พัฒนาการการแสดงออก อีกการเรียนรู้ที่ต้องฝึกฝน

พัฒนาการเด็ก
มาดูเคล็ดลับที่ช่วยให้ลูกน้องแสดงออกทางอารมณ์ได้ดีกันดีกว่า

พัฒนาการ “การแสดงออก” อีกการเรียนรู้ที่ต้องฝึกฝน (modernmom)
เรื่อง : กิ่งกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์

          เคยไหมคะที่รู้สึกว่า ลูกน้อยทำท่าทางเหมือนไม่สบายตัวแต่ดูไม่ออกว่าเป็นอะไร หรือมีเรื่องไม่สบายใจ แต่ไม่ยอมพูด ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจว่าจะแก้ไขให้ลูกกลับมาร่าเริงและสบายดีได้อย่างไร "พัฒนาการการแสดงออก" เป็นหนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพัฒนาการในด้านอื่น ๆ เพราะการแสดงออกของเด็กนั้น เป็นตัวสะท้อนความสมบูรณ์ของสมองและเป็นตัวชี้วัดถึงความฉลาดทางอารมณ์

          เดิมทีนั้นอาจมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กที่ว่า เด็กที่พูดมาก ร้องบ่อย เป็นเด็กเลี้ยงยาก แต่เด็กที่เรียบร้อย ไม่ค่อยพูดมักเข้าใจว่าเป็นเด็กที่สมบูรณ์ดี ทั้งที่จริงแล้วเด็กที่มีการแสดงออกอย่างสม่ำเสมอนั้นมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากมีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ถึงความต้องการและได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมต่างจากเด็กที่ไม่ค่อยแสดงออกที่เข้าใจได้ยากกว่าว่ากำลังรู้สึกอย่างไร การตอบสนองเด็กจึงยากไปด้วย แม้เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการไม่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วเด็กทุกคนควรมีระดับการแสดงออกที่เหมาะสมตามวัย ทั้งด้านการพูด การส่งเสียง สีหน้าท่าทางและกิริยาทางร่างกาย คุณพ่อคุณแม่จึงควรปลูกฝังและกระตุ้นถึงวิธีการแสดงออกของความรู้สึกความต้องการ เพื่อนำไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้อง ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยค่ะ

1-3 เดือนแรก แม้ร้องแค่ อือ..อา ก็มีความหมาย

          คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าการแสดงออกของลูกน้อยในช่วงแรกเกิดนั้น นอกจากร้องไห้แล้วจะเปล่งเสียงได้เพียงสั้น ๆ เช่นคำว่า อา อือ อู้ อี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพัฒนาการต่าง ๆ ยังเติบโตไม่เต็มที่และไม่พร้อมที่จะสื่อสารกับพ่อแม่ด้วยการพูด เส้นเสียงของลูกน้อยยังไม่สมบูรณ์การขยับปากและลิ้นยังควบคุมไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเปล่งเสียงและขยับตัวไปมานั้นก็มีความหมายอย่างมากระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันให้เกิดขึ้น การที่ลูกน้อยเปล่งเสียงออกมาได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อย สะท้อนถึงความสมบูรณ์ของระบบการออกเสียงที่ปกติ ส่วนการแสดงออกอื่น ๆ เช่น การเอียงคอ มองตาม การยิ้ม และตอบรับใด ๆ นั้นแสดงถึงกลไกการทำงานที่สำคัญ ได้แก่ ระบบการได้ยิน ระบบการแปลงข้อมูลในสมองที่ปกติ และสิ่งเร้าจากภายนอกที่มีอิทธิพลต่อเด็ก สิ่งเร้าที่ว่านี้ก็อย่างเช่น เสียงพูดของพ่อแม่เมื่อพูดแล้วจะเกิดคลื่นเสียงซึ่งเดินทางผ่านหูของลูกน้อยไปยังสมอง เกิดการแปลงข้อมูล และตีความกลับมาเป็นคำสั่งให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นนั่นเอง

          ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มต้นสื่อสารกับลูกทั้งโดยการพูด การร้องเพลง การเปิดเพลงให้ฟัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการฝึกการแสดงออกของลูก เพราะหากไม่มีสิ่งเร้าภายนอกที่ว่านี้แล้วการแปลงข้อมูลในสมองและการพัฒนาระบบการได้ยินก็จะทำงานได้น้อยตามไปด้วย และลูกก็จะแสดงออกน้อยไปด้วยค่ะ

4-6 เดือน ตั้งใจฟังหน่อย หนูสื่อสารได้แล้วนะคะ

          ช่วงเวลานี้เองที่คนมักกล่าวกันว่า เสียงหัวเราะของทารกคือเสียงที่ไพเราะที่สุดในโลก ไม่ใช่เพราะแค่ว่าเป็นเสียงที่บริสุทธิ์สดใสน่าฟังเท่านั้น แต่เสียงหัวเราะของทารกวัยนี้คือการบอกพ่อกับแม่ว่าหนูเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดและต้องการแสดงออกแล้วนั่นเอง

