พัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกน้อยเริ่มใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เด็กแรกเกิดจะเริ่มใช้สายตาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เกิดมา การช่วยฝึกสายตาและการมองให้ลูกจะช่วยพัฒนาการลูกได้มากทีเดียว การมองไม่เหมือนกับการได้ยิน ซึ่งทารกเริ่มใช้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ดี ๆ จากนิตยสาร Modern Mom และวิธีสังเกตอาการผิดปกติของดวงตาลูกน้อย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี มาแนะนำกัน ^^
เช็คพัฒนาการดวงตา การมองเห็น วิธีกระตุ้นพัฒนาการตา และอาการผิดปกติทางสายตาของลูกแรกเกิด - 3 ปี
พัฒนาการการมองลูก มีตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ถ้าคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด มีโอกาสสูงที่ลูกที่เกิดมาจะมีประสาทตาฝ่อ มองไม่เห็นทั้ง 2 ตาเลย
ในปัจจุบันมีการค้นพบว่า หากในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่มีการกินยาแอสไพรินหรือยาแก้ปวดลดไข้ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ ทำให้น้ำหนักแรกเกิดน้อย ซึ่งก็ส่งผลต่อตาเช่นกัน อันดับแรกก็คือ อาจจะมีจอประสาทตาเสื่อม อันดับสองคือ พบภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง ตาเหล่ มากกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป
ดังนั้นอาหารที่แม่ตั้งครรภ์ควรกินเพื่อส่งเสริมพัฒนาการสายตาลูกในท้อง คือ อาหารที่ครบ 5 หมู่ สารอาหารที่สำคัญ คือ โฟเลต ถ้ามีการวางแผนที่จะเตรียมตัวมีลูกก็ควรเริ่มกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะโฟเลตมีผลต่อการผลิตท่อสมอง เมื่อเริ่มมีการปฏิสนธิ เซลล์ต่าง ๆ ก็จะเริ่มแตกตัว ฉะนั้นถ้าจะให้ดีเราควรกินโฟเลตแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ซึ่งมีโฟเลตสูง แล้วช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือ 2 สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิซึ่งตัวอ่อนกำลังมีการสร้างตัวและฟอร์มท่อสมองขึ้นมา ฉะนั้นหากกินโฟเลตหลังจากที่รู้ว่าตั้งครรภ์ อาจเลยช่วงเวลาทอง 2 สัปดาห์แรกมาแล้ว
กระตุ้นการมองเห็นของลูกแต่ละช่วงวัย
2-3 วันแรก
เด็กจะยังไม่มอง ไม่มีโฟกัส คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจไปเพราะ 2-3 วันแรกเด็กจะยังโฟกัสไม่ได้ เมื่อมองหน้าแม่ก็จะเห็นเป็นแบบราง ๆ เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการตรวจตาเด็กตั้งแต่วันแรกที่เด็กคลอดออกมา เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถตรวจพบภาวะต้อกระจกได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งถ้าต้อกระจกนี้เกิดขึ้นในเด็กแล้วจะส่งผลให้เด็กเกิดภาวะตาเหล่ ตาสั่น (ตาไม่อยู่นิ่ง สั่นตลอดเวลา) ภาวะตาขี้เกียจ หรือพัฒนาไปเป็นต้อหินได้
สัปดาห์แรก
เด็กจะมองเห็นเป็นสีเทา ๆ เห็นหน้าแม่ราง ๆ เราพบว่าถ้าแม่เลี้ยงลูกด้วยการให้นมแม่ ให้นมทางซ้ายบ้างทางขวาบ้าง โดยที่แม่ไม่ได้เปลี่ยนทรงผมมาก เด็กจะจำหน้าแม่ได้เร็ว แล้วสิ่งนั้นจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กมาก แล้วด้วยความที่เด็กยังมองเห็นไม่ชัด เป็นแค่โครงร่างสีเทา ๆ เมื่อเด็กเห็นโครงหน้าแม่แบบเดิม ๆ เขาก็จะจำได้ แล้วเมื่อมีคนอื่นที่ไม่ใช่แม่มาอุ้มเขาก็จะรู้ว่านี่ไม่ใช่แม่
กระตุ้นพัฒนาการลูก วิธีที่จะช่วยกระตุ้นการมองเห็นเมื่อแรกเกิดที่ดีคือแม่ควรเป็นคนเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แล้วก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ควรเปลี่ยนทรงผมบ่อย ควรทำทรงผมทรงเดิม ลูกจะจดจำได้ง่ายขึ้น
1 เดือน
ในช่วง 1 เดือนแรกลูกอาจมีอาการตาเหล่ได้นิดหน่อย ทั้งตาเหล่เข้าในและออกนอก แต่ภาวะนี้จะหายไปเองเมื่ออายุ 2- 3 เดือน ยกเว้นว่าเหล่แบบที่ตาดำหายไปเลย อาการนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์
กระตุ้นพัฒนาการลูก ควรตกแต่งห้องด้วยสีสว่าง ๆ แขวนปลาตะเพียนหรือโมบายที่เป็นสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว ซี่งเด็กจะสามารถมองเห็นได้ดี ให้ขยับไปขยับมาในระยะประมาณ 1 ฟุต จะเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของเด็กได้
2-3 เดือน
