x close

โรคอ้วน ภัยร้ายเรื่องสุขภาพลูก

โรคอ้วนในเด็ก

          โรคอ้วนในเด็ก ปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้เด็กมีภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนตามมาได้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ การแก้ปัญหาและวิธีป้องกันโรคอ้วน มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่หมั่นตรวจเช็คสุขภาพลูกมาฝากกันค่ะ พร้อมแล้วไปดูวิธีป้องกันโรคอ้วนในเด็กจากนิตยสาร Mother & Care ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายลูกได้ในอนาคตกันดีกว่าค่ะ ...


          ปัจจุบันมีการตื่นตัวด้านสุขภาพเรื่องน้ำหนักตัวมากขึ้นในอดีตพบว่า โรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่หมายถึงคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ถ้าพบในเด็กหมายถึง เด็กได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์ ปัจจุบันเด็กที่อ้วนไม่ได้หมายความแบบนั้นอีกต่อไป เพราะหมายถึงเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและการเกิดโรคอีกมากมาย เรื่องแบบนี้ต้องรีบป้องกันแก้ไขก่อนสายเกินแก้

แบบไหน ? ที่เรียกว่า "อ้วน"

          คุณพ่อคุณแม่จะทราบได้ว่าลูกเป็นโรคอ้วน เมื่อลูกของท่านมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการมีไขมันสะสมในร่างกาย สามารถดูได้จากการเพิ่มของน้ำหนักที่มากกว่าการเพิ่มของส่วนสูงตามวัย ในกราฟการเติบโต ทำให้ลูกน้อยต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าบ่อยครั้งลงพุงเหมือนผู้ใหญ่ หรือไม่สามารถยืนตรงให้เท้าและเข่าชิดกันได้

สาเหตุ และภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน

          การเกิดโรคอ้วนนั้นมีหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ให้กินมากเกินความต้องการของร่างกาย กินของหวานมาก ออกกำลังกายน้อย ส่วนสาเหตุอื่นคือ เกิดจากพันธุกรรมที่พ่อหรือแม่อ้วนอยู่แล้ว ความผิดปกติของระบบฮอร์โมน

          เมื่อเด็กอ้วนมากขึ้นแต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา โรคอ้วนจะรุนแรงมากขึ้น จนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
ผิวหนังบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ มีลักษณะหนาสีดำคล้ำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน
หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก เวลาเดินจะปวดขา เข่าผิดรูป นอนกรนเสียงดัง ถ้าเป็นรุนแรงอาจหยุดหายใจเมื่อหลับสนิท และอาจปัสสาวะรดที่นอน

          ในเด็กที่อ้วนระดับรุนแรง อาจทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงเกิดปัญหาโรคหัวใจ หลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูงตามมา ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องกินยาลดความอ้วน ยาลดระดับไขมัน และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โรคอ้วน ป้องกันได้

          สิ่งที่ทำให้ลูกของคุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงจากการเป็นโรคอ้วนได้ สิ่งแรกคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่สามารถป้องกันโรคอ้วนได้ การดูแลให้อาหารในปริมาณและจำนวนมื้อที่เหมาะสมกับวัย กินอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการกินขนมหวาน และส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมการเล่นกีฬาตามสมควร หากสงสัยว่าลูกมีภาวะเข้ากับโรคเด็กอ้วนควรปรึกษาคุณหมอเพื่อประเมินระดับความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และวางแผนการรักษาให้ต่อเนื่องกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.123 มีนาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคอ้วน ภัยร้ายเรื่องสุขภาพลูก อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:23:30 4,071 อ่าน
TOP