แม่ท้องทำคีโม ได้หรือไม่ ?



         การทำคีโมมีความเสี่ยงต่อแม่ตั้งครรภ์อย่างไร ? วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้การทำคีโมในแม่ตั้งครรภ์รวมทั้งวิธีการให้คีโมอย่างเหมาะสม และการดูแลคุณแม่หลังทำคีโม ส่วนจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ เรามีคำแนะนำดี ๆ จากนิตยสาร Mother & Care มาฝากคุณแม่กันค่ะ ...

         แม้ว่าการทำคีโมในหญิงตั้งครรภ์ พบได้ไม่บ่อยประมาณ 1 ต่อ 1,000 แต่อย่างน้อยคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรมีความรู้ไว้สำหรับดูแลตัวเองและลูกน้อย หรือคลายความสงสัยให้กับตัวเองว่า หญิงตั้งครรภ์สามารถทำคีโมได้หรือไม่ มีขั้นตอนและผลข้างเคียงอย่างไรติดตามได้ในฉบับนี้ค่ะ

 แม่ท้องกับการทำคีโม

         การทำคีโมขึ้นอยู่กับชนิด และระยะของมะเร็ง หากมีข้อบ่งชี้ จำเป็นต้องให้ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณหมอผู้ดูแลจะพิจารณาให้ยาคีโม โดยดูอายุครรภ์ของคุณแม่ว่าอยู่ในไตรมาสใด ส่วนใหญ่หากจำเป็นต้องให้คีโม คุณหมอมักเลือกให้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เนื่องจากไตรมาสแรกเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะ ดังนั้นคุณหมอจึงไม่อยากให้มีการเจริญเติบโตที่ผิดรูปของอวัยวะนั้น จึงเลี่ยงไม่ให้ยาในช่วงนั้นค่ะ

 วิธีการขั้นตอน

         วิธีการให้คีโมส่วนใหญ่ให้ทางหลอดเลือดดำ จึงนิยมให้ผ่านทางน้ำเกลือ มีบางชนิดของการทำคีโมที่สามารถให้ได้โดยการกิน การจะเลือกใช้ยาคีโมแบบไหน ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณแม่เป็นมะเร็งของอวัยวะส่วนใด เป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะของมะเร็งนั้น และขณะนั้นตั้งครรภ์ได้กี่สัปดาห์ คุณหมอผู้ดูแลจะเป็นผู้เลือกตัวยาให้กับคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม

 ผลข้างเคียงมีหรือไม่

         ยาคีโมส่วนใหญ่เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มที่มีการทำการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองแล้วพบว่ามีผลเสีย เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น ผลข้างเคียงของยาคีโม จึงขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ของยาและอายุครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ในขณะที่ได้รับยา และอาจเกิดภาวะบางอย่างทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย เช่น

        คุณแม่ หากได้รับในช่วงใกล้คลอด จะส่งผลทำให้กดเม็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดต่ำเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

        ลูกน้อย ด้วยยาคีโมทุกตัวสามารถผ่านรกได้ การได้รับการคีโมในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 มีรายงานพบว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย และอาจเกิดภาวะแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้

การดูแลคุณแม่หลังทำคีโม

         ยาเคมีบำบัดมีผลต่อทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของร่างกายคนเรา ดังนั้น หลังการให้ยาประมาณ 10-14 วัน คุณแม่อาจมีภูมิต้นทานในร่างกายลดน้อยลง จึงควรดูแลตัวเองในเรื่องต่อไปนี้

         เลือกกินอาหาร ที่สด สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ ทำเสร็จใหม่ ๆ

         กินอาหารรสอ่อน ไม่เผ็ด ร่วมกับรักษาร่างกายให้อบอุ่น

         ไม่ควรอยู่ในที่ที่แออัด ที่ที่มีผู้คนมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

         สังเกตอาการ ที่ต้องมาโรงพยาบาลทันที เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลวอย่างรุนแรง มีไข้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.123 มีนาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ท้องทำคีโม ได้หรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 24 มีนาคม 2558 เวลา 15:57:52 7,704 อ่าน
TOP
x close