รู้ไหมแม่เครียด = ทำร้ายลูก !


 แม่ตั้งครรภ์มีสภาวะเครียดจะส่งผลในทางลบต่อตัวเองและลูกน้อย

รู้ไหมแม่เครียด = ทำร้ายลูก !
(Mother & Care)

          ถ้าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มีสภาวะเครียดจากเรื่องต่าง ๆ จะส่งผลในทางลบต่อตัวเองและลูกน้อย ฉบับนี้จึงนำเสนอสัญญาณความเครียดที่อาจเกิดขึ้น และขยายผลของปัญหา เพื่อให้คุณแม่ผ่อนคลาย รู้จักวางจิตวางใจ เพื่อการตั้งครรภ์อย่างเป็นสุข

แบบไหนนะ…ที่เรียกว่าเครียด

เบื่ออาหาร

          ร้อยละ 76-90 แม่ท้องอยากอาหารชนิดใดชนิดนึ่ง และร้อยละ 50-85 มีอาการเหม็น หรือเบื่ออาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง อาการที่ว่านั้นมีเอี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งท้อง และพบว่า ความเครียด ก็เป็นชนวนปัญหาที่ทำให้คุณแม่กินอาหารไม่เป็นเวลาในบางมื้อ หรือไม่มีอารมณ์อยากกิน กินได้น้อยลงกว่าปกติ

นอนไม่หลับ

          สภาพร่างกายทั้งภายในและภายนอกเป็นสาเหตุร่วมค่ะ อาการที่ว่าประกอบด้วยเรื่องช่องท้องที่มีขนาดใหญ่และขยายขึ้นทำให้อึดอัด ปวดหลัง เสียดท้อง และปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ในช่วงกลางคืน โยงถึงความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพของคุณแม่ก็ทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่ดีสักเท่าไร

กังวลใจ

          ไม่มั่นใจ ไม่ได้ดังใจ ผิดหวัง ท้อแท้ไม่อยากทำอะไร อาการที่คุณแม่เป็นพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากคุณแม่มีความเครียดได้ทุกคน จะมากน้อยต่างกันไป จากสาเหตุความกังวล เช่น เรื่องสุขภาพของลูกและตัวเอง ปัญหาการงาน เป็นต้น ทำให้เกิดอาการเครียดได้

ซึมเศร้า

          เกิดได้เพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฮอร์โมนส่งผลต่อจิตใจได้ อาการหลัก ๆ คือ อารมณ์แปรปรวน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ รู้สึกหงุดหงิดวิตกกังวลได้ง่ายเมื่อปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ย่อมทำให้รู้สึกเครียด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ ถึงรุนแรง เกิดได้ทั้งช่วงที่ตั้งครรภ์และช่วงหลังคลอด

เครียดแบบนี้ไม่ดีนะ

          เมื่อคุณแม่เครียด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียด ทำให้สภาพภายในร่างกาย เช่น มดลูกเกิดการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ หรือกระตุ้นให้ต้องคลอดก่อนกำหนด ทำให้ลูกน้อยมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ มีปัญหาเรื่องปอด มีพัฒนาการที่ช้า มีปัญหาด้านการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น จากการศึกษาถึงผลระยะยาว พบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงอีกด้วย โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้น ความเครียดของแม่มีผลต่ออารมณ์ และพฤติกรรมของลูกในครรภ์ เด็กกลุ่มนี้จะมีภาวะซึมเศร้า ถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าได้ง่าย ตกใจ โมโหง่าย และปรับตัวเข้ากับวิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ยาก กลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

          "โดยปกติแล้วต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเมื่อเราเกิดความเครียด ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจเต้นแรงขึ้น แต่เมื่อมีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะส่งออกมามากถึง 2-4 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยหลักการแล้วฮอร์โมนนี้มีความจำเป็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะช่วยในเรื่องการหายใจของลูกน้อยเมื่อคลอดออกมา และยังช่วยให้คุณแม่สามารถเบ่งลูกเมื่อคลอดได้ แต่หากแม่เครียดในระหว่างการตั้งครรภ์จนทำให้ผลิตฮอร์โมนมากเกินปกติ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองของลูก โดยเฉพาะในส่วนของอารมณ์และการเรียนรู้ ทำให้เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมกับภาวะออทิสติก และอีกประมาณ 15-20% เกิดมาพร้อมภาวะออทิสติกแฝง ซึ่งจะแสดงออกในช่วงอายุ 2 ปี เป็นเพราะได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเด็กออทิสติกทั้งหมดจะพบว่ากว่า 80% จะแสดงออกถึงภาวะออทิสติกตอนที่อายุ 2 ปี เป็นต้นไปค่ะ

          จะเห็นได้ว่าข้อมูลทางการแพทย์ที่นำเสนอ มีน้ำหนักมากพอที่จะยืนยันว่าความเครียดส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างแน่นอนจะส่งขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุความเครียด ระยะเวลา และความถี่ที่เป็น เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) สามารถส่งผ่านทางรกจากแม่ไปสู่ลูก (ไม่ต่างกับลำเลียงส่งสารอาหารให้ลูก)

          ทางออกคือ การพยายามไม่เครียด (ฟังดูง่ายแต่ก็เป็นวิธีการเดียว) หาหนังสืออ่าน เปิดเพลงฟังเบา ๆ ออกกำลังกาย หาเรื่องขำขันให้ตัวเองบ้าง ที่สำคัญคือ คนรอบข้างจะต้องมีส่วนช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีความสุข ทั้งกายและใจค่ะ"

          โดยเฉพาะปัญหาด้านการเรียนรู้ของลูกน้อยนั้น งานวิจัยจากหลายประเทศ พบว่า ความเครียดส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษ อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกค่ะ

งานวิจัย

          เดนมาร์ก : พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์กับความบกพร่องด้านพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ของลูกในช่วงวัยเด็ก

          อิสราเอล : จากการวิจัยกับเด็กที่มีอายุ 4-15 ปีที่เป็นออทิสติก พบว่าแม่ที่มีความเครียดระหว่างการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 15-18 ส่งผลให้ลูกมีอาการออทิสติกมากกว่าเด็กออทิสติกทั่วไป และคุณแม่ที่เครียดระหว่างการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 21-32 ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กออทิสติกที่มีความบกพร่องทางภาษาร่วมด้วย

          แคนาดา : พบว่าความเครียดระยะยาว เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาสามีมีภรรยาน้อย สามีไม่ดูแลในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการช้าและเด็กมีพฤติกรรมทางอารมณ์มากกว่าปกติ

          สหรัฐอเมริกา : มีการเก็บกลุ่มตัวอย่างจากเด็กจำนวน 2,900 คน พบว่า คุณแม่ที่เครียดระหว่างการตั้งครรภ์ ทั้งความเครียดในชีวิตประจำวันและความเครียดเฉพาะสาเหตุ เช่น การหย่าหรือการย้ายบ้าน มีความสัมพันธ์กับการที่ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นและออทิสติกในช่วงอายุ 2 ปี




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหมแม่เครียด = ทำร้ายลูก ! อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 16:25:18 46,496 อ่าน
TOP
x close