โรคแพ้นมวัวเกิดขึ้นได้อย่างไร เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เรื่อง นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา
โรคแพ้นมวัว โรคคุ้นหูที่เคยได้ยินมาบ่อย ๆ แต่ก็ไม่รู้ลึกจริง ๆ สักที ว่าโรคนี้อันตรายแค่ไหน และสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ จากหนังสือhappy+ มาฝากเพื่อน ๆ กันด้วยค่ะ ว่าแล้วเรามาดูกันเลยดีกว่า...
นมวัวถือเป็นอาหารที่นิยมดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ ทั้งการเสริมโปรตีนในเด็ก การเสริมแคลเซียมและวิตามินเพื่อบำรุงรักษากระดูก และยังเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด
ท่ามกลางการใช้นมอย่างแพร่หลายนั้น มีโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย นั่นก็คือ โรคแพ้นมวัว โรคนี้คืออะไร อันตรายแค่ไหน และเกิดขึ้นได้กับใคร เรามาดูกันครับ
โรคแพ้นมวัวคือ โรคที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานอย่างผิดปกติ ต่อต้านโปรตีนที่มีอยู่ในนมวัว โรคนี้เกิดได้กับคนทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในเด็กทารกในช่วงสองขวบปีแรก โดยเฉพาะเด็กทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ แต่มากินนมผสมซึ่งมีส่วนประกอบของนมวัว โดยจะเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ตั้งแต่อาการที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น หอบหืดหรือแพ้รุนแรง ไปจนถึงอาการที่ไม่รุนแรงหรือชัดเจน เช่น ผื่นภูมิแพ้ ปวดท้อง ท้องเสีย
กลไกการเกิดโรค
เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อโปรตีนที่มีในนมวัวขึ้นมา โดยโปรตีนที่แพ้มักจะเป็น เคซีน เวย์ และเบต้าแล็กโตโกลบูลิน ซึ่งมีอยู่ในนมวัว แต่การแพ้จะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่ก่อให้เกิดการแพ้เป็นชนิดใด
โรคนี้พบได้บ่อยในลูกที่มีพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ และพบว่าเด็กที่ภูมิต้านทานผิดปกติจนเกิดการแพ้นมวัวก็มักจะมีภาวะแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการ
อาการของเด็กที่แพ้นมวัว แบ่งได้เป็นแบบรุนแรงและไม่รุนแรง
ชนิดรุนแรง : เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นรวดเร็วและเฉียบพลัน โดยอาการจะมีหน้าบวม ช่องปากและคอบวม ทางเดินหายใจตีบ หายใจลำบาก เหนื่อย ความดันโลหิตต่ำ อาจจะมีผื่นแดงคันตามตัว ท้องเสีย อาเจียนร่วมด้วย ในกรณีที่แพ้รุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาจจะเกิดภาวะขาดอากาศหายใจตามหลังการบวมของหลอดลม หรือความดันโลหิตต่ำจนอวัยวะล้มเหลว เสียชีวิตได้ การแพ้ชนิดรุนแรงแบบนี้น่ากลัวมาก แต่ก็ไม่ได้พบบ่อย
ชนิดไม่รุนแรง : อาการที่เกิดขึ้นมักจะช้าและสังเกตยาก อาการอาจจะเกิดตามหลังการกินนมเข้าไปเป็นวัน ๆ โดยอาการที่พบได้บ่อยมักจะแบ่งเป็นอาการทางผิวหนังและทางเดินอาหาร
อาหารในระบบทางเดินอาหาร : เกิดได้ตั้งแต่ทางเดินอาหารส่วนต้นคือ หลอดอาหาร ไปจนถึงส่วนปลายคือ ทวารหนัก มีตั้งแต่การอาเจียนหลังจากกินนมเข้าไป อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อุจจาระเป็นมูกเลือด ในบางกรณีการอักเสบในทางเดินอาหารจะทำให้การดูดซึมผิดปกติ เด็กอาจจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ทั้งที่ได้กินนมตามปกติ
อาการที่ผิวหนัง : เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้หลายชนิด มีตั้งแต่ผิวแดงคัน ผิวขึ้นเป็นตุ่มมีน้ำอยู่ภายใน แผลผิวหนังอักเสบเป็นสะเก็ด หรือเกิดภาวะผิวแพ้ง่าย
อาการทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง อาจจะเกิดในคนเดียวกัน พร้อมกันได้ขึ้นอยู่กับชนิดของภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
แล้วจะตรวจอย่างไร
