น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้พร้อมวิธีสังเกตอาการผิดปกติของน้ำคร่ำในแม่ตั้งครรภ์ มาแนะนำกัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย และจะมีผลกระทบต่อแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ไปหาคำตอบจาก นิตยสารรักลูก กันเลยค่ะ ^^
คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินและพูดถึงน้ำคร่ำอยู่บ่อย ๆ แต่อาจไม่รู้จักจริง ๆ ว่าน้ำคร่ำคืออะไรมีประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะหากมีน้ำคร่ำน้อย อาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
น้ำคร่ำ
คือน้ำที่อยู่รอบ ๆ ตัวทารก โดยทารกจะกลืนน้ำเข้าไปและปัสสาวะออกมาเป็นน้ำคร่ำนั่นเอง โดยคุณแม่จะเห็นน้ำคร่ำเมื่อทำอัลตราซาวด์จะเห็นว่าลูกดิ้น ขยับแขนขาไปมาเหมือนกำลังว่ายน้ำอยู่ในถุงกลม ๆ สีดำ ซึ่งสีดำ ๆ ที่เห็นเคลื่อนไหวไปมาในจอนั้นนั่นล่ะ คือน้ำคร่ำ
น้ำคร่ำ คือเกราะป้องกันทารก
ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ น้ำคร่ำจากถุงการตั้งครรภ์ เมื่อเข้าไตรมาสที่สอง น้ำคร่ำจึงจะมาจากปัสสาวะของลูก และถูกสร้างเพิ่มขึ้นวันละ 30-40 มล. เมื่อถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่ออายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ซึ่งครบกำหนดคลอดพอดี ดังนั้นในคุณแม่ที่รอคลอดเกิน 40 สัปดาห์ หรือครบกำหนด 40 สัปดาห์แล้วยังไม่คลอด ทารกจึงเสี่ยงอันตรายได้
ด้วยน้ำคร่ำมีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิให้ทารก ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ให้ทารก และเป็นเสมือนเกราะป้องกันนุ่ม ๆ ช่วยป้องกันอันตรายจากแรงกระแทรกด้วย หากมีน้ำคร่ำน้อยอันตรายย่อมเกิดกับทารก อาทิ
ทารกมีโอกาสที่รูปร่างผิดปกติจากการถูกกดเบียด เพราะไม่มีน้ำคร่ำปกป้อง เช่น มีรูปหน้าผิดรูป แขนเขาหรือมือเท้าผิดรูป หรือแหว่ง ซึ่งภาวะที่พบบ่อยคือเท้าปุก ภาวะปอดแฟบ เป็นต้น
มีโอกาสที่สายสะดือจะถูกกดทับขณะมดลูกหดรัดตัวส่งผลให้ทารกขาดออกซิเจนได้
สาเหตุน้ำคร่ำน้อย
1. ทารก มีความผิดปกติของโครโมโซม โดยเกิดมาจากความผิดปกติของไต เช่น การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือไตไม่พัฒนา ทำให้ทารกไม่มีปัสสาวะ จึงไม่มีน้ำคร่ำหรือมีน้ำคร่ำน้อยได้
2. แม่ มีอายุครรภ์เกินกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ปกติ เกิดจากถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนกำหนด เกิดภาวะขาดน้ำคร่ำ หรือดื่มน้ำน้อยมาก มีปัญหาครรภ์เป็นพิษ มีโรคประจำตัวหรือต้องกินยาบางชนิดที่มีผลทำให้น้ำคร่ำน้อย
3. รก เกิดภาวะเสื่อม ส่งผลให้น้ำคร่ำน้อย ทำให้ทารกขาดออกซิเจนเรื้อรัง หรือขาดสารอาหารจนเจริญเติบโตช้าในครรภ์
รู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย
ปกติคุณแม่มักสังเกตอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำคร่ำน้อยไม่ได้ ยกเว้นคุณแม่ที่เคยมีประวัติน้ำเดินหรือของเหลวไหลออกทางช่องคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
แต่สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
1. คุณหมอตรวจครรภ์แล้วพบว่า เมื่อประเมินตามอายุครรภ์ขนาดหน้าท้องเล็กกว่าปกติ
2. ตรวจอัลตราซาวด์ และมีการวัดปริมาตรน้ำคร่ำตามมาตรฐานเทียบเคียงจากการวัดอัลตราซาวด์ด้วยดัชนีน้ำคร่ำแล้วพบว่าน้อยกว่า 5 ชม.
นอกจากนี้ ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ด้วย เช่น การนับลูกดิ้น หากพบว่าดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น ควรพบแพทย์ทันที และสังเกตน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ซึ่งควรเพิ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 0.5 กก. หากน้อยกว่านี้ หรือน้ำหนักลด ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดจากภาวะน้ำคร่ำน้อยได้
น้ำคร่ำน้อยรักษาได้
เนื่องจากภาวะน้ำคร่ำน้อยอาจเกิดจากความผิดปกติทั้งของแม่ ทารก หรือรก เมื่อตั้งครรภ์จึงต้องถูกถามประวัติโรคประจำตัว ยาที่กินประจำ รวมทั้งภาวะโภชนาการของแม่ โดยประเมินจากขนาดมดลูกว่าโตสอดคล้องกับอายุครรภ์หรือไม่ อัลตราซาวด์ตรวจความพิการของทารกในครรภ์ ตรวจสุขภาพทารกด้วยเครื่องตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ และตรวจวัดดัชนีน้ำคร่ำ
เมื่อตรวจประเมินแล้วพบว่าคุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย แพทย์จะแบ่งการรักษาตามไตรมาสของการตั้งครรภ์ ดังนี้
1. อายุครรภ์น้อย ๆ ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ต้องรักษาด้วยการเติมน้ำคร่ำเข้าไปในถุงการตั้งครรภ์ (Amnioinfusion) เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจาการกดทับสายสะดือ
2. อายุครรภ์ไตรมาสที่สาม แบ่งเป็นกรณีที่
อายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว ตรวจพบน้ำคร่ำน้อยมาก และตรวจพบภาวะอันตรายต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ แพทย์จะพิจารณาช่วยทำคลอดทันที
อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด แต่เป็นช่วงอายุครรภ์ 34-36 สัปดาห์ ปอดของทารกพัฒนาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาตรวจติดตามดัชนีน้ำคร่ำและตรวจสุขภาพทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติจะพิจารณาให้คลอดทันที
อายุครรภ์น้อยกว่าช่วงที่ปอดของทารกจะพัฒนาแล้ว คือน้อยกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาฉีดยาให้แม่ เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการปอดของทารก โดยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และพิจารณาให้ตลอดหากพบความผิดปกติของสุขภาพทารกในครรภ์
สิ่งสำคัญที่สุดของแม่ที่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย คือการดูแลตัวเอง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเยอะ ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจครรภ์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 388 พฤษภาคม 2558