          การแสดงออกของเด็กในช่วงวัย 4-6 เดือนส่วนใหญ่ ได้แก่ การหัวเราะเสียงดัง การทำเสียงอืออาในลำคอ การแสดงสีหน้าที่พอดูได้ว่าพอใจหรือไม่ หากพอใจและมีความสุขก็จะยิ้มและมีแววตาเป็นประกายสดใส แต่หากไม่พอใจหรือโกรธก็จะทำหน้าบึ้ง บางครั้งเบะปากและมีแววตาฉงน ซึ่งการดีความกิริยาเหล่นี้ขึ้นอยู่กับการสังเกตของพ่อแม่ เพราะเด็กยังไม่สามารถพูดออกมาได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นตอบสนองตามการสื่อสารของลูกเสมอ เช่น ช่วยเหลือดูแลเมื่อลูกงอแงไม่สบายตัว หยอกล้อให้ลูกอารมณ์ดีและหัวเราะบ่อย ๆ เล่นกับลูกเมื่อต้องการ และถามคำถามลูกเสมอ ๆ ว่าหิวหรือยัง ง่วงหรือเปล่า อยากเล่นหรือไม่ ขอให้จำเอาไว้ว่า เมื่อเด็กเข้าใจภาษาแล้วจึงจะสื่อสารกลับมา แต่หากไม่มีการกระตุ้นจากคนรอบข้างเด็กก็จะไม่สื่อสารกลับมาเช่นกันค่ะ

          หัวใจสำคัญของการแสดงออกก็คือ ปล่อยให้ลูกได้แสดงอารมณ์ที่เขาต้องการ รับฟังทุกอารมณ์ของลูก และไม่บังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับอารมณ์ เช่น บังคับให้เล่นในเวลาที่ลูกง่วง หรือบังคับให้ลูกนอนในเวลาที่ต้องการเล่นเพราะจะทำให้ลูกหงุดหงิดและมักแสดงออกถึงอารมณ์ในด้านลบอยู่เสมอ

7-9 เดือน วัยเลียนแบบ ศักยภาพที่รอวันแสดงออก

          มีงานวัยหลายสำนักที่กล่าวกันว่าเด็กทารกสามารถจดจำและเรียนรู้คำศัพท์ที่ได้ยินแล้วตั้งแต่วัย 7 เดือน เพียงแต่ยังไม่สามารถตอบโต้ได้ออกมาเป็นคำศัพท์แบบเดียวกับที่ได้ยิน และเวลาพูดเด็กจะแสดงออกด้านอื่น ๆ แทน เช่น การแสดงสีหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่มากขึ้น ความพยายามที่จะเปล่งเสียงเพื่อบอกความต้องการซึ่งจะดังกว่าเดิม ยาวกว่าเดิมและพูดจาซ้ำ ๆ ซึ่งหากสังเกตเราจะพบเสียงที่มีความสูงต่ำต่างกันหลายโทนเสียงมากขึ้น ไม่ใช่เสียงโทนเดียวเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วค่ะ

          ลูกน้อยในวัยนี้มีความสนใจใคร่รู้รอบด้าน การแสดงออกอย่างสม่ำเสมอของคุณพ่อคุณแม่จะกลายเป็นแบบอย่างที่ดีมากในการแสดงออกของลูก ต้นแบบของการเลียนแบบอยู่ที่คนใกล้ชิด ซึ่งหากพ่อแม่แสดงอารมณ์โกรธ หงุดหงิดเป็นประจำก็จะส่งผลถึงบุคลิกนิสัยของลูกด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรแสดงอารมณ์ทางบวกกับลูกอยู่เสมอผสมผสานกับการบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ เช่น บอกกับลูกว่า "วันนี้อากาศสดใสมาก แม่ชอบจังเลย" พร้อมพาลูกออกไปชมวิวทิวทัศน์ข้างนอกอย่างสบายใจ หากจะปฏิเสธลูกก็ให้ส่ายหน้าและพูดเหตุผลกับลูกดี ๆ เช่น "วันนี้ฝนตก เราออกไปเดินเล่นไม่ได้นะ ไว้พรุ่งนี้แม่จะพาไปนะจ๊ะ" เป็นต้น การทำเช่นนี้เป็นประจำจะทำให้ลูกรู้วิธีแสดงออกที่สอดคล้องกับอารมณ์และสถานการณ์ พร้อมเรียนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย

10-12 เดือน ได้เวลาแสดงตัวตน

          สำหรับวัยนี้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ฝึกฝนมาแต่ต้นจะเห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วค่ะ เพราะลูกน้อยจะรู้จักวิธีคิดและเลือกการแสดงออกที่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองต้องการได้มากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแขนให้อุ้มเมื่อต้องการให้อุ้ม การอ้อนในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น หอมแก้มคุณพ่อคุณแม่ เข้ามาใกล้แล้วกอด ซบหน้ากับอก เมื่อต้องการความรักความอบอุ่นและรู้สึกสบายใจ บางครั้งจะเลือกหยิบของเล่นที่ชอบแล้วยื่นให้เป็นการบอกว่า เล่นสิ่งนี้กับหนูหน่อย พร้อมทั้งการใช้เลือกคำที่คิดว่าสื่อสารในสิ่งที่พ่อแม่เข้าใจ เช่น พูดว่า "หม่ำ ๆ" เมื่อหิว หรือพูดคำว่า "อุ้ม ๆ" เมื่ออยากออกไปเดินเล่น เป็นต้น

          การแสดงออกที่ชัดเจนมากขึ้นในวัยนี้กำลังจะเป็นพื้นฐานบุคลิกนิสัยที่จะติดตัวเด็กต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการแสดงออกของอารมณ์โกรธ กลัว โมโห ชอบใจ ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะยิ่งเข้าใจนิสัยใจคอของลูกมากขึ้นเพื่อที่จะได้ส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกชอบและทำได้ดี หรือแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมได้ทันท่วงทีด้วยเช่นกัน ซึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้ลูกแสดงออกได้ดีคือ รับฟังลูก ให้เวลาและโอกาสในการแสดงออกอย่างอดทนและใจเย็นด้วยค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.231 มกราคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนาการการแสดงออก อีกการเรียนรู้ที่ต้องฝึกฝน อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2558 เวลา 15:55:54 13,138 อ่าน
TOP
x close