จากภาพที่เห็นลาง ๆ ก็จะเริ่มมองเห็นได้ดีขึ้น เริ่มเป็นรูปร่าง เริ่มกลอกตาซ้ายขวาได้ การมองเห็นก็จะเริ่มดีขึ้น ในช่วงวัยนี้เด็กควรจะมองหน้าแม่แล้ว พอแม่ยิ้มเขาควรจะยิ้มตอบ ภาวะตาเหล่นิดหน่อยที่เห็นในช่วงเดือนแรกควรจะหายไป ตาควรจะอยู่ตรงกลาง ไม่ควรมีอาการตาสั่น เพราะถ้ายังสั่นน่าจะมีพยาธิสภาพเกิดขึ้น อาจเกิดจากลูกตาหรือระบบประสาท ถ้ายังมีอาการอยู่ควรพาไปพบแพทย์
กระตุ้นพัฒนาการลูก ควรหาวัสดุใหม่ ๆ เข้ามาแต่งห้องให้มีสีสันเพิ่มมากขึ้น คุณแม่ควรจะพูดกับลูก เวลาเราเดินไปรอบ ๆ ห้องควรพูดกับเขาด้วย เพื่อฝึกเด็กในเรื่องการได้ยินและการมองตามคุณแม่
4-6 เดือน
เด็กจะเห็นภาพได้คมชัดดีใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ และมีพัฒนาการในการมองควบคู่กับการใช้มือหยิบจับ ในประเทศที่พัฒนาแล้วแนะนำให้เด็กได้รับการตรวจตา ถามว่าทำไมเด็กตัวแค่นี้ต้องตรวจตาด้วย เพราะอาจจะพบอุบัติการณ์ของมะเร็งจอตาได้ เพื่อการรักษาที่รวดเร็วหากเจอตั้งแต่เริ่มต้น ยังเป็นแค่จุดเล็ก ๆ เราสามารถรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ก็อาจจะหายได้
กระตุ้นพัฒนาการลูก ของเล่นต่าง ๆ ควรวางในระยะที่เขาเอื้อมถึงก็จะเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของเขา ทั้งฝึกการมองและกล้ามเนื้อของเขา แล้วเขาก็จะเรียนรู้พื้นผิวของเล่น ฉะนั้นของเล่นควรเลือกแบบพื้นผิวไม่เรียบ และสีก็เป็นแบบปราศจากสารพิษตกค้าง
7-12 เดือน
การมองเห็นเริ่มดีขึ้น ตา 2 ข้างเริ่มทำงานประสานกัน มีการทำงานของมือที่ประสานกับการทำงานของตาได้ดีขึ้น
กระตุ้นพัฒนาการลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ด้วยการคลานเล่นกับลูก แล้วก็หาของเล่นที่มีสีสันแต่ไม่แหลมคม เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อ เด็กก็จะรู้สึกสนุก และอยากที่จะเล่น เอาของเล่นวางไว้แล้วให้ลูกคลานไปหยิบก็เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้มีการเคลื่อนไหวด้วย
1-2 ขวบ
เด็กเริ่มหัดเดิน การมองเห็นต่าง ๆ ก็จะเริ่มดีขึ้น ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มาก แต่ช่วงวัยนี้สิ่งที่เราจะพบเจอได้บ่อยก็คือ ภาวะตาเหล่ ซึ่งเกิดจากภาวะสายตายาว ซึ่งถ้าพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อาจจะให้ใส่แว่นสายตาเพื่อปรับระยะการมองเห็น
2-3 ขวบ
เป็นช่วงวัยที่เด็กจะเริ่มแสดงความผิดปกติทางสายตาออกมาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยปัญหาสายตาในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1. กรรมพันธุ์ 2. สิ่งแวดล้อม
กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่สายตาสั้น ลูกมีโอกาสถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีสายตาสั้น
ส่วนสิ่งแวดล้อม เราพบว่าเด็กไทย จีน สิงคโปร์ ที่มีการเรียนแบบเข้มข้นมาก ต้องเรียนพิเศษเพื่อจะเข้าเรียน ป.1 เราพบว่าปัญหาสายตาของเด็กเอเชียมีมากกว่าเด็กฝรั่ง ของไทยนี่อาจจะเจอได้ถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับเด็กต่างชาติที่มีสายตาสั้นเพียง 20-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เพราะเขาเน้นการเรียนในห้องเรียนรู้นอกตำราและนอกห้องเรียนมากกว่า
ฉะนั้นเราพบว่า ถ้าการใช้ชีวิตด้วยการเรียนอย่างหนัก การเล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ ก็มีผลต่อการเกิดภาวะสายตาสั้นได้ ถามว่าอันตรายไหม ถ้าปัญหาสายตาสั้นนั้นไม่มาก คือไม่เกิน 1000 ก็ไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น ต้อหิน จอประสาทตาลอก
กระตุ้นพัฒนาการลูก เอารูปภาพสัตว์ต่าง ๆ มาเล่นกับลูก แม่นั่งอยู่ในระยะห่างระดับต่าง ๆ เปิดภาพแล้วให้ลูกตอบว่าเป็นสัตว์อะไร ดูว่าลูกสามารถตอบได้ถูกต้องหรือไม่ มองเห็นชัดหรือเปล่า
Checklist สัญญาณอันตรายสู่ปัญหาสายตา
น้ำตาไหลมาก ไหลตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเกิดจากท่อน้ำตาตัน หรือภาวะต้อหิน ภาวะหนังตาบวม เด็กที่คลอดออกมา โดยเฉพาะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องผ่านช่องคลอด หรือไม่ได้คลอดในห้องคลอดที่ถูกต้อง สิ่งสัมผัสที่สกปรกก็อาจทำให้เด็กเกิดการติดเชื้อที่ตาได้ ตาเหล่สู้แสงไม่ได้ เจอแสงน้ำตาไหลตลอดเวลาเห็นจุดขาว ๆ ในตาดำเด็กไม่ยอมลืมตาหรือลืมแค่ข้างเดียว อาจเกิดจากพัฒนาการของหนังตาที่พัฒนาได้ไม่ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก