หลังขวบปีแรกลูกน้อยควรเลิกนมขวด เพื่อสุขภาพปากและฟันที่ดี
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมคุณพ่อคุณแม่ที่ยังปวดหัวเรื่องการเลิกนมขวดของลูกน้อยไม่ได้ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีทริคดี ๆ จากนิตยสาร M&C แม่และเด็ก มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่กับ 3 วิธี ที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพปากและฟันที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้องมีความหนักแน่น และไม่หงุดหงิด ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป รับรองว่าลูก ๆ จะต้องเลิกนมขวดได้แน่ ๆ ค่ะ พร้อมแล้วไปลุยกันเลย ^^
ปกติแล้วควรให้เด็กเลิกนมขวดเมื่ออายุ 1 ปี หรือก่อน 2 ปี แต่ก็ยังพบว่าเกือบครึ่งของเด็กอายุ 2-3 ปี ก็ยังดูดนมจากขวดอยู่ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังทำให้ลูกเลิกดูดนมจากขวดไม่สำเร็จ น.พ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของคอลัมน์จิตวิทยาลูกรัก มีเคล็ดลับมาฝากค่ะ
1. วิธีเลิกแบบทันทีทันใด
เหมาะกับเด็กที่ค่อย ๆ ยอมเลิกขวดนมบ้างแล้วและไม่ค่อยสนใจขวดนมมากนัก เช่น ยังดูดขวด เพียงวัยละ 1-2 มื้อ หรือ กรณีที่ติดขวดแล้วและลองใช้วิธี แบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ไม่ได้ผล
บอกให้เด็กรู้ล่วงหน้า อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนจะถึงเวลาให้เลิกใช้ขวดนม เช่นบอกว่า หนูโตแล้วถึงเวลาทิ้งขวด เลิกดูดขวดนม
บอกเด็กทุกวันว่าอีกไม่นานหนูจะไม่ต้องใช้ขวดนมอีกแล้วนะ
เมื่อถึงเวลาเก็บขวดนม ต้องเก็บให้พันสายตาเด็ก แนะนำให้เก็บขวดนมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับนมขวด เช่น จุกนม ที่นึ่งขวดนม เข้าตู้หรือเข้าห้องเก็บของให้ลูกเห็น หรือให้เด็กช่วยแม่เก็บขวดนมใส่ถุงนำไปบริจาค หรือเอาไปทิ้งถังขยะ เขาจะได้ทราบว่าต้องตัดใจจากนมขวดจริง ๆ และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะทำ
ให้รางวัลเด็กเมื่อไม่ดูดขวดนมตลอดวันหรือตลอดคืนที่ผ่านมา
เตรียมน้ำหรือน้ำผลไม้ใส่แก้ว พร้อมสำหรับเด็กดื่มเมื่อเด็กร้องหาขวดนม
ให้เด็กมีสิ่งของทดแทนขวดนม อาจเป็นตุ๊กตาหรือของเล่นที่ชอบ เอาไว้กอดเมื่อคิดถึงขวดนม
2. แบบทดแทน
เหมาะกับเด็กที่ติดขวด แต่ไม่ถือขวดนมติดตัวไปมา ไม่หลับคาขวดนม เด็กที่เริ่มใช้แก้ว ขณะทานอาหาร หรืออาหารว่างบ้างแล้ว
ใช้แก้วหัดดื่มทั้งกับนม น้ำดื่มและน้ำผลไม้ เพื่อให้เด็กคุ้นเคย
เริ่มฝึกอายุ 6 เดือน ใช้แก้วหัดดื่ม อาจให้เด็กเล่นแก้วหัดดื่มจนคุ้นเคยก่อน
การฝึกเด็กใช้แก้ว เริ่มจากให้เด็กฝึกจับแก้วเปล่าใบเล็ก ๆ พ่อแม่ยกแก้วจรดปากดื่ม ให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง
ใส่น้ำปริมาณน้อย ๆ ให้เด็กฝึกจิบก่อน ระยะแรกเด็กอาจยังสำลักหรือทำน้ำหกบ้าง
ให้เด็กใช้แก้วขณะรับประทานอาหารทุกมื้อ ไม่ใช่ใช้เฉพาะเมื่อถึงมื้อนม
ไม่ให้เด็กถือขวดนมติดตัว
3. แบบค่อยเป็นค่อยไป
เหมาะกับเด็กที่ติดขวดนมไปแล้ว ส่วนใหญ่จะได้ผลใน 3 สัปดาห์ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป
ค่อย ๆ ลดขวดนมทีละน้อย ทีละ 1 ขวด ทุก 2-4 วัน โดยให้ดื่มนมจากแก้วแทน
ค่อย ๆ ลดนมทีละขวด ค่อย ๆ ลดมื้อที่ไม่สำคัญก่อน เช่น มื้อกลางวัน หรือมื้อดึก หลังเที่ยงคืน
ค่อย ๆ ลดปริมาณนมมื้อดึก จาก 8 ออนซ์ เหลือ 4 ออนซ์ จนงดได้ในที่สุด
หากเด็กงอแงอาจใส่น้ำให้เด็กดูดแทนนมในช่วงมื้อก่อนนอนหรือกลางวัน โดยในคืนแรก ๆ อาจให้ลูกกินนมก่อนนอนโดยกินจากแก้วหรือดูดหลอด แต่ยังอนุญาตให้ลูกดูดขวดนมที่ใส่น้ำเปล่าจนหลับได้ เพราะเด็กที่ติดขวดนมส่วนใหญ่ต้องการดูดขวดนมก็เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองหลับ หลังจากนั้นอีก 2-3 คืนจึงค่อย ๆ ให้เลิกดูดขวดนมไป
หากเด็กยังงอแงอีก อาจใช้วิธีขยายจุกนมให้รูกว้างขึ้น เพื่อให้เด็กระมัดระวังการดูดมากขึ้น ไม่สามารถนอนดูดสบาย ๆ เหมือนก่อน แต่ต้องไม่กว้างจนเด็กสำลัก
ระหว่างการหย่าขวดนม อาจดึงดูดความสนใจเด็ก โดยให้เลือกแก้วสวย ๆ ตกแต่งแก้วเอง ใช้หลอดแบบแปลก ๆ
ทั้ง 3 วิธี ต้องการความหนักแน่น มั่นคงจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกร้องขอขวดนม ต้องคิดในใจว่าเราไม่ได้ทำร้ายจิตใจเขา แต่กำลังจะช่วยให้เขามีสุขภาพปากและฟันที่ดีขึ้น และเมื่อลูกยิ่งโตขึ้นเท่าใดก็ยิ่งเลิกยากขึ้นเท่านั้น ระหว่างการฝึกควรกอดเด็กเพิ่มเป็นพิเศษ และต้องขอความร่วมมือจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านด้วย เนื่องจากเด็กอาจร้องไห้งอแง หรือหงุดหงิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 515 มกราคม 2558