จัดการพฤติกรรมลูกร้องอาละวาดด้วย 6 วิธี ง่าย ๆ
เมื่อลูกเป็นเจ้าหนูขาวีน (Mother&Care)
โดย : พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนครธน
พฤติกรรมการร้องไห้เสียงดัง แผดเสียงลั่น กระทืบเท้าไปมา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการร้องอาละวาด เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติที่พบได้ในเด็กทุกคน เพื่อที่จะเรียนรู้การควบคุมตนเอง เนื่องจากเด็กวัย 2-3 ปี เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการควบคุมทุกอย่าง อยากรู้อยากเห็นและอยากเป็นอิสระ แต่ยังไม่สามารถจัดการตัวเองได้สมบูรณ์ การร้องอาละวาด จึงเป็นวิธีที่ลูกน้อยใช้เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ของตัวเอง
ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
ส่วนมากการร้องอาละวาดมักหยุดไปเองเมื่ออายุ 4 ปีแล้ว ดังนั้น หากเด็กที่อายุเกิน 4 ปี ที่มีพฤติกรรมอื่นสมวัย มีการร้องอาละวาดรุนแรงหรือเป็นถี่มากมีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่นทำลายข้าวของขณะร้องอาละวาด ควรพาไปปรึกษาคุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูแลและแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีเหล่านี้
พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์
เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น เลือกของที่ตัวเองชอบ
พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "ไม่, อย่า" เพราะจะกระตุ้นให้เด็กหงุดหงิดได้
หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เด็กร้องอาละวาด เช่น การพาไปเดินแผนกของเล่นทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เป็นต้น
สอนให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด แทนการร้องอาละวาด เช่น หนูโกรธ หนูเสียใจ เป็นต้น
มีกฎของบ้าน ให้เหตุผลที่ต้องมีกฎนี้ ไม่ควรคาดหวังให้ลูก ทำให้สมบูรณ์แบบและไม่ควรเปลี่ยนแปลงกฎบ่อย ๆ
6 วิธีจัดการเจ้าหนูขาวีน
1. พ่อแม่ควรสงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
ไม่ควรจัดการปัญหาขณะมีอารมณ์โกรธ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง หากยังระงับอารมณ์ตนเองไม่ได้ ให้แยกตัวออกมาจากสถานการณ์ตรงหน้าก่อน เมื่อควบคุมอารมณ์ได้ดีแล้ว จึงค่อยจัดการปัญหา และไม่ควรลงโทษเด็กขณะกำลังร้องอาละวาด
2. เบี่ยงเบนความสนใจของลูก
เช่น หาของเล่นที่มีสีสันสดใสและมีเสียงดังมาช่วยเบี่ยงเบนความสนใจหรือชวนไปทำกิจกรรมอื่นแทน ยิ่งเด็กเล็กจะยิ่งเบี่ยงเบนได้เร็วและง่ายขึ้น
3. การเพิกเฉย
ใช้ในกรณีการร้องอาละวาดที่ไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ เตะขา กรีดร้อง คุณควรยืนดูเฉย ๆ อยู่ใกล้ ๆ ไม่ต้องพูดอะไรรอจนกว่าลูกจะสงบ จึงเข้าไปกอดปลอบ พูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไขหากมีครั้งต่อไป
4. หลีกเลี่ยงการตามใจลูก
เพื่อหยุดการร้องอาละวาด เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ทำให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการ
5. หยุดพฤติกรรมทันทีเมื่อมีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของ
พ่อแม่ล็อกตัวเด็ก โดยจับแขนของเด็กไพล่หลัง เอาหลังเด็กชนกับหน้าอกของพ่อแม่ล็อกไว้จนกว่าลูกจะสงบ
6. ทำด้วยความสม่ำเสมอ
ไม่ลังเลกับคำสั่ง / กฎที่คุณตั้งไว้ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกสับสนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้
ครั้งแรก ๆ การจัดการพฤติกรรมของลูก จะพบว่าลูกร้องอาละวาดมากขึ้นอย่างมาก แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอสัก 3-5 ครั้ง ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่า ตนเองไม่ควรมีพฤติกรรมร้องอาละวาดอีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.10 No.119 พฤศจิกายน 2557