แม่ตั้งครรภ์ช่วงวัย 35+ เสี่ยงกว่าแม่อายุยังน้อย

ตั้งครรภ์อายุ 35

          เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงวัย 35 อาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพทั้งของแม่และลูก และต้องดูแลสุขภาพมากกว่าเดิม วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร momypedia และการทำความเข้าใจในการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ มาแนะนำ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงวัย 35 มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย พร้อมแล้วไปดูแลสุขภาพช่วงตั้งครรภ์กันเลย ^^

          ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงยุคใหม่ ทำให้ส่วนใหญ่แต่งงานช้าลงพร้อมตั้งครรภ์เมื่อเข้าสู่วัย 35 อัพ ซึ่งการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก นับว่าเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ นพ.วิศิษฐ์ ค้อสุวรรณดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จะมาไขข้อข้องใจกับปัญหาต่าง ๆ ที่สร้างความกังวลใจให้คุณแม่ตั้งครรภ์

อายุมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร ?

          ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าผู้หญิงควรตั้งครรภ์เมื่ออายุเท่าไรแต่ในช่วงอายุ 20-30 ปี ร่างกายจะมีความสมบูรณ์เต็มที่และพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และผู้หญิงมีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะในวัย 35 ปีขึ้นไป การทำงานของรังไข่ลดลงส่งผลต่อความแข็งแรงของทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงเกิดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้

มีบุตรยาก เนื่องจากการตกไข่ลดลงหรือไข่ไม่สมบูรณ์

          ภาวะแท้งโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพราะเข้าใจว่าประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด หรือแท้งบุตรง่ายจากสาเหตุบางอย่าง เช่น ไข่ไม่สมบูรณ์ ฮอร์โมนจากรังไข่ไม่เพียงพอต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรกโดยพบว่าอายุ 25 ปี มีความเสี่ยงแท้งบุตรร้อยละ 12-15 และหากอายุ 40 ปี ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25

          ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่นความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือภาวะดาวน์ซินโดรมหรือทารกในครรภ์เติบโตช้า หากทารกคลอดก่อกำหนด มีน้ำหนักน้อยกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หายใจเร็วเนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่

          คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูงหรือหากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทารกจะตัวโตมากกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาการคลอดยากตามมา "ตรวจสุขภาพ" ลดความเสี่ยงลูกน้อยพิการแต่กำเนิด

          คุณแม่ตั้งครรภ์วัย 35 ปีขึ้นไป ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ หากพบความเสี่ยงแพทย์จะวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมีมากกว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหรือคนในครอบครัวเสี่ยงเกิดโรคเช่น ดาวน์ซินโดรม ครรภ์เป็นพิษ หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ควรพบแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีการตรวจที่สำคัญดังนี้

          1. การทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูอายุครรภ์และติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์เกินวัย 35 ปีขึ้นไป จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจวิเคราะห์หาสัญญาณการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความผิดปกติของทารก

          2. การตรวจเลือดคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่น ๆ ของทารกในครรภ์

          3. การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมอื่น ๆ หรือไม่

ครรภ์คุณภาพในวัย 35+ คุณสร้างได้

          การดูแลสุขภาพคุณเริ่มได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนถึงช่วงสุดท้ายเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก

          1. รับประทานโฟลิกให้เพียงพอ เพราะกรดโฟลิกช่วยให้สมองและกระดูกสันหลังของลูกเติบโตดี พบมากในผักใบเขียว ข้าวซ้อมมือ กล้วย นม ไข่ เป็นต้น

          2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

          3. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่มประมาณ 8-10 ชั่วโมง/วัน

          4. งดเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และการสูบบุหรี่

          5. ออกกำลังกายแบบเบาๆ หรือปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายอย่างปลอดภัย

          6. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาหลายชนิดสามารถส่งผ่านจากแม่ และมีผลต่อทารกในครรภ์อาจเกิดการแท้งบุตรได้

          7. ควบคุมน้ำหนัก เพราะหากมีน้ำหนักมากเกินไปอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษได้

          8. ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะอารมณ์ของคุณแม่มีผลต่อการตั้งครรภ์

          9. พบแพทย์ตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงและทราบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ตั้งครรภ์ช่วงวัย 35+ เสี่ยงกว่าแม่อายุยังน้อย อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:23:53 4,980 อ่าน
TOP
x close