ลูกจะเริ่มรับฟลูออไรด์ เมื่อไหร่ดีนะ



          การใช้ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในเด็ก ควรใช้เมื่อไหร่ถึงจะดี วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ การใช้ฟลูออไรด์สำหรับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นแบบน้ำหรือแบบเม็ดใช้แตกต่างกันอย่างไร หากอยากให้ลูกน้อยมีสุขภาพฟันที่แข็งแรงไปดูวิธีป้องกันฟันผุจากนิตยสาร MODERNMOM กันเลย ^^

          ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันโรคฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เด็กที่เริ่มมีฟันขึ้นแล้ว โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 6 เดือน จึงควรพิจารณาใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และสารถใช้ต่อเนื่องได้ตลอดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและขนาดที่ใช้เท่านั้น

          ฟลูออไรด์ที่ใช้ในทางทันตกรรมเพื่อป้องกันโรคฟันผุในเด็กเล็กมีอย่างน้อย 3 ประเภท คือ ยาสีฟันฟลูออไรด์ ยาเม็ดหรือยาน้ำฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน และฟลูออไรด์ ความเข้มข้นสูงชนิดทา (วาร์นิช) โดยทันตบุคลากร แต่ทุกประเภทมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผิวฟันที่อยู่ในช่องปากได้สัมผัสกับฟลูออไรด์ทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้ฟลูออไรด์ในเด็กเล็กจึงมีหลักง่าย ๆ คือ เริ่มใช้เมื่อมีฟันขึ้น ส่วนจะใช้ฟลูออไรด์ประเภทใดบ้างนั้น พิจารณาตามความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุของเด็กแต่ละคน

          ยาสีฟันฟลูออไรด์ เป็นฟลูออไรด์ใช้เฉพาะที่ซึ่งคุ้นเคยกันดี จึงเป็นรูปแบบที่แนะนำในเบื้องต้น เพียงแต่มีข้อจำกัดที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กกลืนโดยเฉพาะในช่วงก่อน 2 ขวบ เพราะเด็กยังควบคุมการกลืนไม่ได้ ป้องกันการกลืนโดยการใช้ผ้าสะอาดคอยเช็ดยาสีฟันและฟองออกทันทีขณะแปรง ก่อนลูกหุบปากลง และใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์แต่เพียงน้อยเพียงแตะแปรงเป็นชั้นบาง ๆ หรือเท่าเมล็ดข้าว กดให้จมในขนแปรงและใน 3 ขวบแรกหากใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์สม่ำเสมอ ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคฟันผุ ไม่จำเป็นต้องใช้ฟลูออไรด์เสริมชนิดรับประทาน

          ฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงชนิดทาโดยทันตบุคลากร แนะนำในขวบปีแรก หากเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง เช่น หลับคาขวดนมหรือนมแม่ แล้วไม่ได้ทำความสะอาดที่เพียงพอ หรือตรวจพบฟันผุแล้วแม้เป็นระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลทั่วไปแทบทุกแห่ง และยังคงรับต่อเนื่องไปได้เมื่ออายุมากขึ้น โดยมีระยะห่างตามความเหมาะสม

          นอกจากนั้นอาจแนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์ชนิดรับประทานเฉพาะเด็กที่อาศัยในพื้นที่ที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำบริโภคต่ำ คือความเข้มข้นไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งปริมาณฟลูออไรด์จากแหล่งน้ำบริโภคตามธรรมชาติและน้ำประปาได้ถูกสำรวจและเก็บข้อมูลไว้แล้วทั่วประเทศโดยกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนทั่วไปสามารถสอบถาม ตรวจสอบในเว็บไซต์ หรือนำน้ำดื่มตัวอย่างไปรับการตรวจสอบได้ยกตัวอย่างเช่น น้ำประปาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และน้ำกรองบรรจุขวดส่วนใหญ่ มีความเข้มข้นฟลูออไรด์ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนแหล่งน้ำที่มีฟลูออไรด์สูงมีกระจายอยู่บ้างในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

          ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน จะแนะนำให้เริ่มใช้เร็วหรือช้าขึ้นกับความเข้มข้นฟลูออไรด์ในน้ำดื่มดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องใช้ฟลูออไรด์ชนิดรับประทานเลยหากน้ำดื่มมีปริมาณฟลูออไรด์สูงกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร หากมีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มต่ำกว่า 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตรและมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง แต่ถ้าไม่ได้ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ให้เริ่มใช้ชนิดรับประทานตั้งแต่มีฟันขึ้น (อายุเฉลี่ย 6 เดือน) ปริมาณที่แนะนำจะเพิ่มขึ้นตามอายุในขวบปีแรก ซึ่งแนะนำเพียง 0.25 มิลลิกรัมฟลูออไรด์ต่อวันเท่านั้น เด็กสามารถรับประทานฟลูออไรด์ในขนาดที่แนะนำเพิ่มตามอายุต่อเนื่องไปได้จนถึงอายุ 16 ปี (ควรปรึกษาทันตบุคลากรเรื่องขนาดที่แนะนำเฉพาะบุคคล) เพราะเป็นวิธีที่ใช้ง่าย ในขณะเดียวกันเมื่อเด็กควบคุมการกลืนได้และบ้วนทิ้งเป็นก็สามารถเลือกใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่รูปแบบอื่นแทนได้ เช่น น้ำยาบ้วนปาก

          ยาน้ำหรือยาเม็ดฟลูออไรด์ สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยและส่งผลส่วนหนึ่งต่อเนื้อฟันที่กำลังสร้างตัว แต่ประโยชน์สูงสุดในการป้องกันฟันผุจะเกิดขณะที่สัมผัสผิวฟันขณะอมให้ละลายหรือเคี้ยวให้แตกอยู่ในช่องปากก่อนกลืน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.232 กุมภาพันธ์ 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกจะเริ่มรับฟลูออไรด์ เมื่อไหร่ดีนะ อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 11:58:41 35,862 อ่าน
TOP
x close