อาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยง ! เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมื่อตั้งครรภ์หน้าท้องคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น และดึงรั้งแนวกระดูกสันหลังทำให้เกิดอาการปวดหลัง และอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ ส่วนอาการโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะเป็นอย่างไร และความเสี่ยงเกิดจากอะไร วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีวิธีสังเกตอาการโรคหมอนรองกระดูกจากนิตยสารรักลูก มาฝากกัน
อาการปวดหลังในคุณแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติที่ทนได้ เพราะหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้นไปดึงรั้งแนวกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดปวดหลัง แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรง อาจเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้นะคะ
ปวดหลัง เรื่องธรรมดาของแม่ตั้งครรภ์
อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์ แสดงว่าลูกในครรภ์กำลังเจริญเติบโตจนทำให้มดลูก และหน้าท้องยืดขยายค่ะ โดยส่วนมากมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์จากปัจจัยต่อไปนี้
1. น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของลูก โดยหน้าท้องของแม่จะยืดและโย้ไปข้างหน้า กล้ามเนื้อหลัง และกระดูกสันหลังต้องประคับประคองน้ำหนักของท้อง จึงทำให้เกิดอาการปวดหลัง
2. ท่าและการทรงตัวเปลี่ยนไป เมื่อท้องโย้ไปข้างหน้า จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายคุณแม่ก็เปลี่ยนไป ร่างกายจึงต้องปรับท่าและการทรงตัวเพื่อให้คุณแม่เดิน ยืน ได้อย่างสมดุล ไม่ล้ม การปรับในส่วนของกล้ามเนื้อและกระดูกเกิดขึ้น โดยที่คุณแม่อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งมารู้สึกอีกทีก็ตอนมีอาการปวดหลังแล้ว
3. ฮอร์โมนเปลี่ยนไป ระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนชื่อ Relaxin ซึ่งทำให้เส้นเอ็นและข้อต่อยืดหลวมเพื่อเปิดช่องทางคลอด ฮอร์โมนตัวนี้ส่งผลให้เส้นเอ็นและข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังยืดหลวมได้ด้วย ทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องปรับตัวสอดรับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้ นำมาสู่อาการปวดหลังได้ในที่สุด
4. กล้ามเนื้อแยกตัว เมื่อมดลูกยืดขยายใหญ่ขึ้น ไปดันกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วน Rectus Abdomins ที่อยู่แนวกลางตัวให้แยกออก ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังต้องปรับตัวสอดรับและอาจทำให้ปวดหลังได้
5. ความเครียด ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการตึงตัว ทั้งกล้ามเนื้อท้ายทอย กล้ามเนื้อหลังส่วนบนและล่าง จึงทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
ปวดหลังแบบนี้ อาจเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
มีอาการปวดหลังร้าวลงก้น ร้าวลงขารุนแรงอย่างฉับพลัน อาจปวดข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยเฉพาะตอนนั่งมักจะนั่งงอตัวไปด้านหน้า ซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุด เนื่องจากกดทับเส้นประสาท จึงปวดตั้งแต่บริเวณเอว ต้นขา น่อง ไปจนถึงเท้าและนิ้วเท้าได้ และอาจพบว่ากล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทที่ถูกกดทับนั้นอ่อนแรงลงด้วย
เคล็ดลับ แก้ปวดหลังในแม่ตั้งครรภ์
ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลัง โดยจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
ประคบร้อน บริเวณกล้ามเนื้อหลังที่เกร็งตัว ช่วยลดอาการปวดและเกร็งได้
จัดท่านั่ง เดิน ทำงาน หรือนอน ให้ถูกต้อง เช่น นอนตะแคงซ้าย เอาหมอนหนุนระหว่างเข่าสองข้างจะช่วยลดการตึงของหลัง เวลานั่ง ควรนั่งหลังตรง โดยวางหมอน หรือผ้าขนหนูม้วนเพื่อพยุงหลัง
ปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดรุนแรง ควรพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
แม่ตั้งครรภ์กับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากการที่หมอนรงกระดูกสันหลังของเราปลิ้น โป่งออกมาจากแนวกระดูกสันหลังจนไปเบียดทับเส้นประสาทรอบ ๆ แนวกระดูกสันหลัง หรือเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกอาจฉีกขาดจนทำให้ของเหลวที่มีลักษณะคล้ายเจลที่อยู่ภายในไปกดทับเสนประสาทโดยรอบ
สาเหตุเกิดจาก หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดเสื่อมจากการใช้งาน เช่น ถูกกดทับจากน้ำหนักมากขึ้นอย่างรวดเร็วช่องท้องยืดขยาย เพราะลูกเจริญเติบโตมีขนาดตัวใหญ่มากขึ้น ทำให้หมอนรองกระดูกอ่อนแอ จนปลิ้นออกมาได้
ในกรณีที่ปวดหลังไม่รุนแรง คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนใหม่ โดยพบนักกายภาพบำบัดเพื่อประคบหลังตำแหน่งที่ปวด ช่วยจัดท่าและการทรงตัวที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง อาจต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 384 มกราคม 2558