เมื่อพบว่าลูกมีอาการผิดปกติตามอาการที่เกิดขึ้นเพื่อแยกว่าเป็นโรคอื่น ๆ หรือไม่ และเมื่อสงสัยว่าจะเป็นภาวะแพ้นมวัว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการชนิดต่าง ๆ ได้แก่ การทดสอบผิวหนังหาโรคภูมิแพ้ การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณแอนติบอดีก่อภูมิแพ้ต่อโปรตีนนมวัว การตรวจอุจจาระ หรือการให้ทดลองกินนมภายใต้การดูแลของแพทย์ภูมิแพ้
การรักษา
1. งดนมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
เมื่อพบว่าแพ้นมวัว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การงดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกกชนิด นอกจากนมวัวหรือนมผงทั่วไปที่จะต้องงดแล้ว ต้องสังเกตฉลากของอาหารแต่ละชนิดว่ามีนมเป็นส่วนประกอบหรือไม่ การสังเกตต้องสังเกตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่ออื่น แต่ทำมาจากนม ได้แก่ เนย (Butter) เคซีน (Casein) ชีส (Cheese)
ทั้งนี้ หากการแพ้นมวัวเกิดขึ้นขณะที่ลูกยังกินนมมารดาอยู่ ตัวมารดาเองก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มดังกล่าวด้วย เพราะว่าโปรตีนจากนมในอาหารก็สามารถผ่านเข้าไปในน้ำนมและส่งต่อไปถึงลูกได้เช่นกัน และในบางกรณีที่การแพ้นมชนิดรุนแรง แพทย์อาจจะแนะนำให้ทุกคนในบ้านหลีกเลี่ยงการนำอาหารที่มีส่วนผสมของนมและผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำมาจากนมเข้ามาในบ้านด้วย
2. การปรับเปลี่ยนนม
เนื่องจากผู้ป่วยที่แพ้นมส่วนมากจะเป็นเด็ก อาหารที่รับประทานมักจะยังต้องใช้นมเป็นส่วนประกอบ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนที่เด็กกินเป็นชนิดที่ไม่ได้ทำจากนมวัว
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้นมวัวจริง ๆ โดยมากแพทย์มักแนะนำให้ใช้นมสูตรพิเศษซึ่งมีการดัดแปลงโมเลกุลของโปรตีนในนม โดยชนิดแรกคือนม Extensively Hydrolyzed Formula เป็นนมที่ใช้เอนไซม์ไปย่อยสลายโปรตีนในนมให้มีโมเลกุลเล็กลง ทำให้การเกิดภูมิแพ้ต่อโปรตีนนมวัวลดลง ซึ่งหากใช้แล้วยังมีอาการแพ้อยู่ แพทย์ก็จะเปลี่ยนไปใช้นมอีกชนิดที่เรียกว่า Amino Acid-based Formula เป็นนมที่โปรตีนถูกย่อยสลายลงจนกลายเป็นกรดอะมิโนพร้อมดูดซึม ไม่เหลือสภาพความเป็นโปรตีนอีกเลย
ทั้งนี้ นมสูตรพิเศษทั้งสองชนิดที่กล่าวมามีรสชาติขมซึ่งเด็กบางคนอาจจะไม่ชอบ และราคาค่อนข้างสูงทางเลือกอื่นที่อาจจะทำได้ก็คือ การใช้นมที่ทำจากถั่วเหลือง ซึ่งสมัยก่อนมักใช้เป็นทางเลือกต้น ๆ ในการรักษาผู้ป่วยแพ้นมวัว แต่ปัญหาก็คือ ในผู้ป่วยที่แพ้นมวัวประมาณ 1 ใน 3 จะแพ้นมที่ทำจากถั่วเหลืองด้วย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนมาใช้นมชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย
สำหรับนมที่มาจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วัว มักไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ เนื่องจากเด็กที่แพ้นมวัวก็ยังมีโอกาสแพ้โปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ และนอกจากนั้นยังมีสารอาหารที่มักไม่เหมาะในการเลี้ยงทารก
3. การปรับเปลี่ยนอาหารอื่น ๆ
ในเด็กที่เริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่นได้ พ่อแม่อาจจะให้รับประทานอาหารอื่นเพื่อทดแทนนม ซึ่งต้องตระหนักไว้เสมอว่าเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัว มักจะไม่แพ้อาหารแค่นมวัวเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศพบว่าเด็กที่แพ้นมวัวเพียงอย่างเดียวมีเพียง 10% ของเด็กที่แพ้นมวัวทั้งหมด ที่เหลืออีก 90% มักจะแพ้ไข่ขาว แพ้ถั่วลิสง หรือแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย
ดังนั้นในการเลือกอาหารให้เด็กรับประทาน ควรเลือกอาหารที่มีโอกาสแพ้น้อยให้รับประทานก่อน ได้แก่ กล้วย ข้าว เนื้อสัตว์ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสแพ้ได้ง่าย เช่น ไข่ขาว ถั่วลิสง อาหารทะเล แอปเปิล
4. การใช้ยา
ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้นมวัวมีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ความดันต่ำหลอดลมตีบ หรือบวมอย่างรุนแรงแพทย์จะแนะนำให้มีการพกยาฉีดรักษาภาวะแพ้รุนแรงติดตัว (ในต่างประเทศจะเป็นเข็มสำเร็จรูปที่ฉีดยาได้แบบอัตโนมัติ แต่ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นแพทย์อาจจะให้ใช้เข็มฉีดยาแบบปกติและตัวยาพกติดตัวไว้)
ยากินและยาทาแก้แพ้ ใช้ในกรณีการแพ้ไม่รุนแรงที่มีอาการทางผิวหนัง ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองใช้ยาแก้แพ้ชนิดกินโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่มีประวัติการแพ้แบบรุนแรง เนื่องจากจะทำให้บดบังอาการจนทำให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไปได้
จะแพ้นมวัวจนถึงเมื่อไหร่
พ่อแม่มักจะกังวลเรื่องการแพ้นมวัว เนื่องจากในปัจจุบันนมวัวเป็นส่วนประกอบของอาหารและขนมหลายชนิด การแพ้นมวัวจัดเป็นการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยและเกิดเร็วกว่าการแพ้อาหารชนิดอื่น แต่ก็พบว่าเด็กที่แพ้นมวัวจะหายจากการแพ้ได้มากกว่าการแพ้อาหารชนิดอื่นเช่นกัน
ในเด็กที่แพ้นมวัว แพทย์มักจะให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของนมและผลิตภัณฑ์จากนมอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นจะประเมินซ้ำ ในกรณีที่การแพ้เป็นชนิดไม่รุนแรง แพทย์อาจจะให้ทดลองกินเข้าไปใหม่พบว่าเด็กที่ไม่ได้สัมผัสหรือรับประทานอาหารที่แพ้เป็นเวลา 1-2 ปี ก็มักจะหายจากอาการแพ้ได้
แต่ทั้งนี้ ก่อนจะให้กลับไปรับประทานใหม่ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ควบคุมดูแล เพราะว่าการแพ้และความรุนแรงในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ไม่ควรทดลองเองที่บ้านเพราะว่าอาจเกิดอันตรายได้
แพ้โปรตีนนมวัวแล้วจะแพ้เนื้อวัวไหม
เนื่องจากสมัยก่อนมีการเรียกการแพ้นมวัวว่า "แพ้โปรตีนวัว" ทำให้บางครั้งเกิดความกังวลว่าการกินเนื้อวัวก็อาจกระตุ้นการแพ้ได้เหมือนกับการดื่มนม ทั้งนี้ พบว่าส่วนมากของผู้ที่แพ้นมวัวจะกินเนื้อวัวได้ ยกเว้นในกลุ่มที่แพ้อย่างรุนแรง ซึ่งจะมีประมาณ 10% ในกลุ่มนี้ที่แพ้เนื้อวัวด้วย ซึ่งอัตราการแพ้จะลดลงอีกหากเนื้อวัวที่รับประทานถูกทำให้สุกดังนั้นหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามแพทย์ภูมิแพ้ที่ดูแล และปรุงเนื้อวัวให้สุกทุกครั้งที่รับประทาน
กินนมแล้วท้องเสียหรือปวดมวนท้องหลังกินนมจะเป็นโรคแพ้นมวัวหรือเปล่า
หลาย ๆ คนโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ไม่ได้กินนมวัวมานาน ๆ เมื่อไปกินนมวัวก็จะเกิดอาการท้องอืด ลมในท้องมาก ปวดท้องเหมือนจะท้องเสีย จากนั้นก็ถ่ายเหลว 1-2 ครั้ง แล้วก็ไม่มีอาการอีก และจะไม่มีอาการเดียวกันเมื่อรับประทานอาหารที่ทำจากนมชนิดอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว หากเป็นอาการแบบนี้มักจะไม่ใช่อาการแพ้นม แต่เป็นอาการของการขาดเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแล็กโทสซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนเอเชียและผู้ใหญ่
สำหรับเด็กทารกก็พบภาวะนี้ได้บ่อย ซึ่งเด็กจะมีอาการที่แยกจากภาวะแพ้นมวัวได้ยาก ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้ตรวจและวินิจฉัย ซึ่งหากพบว่าเป็นการขาดเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแล็กโทสแล้ว แพทย์ก็มักจะให้มารดาปรับวิธีการให้นม อาจจะให้บีบนมส่วนต้นซึ่งน้ำตาลแล็กโทสมากทิ้งไปก่อนแล้วให้ลูกกินนมส่วนกลางและนมส่วนท้าย ถ้าทารกสามารถกินได้โดยไม่เกิดอาการอีก ไม่มีความจำเป็นต้องงดนมแม่ครับ
ภาวะแพ้นมวัวนี้เป็นภาวะที่พบได้พอสมควร มีตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงอาการที่รุนแรงถึงชีวิต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนจะต้องสังเกตลูกน้อย การให้กินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียว จะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็กทารกในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งสามารถลดความเสี่ยงของภาวะนี้ลงได้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
No.025 ธันวาคม 2557