ดูแลครรภ์อย่างไรเมื่อตั้งครรภ์ในวัย 35+ วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำแนะนำดี ๆ ในการดูแลครรภ์ของคุณแม่วัย 35+ ซึ่งอาจจะต้องดูแลครรภ์เป็นพิเศษกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ช่วงอายุปกติ และต้องได้รับการดูแลและตรวจครรภ์จากคุณหมอโดยละเอียด เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากคุณแม่อยากให้ลูกในครรภ์คลอดออกมาอย่างปกติและแข็งแรงต้องไปดูวิธีดูแลครรภ์จากนิตยสาร Mother & Care กันเลย ...
สำหรับคุณแม่อายุตั้งแต่ 35-40 ปี ที่ตั้งครรภ์นั้น ในมุมมองหมอ เป็นการตั้งครรภ์ภายใต้ภาวะความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว โรคที่พบมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ คือโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภาวะแฝงที่มาจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบัน ที่มักเครียดกับการทำงาน และละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยหารู้ไม่ว่ามีผลต่อลูกในครรภ์
35+ กับการตั้งครรภ์
ซึ่งช่วงระยะเวลา 9 เดือนของอายุครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวต้องควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ เพราะถ้าคุมไม่ดีมีโอกาสที่ครรภ์เป็นพิษ ส่งผลให้เด็กตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนด ส่วนโรคเบาหวานถ้าคุมไม่ดีจะทำให้การเจริญเติบโตของท่อประสาท และกะโหลกศีรษะไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมาไม่มีกะโหลกศีรษะหรือไขสันหลังมีรู ในขณะที่มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ตั้งครรภ์โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม โดยโรคทางกรรมพันธุ์ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่สามารถส่งต่อความผิดปกติของยีนไปแสดงออกที่ลูกได้เช่นกัน
คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวและตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก มีโอกาสเสี่ยงท้องนอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ เพราะความผิดปกติของรกทำให้เด็กในครรภ์เจริญเติบโตช้า นั่นเป็นเหตุผลที่ควรรีบมาพบคุณหมอในทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติได้อย่างถูกต้อง "แม่นยำ"
การดูแลแม่ตั้งครรภ์ 35+
คุณหมอจะประเมินความรุนแรงของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด โดยดูจากอายุครรภ์ การตรวจประเมินปากมดลูกและการใช้เครื่องมือ เพื่อประเมินการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งแนวทางการรักษาของหมอจะพยายามยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อยืดระยะเวลาการตั้งครรภ์ออกไปให้จนครบกำหนดคลอด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า NST (Non stress test) ซึ่งเป็นการติดสายรัดที่บริเวณหน้าท้องมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดการเต้นของหัวใจลูก ร่วมกับการแข็งตัวของมดลูก โดยคุณแม่จะได้รับปุ่มสำหรับกดเมื่อรู้สึกถึงการดิ้นของลูกในครรภ์ เครื่องมือจะบันทึกการเต้นของหัวใจของทารก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาสำหรับตรวจประเมินประมาณ 30 นาที การตรวจด้วยเครื่องมือนี้จะเป็นการบอกสุขภาพของเด็กในครรภ์ และประเมินการเจ็บครรภ์คลอดได้
หากไม่สามารถยับยั้งได้ หมอสูติแพทย์จะประสานงานกับกุมารแพทย์เพื่อเตรียมตัวดูแลทารกที่จะคลอด ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เรื่องที่สำคัญคือการหายใจ เนื่องจากปอดอาจยังพัฒนาไม่ดีพอ ทำให้หายใจเองได้ยากลำบาก นอกจากนั้นอาจมีน้ำหนักตัวน้อย บางรายไม่สามารถรับสารอาหารทางปากได้ และอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในอนาคตอีกด้วย ฯลฯ ทารกกลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากกุมารแพทย์
สุขภาพ
สารเคมีในชีวิตประจำวันอย่าง ยาย้อมผม ยาแก้สิว แม้ไม่มีผลต่อแม่และเด็กมากนัก เพราะซึมผ่านทางกระแสเลือดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับยา แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะแม้สารเคมีที่ใช้จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมากแต่หากร่างกายได้รับสะสมต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็ไม่อาจคาดเดาได้ สำหรับยาที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ยารักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรอบซาวน่า หรือแช่น้ำร้อนในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะความร้อนมีผลต่อเซลล์ประสาทเด็กที่ยังสร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้ท่อประสาทและกะโหลกศีรษะไม่ปิด
กรณีที่พบภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ สูติ-นรีแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ร่วมกันวางแผนการรักษาร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ เช่น หมอด้านโรคหัวใจทารกในครรภ์ กุมารแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิด เพื่อดูแลทารกในครรภ์และสุขภาพคุณแม่โดยใช้เทคโนโลยีการแพทย์ในการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ 4 มิติ ซึ่งให้ภาพเคลื่อนไหวที่มีความคมชัดสูง บอกความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ เช่น ดูการทำงานของลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจภาวะลิ้นหัวใจรั่ว เพื่อใช้วางแผนวิธีการคลอด และช่วงเวลาในการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม
การตรวจครรภ์จะทำให้รู้ว่าตำแหน่งการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงกำหนดวันคลอดที่แน่นอน เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดช้าเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์
เทคนิคพ่อดูแลคุณแม่
สำหรับคนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อ เป็นบุคคลสำคัญที่ให้ความรักและดูแลคุณแม่ได้ดีที่สุด เพราะการตั้งครรภ์นับเป็นภาวะเครียดอย่างหนึ่งของชีวิต ร่างกายของคุณแม่จะลดภูมิต้านทานของตัวเองลง เพื่อไม่ให้ต้านทานลูกที่เสมือนสิ่งแปลกปลอมที่เพิ่มขึ้นมา คุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมสูง เช่น เชื้อไวรัส (Cytomegalovirus : CMV) ที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นพาหะ โดยเชื้อชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์อาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสน้ำลายเด็กเล็ก หรือล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสารคัดหลั่งจากเด็กอ่อน ซึ่งมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่แสดงอาการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.125 พฤษภาคม 2558