เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาวะโรคเลือดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกออยู่ในครรภ์ และเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ขาดสาร ขาดธาตุเหล็ก ขาดโปรตีน เป็นต้น รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส ส่วนจะมีอาการอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอม จะพาไปสังเกตอาการลูกน้อยจากนิตยสารM&C แม่และเด็ก พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกน้อยเป็นโรคเลือด มาแนะนำกัน ...
เมื่อเอ่ยถึงโรคเลือดในเด็ก หลายคนจะนึกถึงธาลัสชีเมีย ฮีโมฟีเลีย และลูคีเมีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคเลือดในเด็กมีอยู่มากเป็นร้อยโรค และเกิดได้ตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคเลือดในเด็กมักจะเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคทางระบบอิมมูนหรือภูมิคุ้มกันมากเกิน และสาเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น การขาดสารอาหารบางอย่างทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ เช่น ขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิค วิตามินบี 12 สังกะสี ทองแดง ขาดโปรตีน รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต ทำให้มีอาการแสดงทางโรคเลือดได้
โรคเลือดจากแม่สู่ลูก
โรคเลือดเกิดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ เช่น ธาลัสซีเมีย ทารกจะมีเม็ดเลือดแดงแตกตั้งแต่ในครรภ์มารดา เด็กจะตัวบวมน้ำ เลือดจาง รกและสายสะดือใหญ่มาก มารดาจะแสดงอาการครรภ์เป็นพิษ เมื่อคลอดเด็กออกมา ทารกจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะเม็ดเลือดแดงไม่สามารถจะปล่อยออกซิเจนให้กับอวัยวะต่าง ๆ ได้ เด็กจะตายคลอดเพราะขาดออกซิเจน
นอกจากนี้ยังมีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากเลือดแม่ลูกเข้ากันไม่ได้ ทำให้ทารกเกิดเลือดจาง ตัวบวมน้ำ เป็นดีซ่าน แม่มีอาการของครรภ์เป็นพิษ โรคนี้เกิดได้ตั้งแต่การตั้งครรภ์แรก อาการจะเกิดหลังคลอดแล้ว คือทารกมักจะตัวเหลืองมากตั้งแต่วันแรกของชีวิต ถ้าเหลืองมากและเหลืองเร็ว อาจต้องถ่ายเลือดเพื่อลดภาวะดีซ่านและเพิ่มเม็ดเลือดแดงเพื่อไม่ให้เลือดจาง แต่ถ้าอาการไม่มากก็แค่ส่องไฟตลอด 24 ชั่วโมง นาน 2-7 วันแล้วแต่ความรุนแรงของโรค โรคนี้จะหายไปเองใน 2 สัปดาห์
เลือดข้นและเกล็ดเลือดต่ำ
ภาวะเลือดข้นในทารกแรกเกิดหรือโรคเลือดหนืด คือ ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงมาก และมีน้ำเลือดน้อย มักเกิดในแม่ที่มีภาวะรกเสื่อมนำอาหารไปสู่ทากรน้อย ทำให้ทารกต้องสร้างเม็ดเลือดจำนวนมากขึ้น เพื่อนำพาอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของตนเอง หรือตอนคลอดแม่มีการถ่ายเลือดเข้าตัวลูกมากไป หรือการที่มีลูกฝาแฝด พี่กับน้องมีการถ่ายเลือดให้กัน ทำให้ทารกที่ได้รับเลือดมากเป็นโรคเลือดหนืด และทารกที่ถ่ายเลือดให้ทารกอีกคนเป็นโรคเลือดจาง ภาวะเลือดหนืดทำให้เลือดวิ่งผ่านเส้นเลือดเล็ก ๆ ตามร่างกายได้ไม่ดี ทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่ได้
ส่วนภาวะเกล็ดเลือดต่ำตอนแรกเกิด อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ในแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเอสแอลอีหรือโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันตนเอง อาจคลอดลูกที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เพราะแม่ที่มีโรคนี้จะมีสารที่ทำลายเกล็ดเลือดตนเอง และส่งสารเหล่านั้นผ่านรกมาเพื่อทำลายเกล็ดเลือดของลูกได้
การสังเกตลูกน้อย
การตรวจสอบว่าลูกมีโรคเลือดหรือไม่ ก็ดูได้ตั้งแต่ว่าลูกขีดเหลืองหรือเปล่า ถ้ามีจ้ำเลือดตามตัวหลายที่หรือจ้ำเลือดเหล่านั้นมีไตแข็ง ๆ อยู่ใต้ผิวที่ซ้ำ จุดเลือดออกเล็ก ๆ ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดตามแขนขามากกว่าสิบจุดขึ้นไป มีเลือดกำเดาไหลบ่อย หรือมีเลือดกำเดาไหลแล้วหยุดยากใช้เวลานานกว่าสิบห้านาที ทั้งที่พยายามกดให้เลือดหยุดไหลแล้ว คลำท้องลูกตอนนอนแล้วพบมีก้อนในท้อง ควรพามาตรวจที่โรงพยาบาลทันทีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 515 มกราคม 2558