าสำหรับลูกแล้วการไปนั่งคนเดียวนั้นยังดีกว่าทำสิ่งที่คุณสั่ง อันนี้ Time-out ก็ไม่ได้ผลเช่นกันค่ะ ขอยกตัวอย่างลูกสาวตัวน้อยของแอนนี่เองละกันนะคะ เมื่อเข้า 3 ขวบถึงวัยเข้าโรงเรียน น้องร้องไห้หนักมาก ร้องดังด้วย (ครูบอก) รบกวนการเรียนในห้อง คุณครูจึงต้องให้ Time-out ไปอยู่ห้องครูใหญ่ ผ่านไปสักระยะน้องก็ยังร้องไห้หนักอยู่ แอนนี่เลยลองคุยกับลูกเล่น ๆ แบบไม่ถามเรื่องร้องไห้เลย คุยกันไปมาได้ความว่า "หนูชอบห้องครูใหญ่ พี่ที่ดูแลใจดี แถมได้เล่นคอมพิวเตอร์คนเดียวไม่ต้องแบ่งใคร เกมก็สนุกด้วย" แป่ว! นั่นไง Time-out กลายเป็น Time-in ซะงั้น อย่างงี้เป็นใครก็คงร้องไห้ดัง ๆ จะได้ไปห้องครูใหญ่ดีกว่า จริงไหมคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.236 มิถุนายน 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปรับพฤติกรรมลูก ด้วยเทคนิค Time-out อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2558 เวลา 15:20:28 7,296 อ่าน
TOP
x close