เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์


การดูแลสุขภาพช่วงตั้งครรภ์ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกของลูกน้อยเติบใหญ่ได้ดี

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์เติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้ในการดูแลตนเองของแม่ตั้งครรภ์และการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องอาหารการกินรวมทั้งการดูแลสุขภาพของคุณแม่ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกของลูกน้อยเติบใหญ่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มาแนะนำกัน พร้อมแล้วไปดูเคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการจากนิตยสาร Modern Mom กันเลย ...^^

หน้าที่ของกล้ามเนื้อ

           กล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายของมนุษย์มีมากกว่า 600 ชิ้น มีขนาดและความเฉพาะในหน้าที่แตกต่างกันไปคือ ยึดติดกับกระดูกและข้อต่อ รวมทั้งเนื้อเยื่อที่ประสานหรือเชื่อมต่อกับอวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำงานได้อย่างเหมาะสม มีกล้ามเนื้ออยู่ 3 ประเภทคือ

         1. กล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscles) เป็นเนื้อเยื่อที่เป็นองค์ประกอบของร่างกายเสียส่วนใหญ่คือ 23% ของน้ำหนักตัวของผู้หญิง และ 40% ของน้ำหนักตัวของผู้ชายที่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว และอาจมากกว่านั้นถ้าเป็นนักกีฬาเช่น นักเพาะกาย นักยกน้ำหนัก กล้ามเนื้อประเภทนี้จะยึดเกาะติดกับกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ทำให้เราเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้ เราสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อประเภทนี้ได้ ตั้งแต่การทำงานของกล้ามเนื้อที่อาจไม่ซับซ้อน เช่น เดินยืน นั่งนอน หรือซับซ้อนละเอียดอ่อน เช่น กล้ามเนื้อของใบหน้าและลิ้น เพื่อแสดงสีหน้า และฝึกฝนการออกเสียงให้พูด ร้องเพลง และทำเสียงต่าง ๆ ได้ การฝึกฝนกล้ามเนื้อมือและนิ้วต่าง ๆ เพื่อการเขียนหนังสือ วาดภาพ เล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ เป็นต้น

         2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscles) เป็นองค์ประกอบของอวัยวะภายในทุกระบบ ซึ่งจะประกอบกับเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ เพื่อช่วยในการทำงาน เช่น ในกระเพาะอาหารและลำไส้ การหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อก็จะช่วยย่อยอาหารและทำให้กากอาหารเคลื่อนผ่านไปได้ การหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในท่อไตก็ช่วยขับปัสสาวะให้เคลื่อนไปได้เร็วขึ้น เป็นต้น

         3. กล้ามเนื้อของหัวใจ (Cardiac Muscles) มีความพิเศษเฉพาะตัวในการหดเกร็งตัวแบบปั๊มเลือดผ่านลิ้นหัวใจที่กั้นห้องต่างๆ ของหัวใจ ให้เกิดจังหวะสูบฉีดเลือดได้อย่างลงตัวและเหมาะสม

           กล้ามเนื้อทั้งกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจนี้อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ คือ เราไม่สามารถควบคุมหรือบังคับการทำงานของกล้ามเนื้อได้ และจะถูกควบคุมด้วยระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีสองระบบคือ ระบบในสภาพการทำงานที่ปกติ และระบบในสภาพที่มีการกระตุ้นจากสิ่งเร้า เพื่อปรับให้เกิดความสมดุลในการทำงานนั่นเองค่ะ

ระบบกระดูกสำคัญไม่แพ้กัน

           ส่วนระบบกระดูกนับจากกะโหลกศีรษะถึงกระดูกนิ้วเท้า ก็จะมีกล้ามเนื้อลายมายึดติดด้วยเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็น (Ligaments) ในบางตำแหน่งตามความเฉพาะของหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานของส่วนโครงสร้างนั้น ๆ แต่ทั้งระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เป็นโครงสร้างของร่างกายทั้งหมดจะถูกควบคุมการทำงานด้วยระบบประสาทที่แตกออกมาเป็นแขนงจากแนวกระดูกสันหลัง นับจากกระดูกต้นคอถึงก้นกบค่ะ และจะป้อนข้อมูลไปกลับที่สมองทั้งส่วนล่างและส่วนบน ให้สามารถควบคุมและฝึกฝนการทำงานของกล้ามเนื้อทุกส่วนได้อย่างลงตัว

ช่วงเวลาพัฒนาระบบ

4-5 สัปดาห์

           ความสมบูรณ์ของระบบสมองและไขกระดูกสันหลังของลูกในครรภ์เป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตและการพัฒนาของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกค่ะ ระบบนี้จะเริ่มต้นกำเนิดมาจากเซลล์ชั้นกลางในระยะตัวอ่อนตั้งแต่ 4-5 สัปดาห์


6-8 สัปดาห์

           เริ่มเห็นปุ่มแขนและขารวมทั้งนิ้วในช่วง 6-8 สัปดาห์ หลังไตรมาสที่ 2 สมองและระบบไขสันหลังจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเจริญอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน แต่การดิ้นของลูกในช่วงนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ แต่อย่างใด

28-34 สัปดาห์

           ช่วงนี้ประสาทสัมผัสของลูกจะเริ่มสมบูรณ์เต็มที่ทำให้มีการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง และอารมณ์ของคุณแม่ ฯลฯ จึงเป็นช่วงที่สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกในครรภ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อค่ะ เช่น การเล่านิทาน พูดคุย ร้องเพลง ฟังเพลง เป็นต้น ลูกจะจดจำและตอบสนองอย่างพึงพอใจได้ และพบว่าสามารถกระตุ้นเซลล์สมองของลูกให้มีเครือข่ายของเส้นใยสมองมากขึ้นได้

           ส่วนความพิการในระบบนี้ที่พบบ่อยคือ ท่อระบบประสาทไม่ปิด ทำให้ลูกขับถ่ายเองไม่ได้ เกิดจากคุณแม่ขาดธาตุโฟเลตที่มีอยู่มากในผักใบเขียว คุณแม่ในเมืองหนาวที่ไม่ค่อยมีผักใบเขียว จึงต้องรับประทานโฟเลตวันละ 1 เม็ด 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ส่วนความพิการของกล้ามเนื้อที่เกิดจากไวรัสโปลิโอก็ไม่พบแล้วในปัจจุบัน เพราะมีการรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอกันมานานกว่า 20 ปีแล้วค่ะ และความพิการแต่กำเนิดของกล้ามเนื้อและกระดูกที่รุนแรงบางโรคและอาจเสียชีวิตหลังคลอด ก็พบได้น้อยมาก ๆ โดยเฉพาะคนไทย

เสริมสร้างระบบสมองและไขสันหลัง

           ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรรับประทานอาหารที่เสริมสร้างทั้งระบบสมองและไขสันหลัง รวมถึงระบบกล้ามเนื้อและกระดูกให้เพียงพอ

           โปรตีนและแคลเซียม โปรตีนชั้นดีได้แก่ ไข่ขาววันละ 2-3 ฟอง เนื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะปลาทะเลซึ่งมีสาร DHA ที่เสริมสร้างสมองและไขสันหลังของลูก ส่วนเนื้อหมูก็มีวิตามินบีมากช่วยบำรุงระบบประสาท นมก็มีทั้งโปรตีนและแคลเซียมสูง ช่วยทั้งกระดูกและฟัน คุณแม่ควรดื่มชนิดไขมันต่ำวันละ 1-1ลิตรครึ่งค่ะ

           โฟเลต ผักใบเขียวมีโฟเลตปริมาณมากค่ะ ช่วยป้องกันความพิการของระบบประสาทได้ มีรายงานว่าความสูงของมนุษย์เริ่มตั้งแต่ในครรภ์คุณแม่ค่ะ นักฟุตบอลญี่ปุ่นสามารถไปเล่นบอลโลกได้เพราะมีการรณรงค์กันเมื่อ 20 ปีที่แล้วให้คุณแม่ชาวญี่ปุ่นดื่มนมกันวันละ 1.5 ลิตรจนคลอด น่าลองนะคะถ้าอยากให้ลูกหุ่นดีตัวสูงใหญ่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากค่ะ


       
    
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 16:12:45 3,921 อ่าน
TOP
x close