สัญญาณเตือน ! เมื่อเรื่มตั้งครรภ์สังเกตอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีสังเกตอาการเมื่อคุณแม่มือใหม่เริ่มตั้งครรภ์มาฝากกัน พร้อมเคล็ดลับการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ และการเตรียมพร้อมเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ พร้อมเคล็ดลับดี ๆ 20 ข้อที่จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลของคุณแม่ไปได้ค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูอาการต่าง ๆ เมือเริ่มตั้งครรภ์จากนิตยสารบันทึกคุณแม่กันเลยค่ะ ^^
อาการที่แสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์นั้นมีอยู่มากมายหลายอาการ ที่เห็นทั่วไปก็คือ รอบเดือนขาด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และอยากรับประทานของเปรี้ยว เป็นต้น นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว ยังมีสัญญาณอื่น ๆ อีกที่บ่งบอกว่าชีวิตน้อย ๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นในท้องของคุณแล้ว เราไปดูกันนะคะว่ามีอะไรบ้าง
1. สำหรับอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการโดยทั่วไปของการตั้งครรภ์นั้นมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายต้องส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนและมดลูกซึ่งมีความต้องการเลือดมากขึ้น ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลง ส่งผลให้คุณเกิดอาการหน้ามืด นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตที่ลดลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อีกด้วย ถ้าคุณรู้สึกวิงเวียนและหน้ามืด ให้คุณนั่งลงในท่าชันเข่าแล้วฟุบหน้าลงระหว่างหัวเข่าทั้งสองข้างจนกว่าอาการหน้ามืดจะหายไป
2. ว่าที่คุณแม่หลายคนสามารถรู้สึกได้ว่าตนเองตั้งครรภ์ ก่อนที่รอบเดือนครั้งต่อไปจะมาถึง ทั้งนี้เป็นเพราะหลังการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ คุณอาจจะสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกมาทางช่องคลอดกระปริบกระปรอยเป็นจุด ๆ นอกจากนี้ยังมีอาการไม่สบายท้อง ปวดถ่วง ๆ บริเวณท้องน้อยในช่วงที่รอบเดือนเคยมาเป็นประจำ และมีความรู้สึกว่ารอบเดือนของคุณกำลังจะมาอยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่ฮอร์โมนในร่างกายทำให้เส้นเอ็นที่รองรับมดลูกของคุณอ่อนตัวลงนั่นเอง
3. ในช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์ อุณหภูมิในร่างกายของคุณจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าคุณสังเกตอุณหภูมิของร่างกายในช่วงที่รอบเดือนมาเป็นประจำ คุณจะพบว่าแทนที่อุณหภูมิจะลดลงก่อนที่รอบเดือนจะมาเช่นทุกครั้ง มันกลับยังคงสูงอยู่อย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะร่างกายของคุณกำลังบ่มฟักไข่ในครรภ์นั่นเองค่ะ
4. ในระยะนี้เต้านมของคุณจะเริ่มขยายขึ้นและอาจจะมีอาการเสียวแปล๊บเกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ และคุณยังจะสังเกตเห็นว่าเส้นเลือดบริเวณเต้านมของคุณนูนขึ้นมาและมีสีเข้มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปุ่มเล็ก ๆ มากมายเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนมด้วย ว่าที่คุณแม่บางคนมีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า ในขณะที่บางคนก็ยังคงมีหน้าอกขนาดเท่าเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม คุณควรหาซื้อบราที่ช่วยพยุงเต้านมมาสวม จะช่วยทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้นได้ค่ะ
5. การไปพบแพทย์จะช่วยให้คุณมั่นใจในผลการตรวจได้มากขึ้น โดยแพทย์จะทำการตรวจบริเวณปากมดลูกของคุณ หากคุณตั้งครรภ์ สีของปากมดลูกจะเปลี่ยนจากแดงเป็นสีม่วงในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์
6. ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ ท้องของคุณจะเริ่มใหญ่ขึ้นจนสังเกตได้ โดยเฉพาะถ้าท้องนี้ไม่ใช่ท้องแรก และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 12 ขนาดของตัวอ่อนในครรภ์จะโตเท่ากับผลส้ม ซึ่งจะเต็มเนื้อที่ของมดลูกพอดี คุณจะรู้สึกได้ว่ามดลูกของคุณเริ่มขยายขึ้นมาอยู่เหนือกระดูกเชิงกราน ระหว่างสะโพกกับบริเวณเหนือหัวหน่าว ใคร ๆ จะเริ่มสังเกตเห็นว่าคุณตั้งครรภ์เมื่อคุณมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 14-20 สัปดาห์ แต่หากเป็นท้องแรกจะสังเกตเห็นได้ประมาณสัปดาห์ที่ 24 และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 32 ท้องของคุณก็จะยื่นออกมาจนคุณไม่สามารถมองเห็นเท้าของตัวเอง พอถึงเดือนที่ 9 มดลูกของคุณจะเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมเลยค่ะ
7. คุณมักจะอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายในช่วงเช้า นั่นเป็นผลจากฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีการหย่อนตัว ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกปวดหลังมากขึ้น ว่าที่คุณแม่จะมีอาการท้องผูกเนื่องจากลำไส้ทำงานช้าลงด้วย แต่ก็มีว่าที่คุณแม่หลายคนที่ไม่มีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาเลย ในขณะที่อีกหลายคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตลอดวัน อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ เบาบางลงเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12-14
8. เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 มดลูกของคุณจะเต็มไปด้วยน้ำคร่ำ ซึ่งทำหน้าที่ประคองรองรับทารกในครรภ์ และหลังจากนั้นน้ำคร่ำจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาคลอด จะเหลือน้ำคร่ำอยู่ในมดลูกเพียง 3-4 ออนซ์เท่านั้น
9. ในช่วงนี้ว่าที่คุณแม่หลายคนจะมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก บางคนมีอาการเลือดกำเดาไหลด้วย สาเหตุเนื่องมาจากการที่ร่างกายมีเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น และระบบการไหลเวียนของฮอร์โมนมีผลทำให้เยื่อบุในจมูกอ่อนตัวลงและมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ก็ทำให้ว่าที่คุณแม่มีอาการเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายในช่วงตั้งครรภ์อีกด้วย
10. ว่าที่คุณแม่คนไหนที่ใส่คอนแทคเลนส์ คุณจะเริ่มมีปัญหากับมันในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากช่วงนี้ร่างกายของคุณจะเก็บกักน้ำเอาไว้มากขึ้น รวมทั้งบริเวณลูกตาด้วย ซึ่งจะทำให้รูปทรงของลูกตามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจึงทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตาเวลาใส่คอนแทคเลนส์ นอกจากนี้การที่ร่างกายเก็บกักน้ำเอาไว้มากกว่าปกติจะมีผลทำให้ใบหน้า, นิ้วมือ และข้อเท้าของคุณเกิดอาการบวมน้ำ อาการดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากคุณมีอาการความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนในปัสสาวะร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์เพราะอาจเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษซึ่งต้องรีบรักษาโดยทันที
11. ในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดที่หมุนเวียนในร่างกายของคุณจะมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปจัดเตรียมเป็นธาตุเหล็กให้กับทารกในครรภ์เพื่อนำไปสร้างเม็ดเลือดในร่างกาย ในช่วงตั้งครรภ์นี้ไขกระดูกของคุณก็ต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นเช่นกันเพื่อนำไปสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งจะเป็นตัวนำพาออกซิเจนให้ไหลผ่านไปยังเซลล์เม็ดเลือดแดง เพราะฉะนั้นคุณจึงควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วย บางคนที่ต้องการธาตุเหล็กมากเป็นพิเศษ คุณหมออาจจะพิจารณาให้รับประทานธาตุเหล็กชนิดเม็ดเสริมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดโลหิตจางในช่วงตั้งครรภ์
12. ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ คุณจะรู้สึกว่ามดลูกของคุณมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 20 นาที และจะมีอาการเกร็งอยู่นานราว ๆ 30 วินาที ทำให้คุณรู้สึกอึดอัดแต่ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีความเชื่อว่าอาการเกร็งตัวของมดลูกนี้มีประโยชน์มากเพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงมดลูกและทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
13. ช่วงตั้งครรภ์ หัวใจของคุณจะมีการขยายใหญ่ขึ้นและมีอัตราการเต้นเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 10 ครั้ง/นาที นั่นหมายความว่าอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นถึง 14,400 ครั้ง/วัน เลยทีเดียว นอกจากนี้หัวใจยังถูกดันให้สูงขึ้นจากตำแหน่งเดิม เพื่อเป็นการเตรียมที่สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หัวใจของคุณจะกลับลงมาอยู่ในตำแหน่งเดิมและมีขนาดเท่าเดิมหลังจากคลอดแล้วประมาณ 4 วัน
14. ระหว่างตั้งครรภ์ คุณจะรู้สึกว่าอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่คุณต้องใช้พลังงานมากขึ้นนั่นเอง และยิ่งทารกเติบโตมากขึ้น อุณหภูมิในร่างกายของคุณก็เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้หน้าตาผิวพรรณของคุณจะดูแดงระเรื่อขึ้น นั่นเป็นเพราะจำนวนเส้นเลือดฝอยที่อยู่ใกล้ ๆ กับผิวหนังชั้นบนสุดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้มีเลือดมาไหลเวียนบริเวณใต้ผิวหนังมากขึ้น ผิวพรรณของคุณจึงดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
15. เมื่อมดลูกของคุณขยายขึ้นมาเบียดปอด ทำให้ปอดต้องขยับออกไปด้านข้างเพื่อคุณจะได้หายใจได้สะดวกขึ้น ซึ่งทำให้ซี่โครงของคุณก็ต้องขยายออกตามไปด้วย แต่ถึงแม้ว่าอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ทั้งปอดและซี่โครงได้มีการขยับขยายเพื่อช่วยให้คุณหายใจสะดวกขึ้น แต่คุณอาจจะยังรู้สึกหายใจไม่สะดวกอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 34-36 ซึ่งเป็นช่วงที่มดลูกขยายจนเต็มที่แล้ว อาการอึดอัดดังกล่าวจะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อทารกเริ่มกลับศีรษะลงไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอด
16. ว่าที่คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าไฝและกระของคุณจะมีสีเข้มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 14 นอกจากนี้ขนตามแขนขา รวมไปถึงหัวนม และสะดือก็มีสีเข้มขึ้นด้วย ระยะนี้คุณจะสังเกตเห็นว่าเส้นตรงที่ยาวจากสะดือลงมาถึงบริเวณหัวหน่าวก็มีสีเข้มขึ้นด้วยเช่นกัน ว่าที่คุณแม่บางคนอาจจะพบว่าสีผิวบนใบหน้านั้นคล้ำลง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ สีผิวและขนที่เข้มขึ้นในช่วงนี้จะค่อย ๆ จางลงหลังคลอด
17. ช่วงตั้งครรภ์คุณจะสังเกตเห็นว่าเส้นผมและเล็บของคุณยาวเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคุณก็จะต้องเผชิญกับอาการผมร่วงด้วย บางคนเวลาสระผมที ผมร่วงออกมาเป็นกำ ๆ เลยก็มี นอกจากนี้ผิวหนังของคุณก็เริ่มแห้งมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้คุณเกิดอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณท้องที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
18. ว่าที่คุณแม่หลายคนน้ำหนักลดในช่วงสามเดือนแรก เนื่องจากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จึงทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง หากคุณไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เลย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการเหล่านี้ และหลังจากสัปดาห์ที่ 14 เป็นต้นไป ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 35 อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวจะลดลง และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 38 ซึ่งเป็นช่วงใกล้คลอด น้ำหนักของคุณจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากร่างกายเริ่มระบายของเหลวที่เก็บกักไว้ออกมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั่นเอง
19. ในช่วงสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ คุณจะสังเกตเห็นว่าสะดือของคุณเริ่มตึงจนแบนราบ ซึ่งมันจะเป็นอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งคลอด และจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมหลังคลอดแล้วประมาณ 2 - 3 วัน
20. ในช่วงตั้งครรภ์นี้ เนื่องจากผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเริ่มมีการขยาย โดยเฉพาะบริเวณท้อง จึงทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยแตกลายเป็นเส้นสีแดง ๆ หลังจากคลอดแล้ว ริ้วรอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นเส้นสีขาว ๆ แทน
แม้ช่วงตั้งครรภ์จะเป็นช่วงที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจหลายอย่าง แต่อย่างน้อยชีวิตเล็ก ๆ ที่คุณรอคอยก็เดินทางมาถึงแล้ว หากคุณศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ให้เข้าใจก็จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลลงได้ และเราเชื่อว่าความรักโดยไม่มีเงื่อนไขของคุณจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก