x close

วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม !

วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม
วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม !

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม

          ปภ. แนะวิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก เรื่องเล็ก ๆ ที่ผู้ปกครองควรรู้ และห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน

          เด็ก ๆ มักจะซุกซนและไม่ค่อยระวังตัวสักเท่าไรนัก เป็นหน้าที่ผู้ใหญ่ต้องคอยให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ในวันเด็กปีนี้กระปุกดอทคอมจึงมีข้อมูลน่ารู้จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาฝากไว้เตือนใจคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ให้ดูและลูกหลานอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยที่ไม่คาดคิด ลองไปอ่านแล้วพึงระวังกันเอาไว้นะคะ

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุประมาณ 3,000-4,000 คน จากการจมน้ำ อุบัติเหตุทางถนน และไฟฟ้าดูด โดยมีสาเหตุจากความซุกซน และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การไม่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยในเด็ก ดังนี้


วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม

อุบัติเหตุทางถนน

การพาเด็กเดินถนน

          โดยให้เด็กเดินชิดด้านในของถนนหรือบนฟุตบาท พร้อมจูงมือเด็กให้แน่น ไม่พาเด็กเดินบนถนน และไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณริมถนน เพื่อป้องกันเด็กถูกรถเฉี่ยวชน

การข้ามถนน

          พาเด็กข้ามถนนตรงทางม้าลาย สะพานลอยหรือบริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจร โดยมองด้านซ้ายและขวา เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงพาเด็กข้ามถนน ไม่พาเด็กวิ่งข้ามถนนหรือวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

การนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์

          ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานและมีขนาดพอดีกับศีรษะเด็ก ไม่นำเด็กเล็กโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่นำเด็กซ้อนท้ายมากกว่า 2 คน เพราะจะทำให้รถทรงตัวไม่ดี ทำให้เด็กพลัดตกจากรถและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

การนำเด็กโดยสารรถยนต์

          ควรให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (Car Seat) บริเวณตอนกลางของเบาะหลังรถ ไม่ควรนำเด็กนั่งตักขณะขับรถ เพราะส่งผลต่อสมรรถนะและสมาธิในการขับรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมกดล็อกประตูและกระจกรถ เพื่อป้องกันเด็กยื่นศีรษะ แขน ขา ออกนอกรถทำให้ได้รับอันตราย


วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม

อุบัติภัยจากการจมน้ำ

เด็กอายุ 1-4 ปี

          ไม่ควรให้เด็กเล่นน้ำในอ่างน้ำ กะละมังน้ำ หรืออาบน้ำในห้องน้ำตามลำพัง ปิดประตูห้องน้ำให้สนิท จัดให้มีฝาปิดครอบภาชนะเก็บน้ำ พร้อมจัดทำรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ สระน้ำ อ่างเลี้ยงปลา รวมถึงไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพราะเด็กอาจลื่นตกน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

เด็กอายุ 5-17 ปี

          ควรสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น พร้อมดูแลเด็กขณะเล่นน้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ท่องเที่ยวทางน้ำและว่ายน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะช่วยพยุงตัวเด็กไม่ให้จมน้ำ


วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม

อุบัติภัยจากไฟฟ้า

ติดตั้งปลั๊กไฟในระดับที่พ้นจากมือเด็ก

          โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้อยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากปลั๊กไฟอยู่ในระดับต่ำ ควรจัดหาที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กเล่นปลั๊กไฟ ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด

ไม่ให้เด็กใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า

          โดยเฉพาะการเสียบและถอดปลั๊กไฟ การเปิด-ปิดสวิตช์ไฟ พร้อมถอดปลั๊กไฟและปิดสวิตช์ไฟทุกครั้งหลังใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก อาจทำให้เด็กถูกไฟฟ้าดูดได้ ทั้งนี้การดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัย พร้อมสอนเด็กให้เรียนรู้วิธีป้องกันอุบัติภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเด็ก




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีป้องกันการเกิดอุบัติภัยในเด็ก ที่ห้ามมองข้าม ! อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2558 เวลา 18:09:24 3,166 อ่าน
TOP