Apgar Score คืออะไร รู้จักวิธีตรวจร่างกายทารกแรกเกิด ด้วยคะแนน Apgar Score ที่จะบ่งบอกถึงสุขภาพลูกน้อยหลังคลอด การประเมินทารกแรกเกิด ตรวจอย่างไร ใช้เกณฑ์อะไรบ้าง มาดูกัน เคยสงสัยไหมคะว่าหลังคลอดลูกเรียบร้อยแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กแข็งแรง หายใจได้เป็นปกติ พร้อมจะใช้ชีวิตอยู่นอกท้องแม่ ซึ่งในนาทีแรกที่ทารกลืมตาดูโลก คุณหมอที่ทำคลอดก็จะส่งต่อลูกน้อยของเราให้กับคุณหมอเด็ก เพื่อทำความสะอาดและตรวจร่างกายทารกแรกเกิด ซึ่งคุณแม่หลังคลอดอาจจะได้ยินคุณหมอและพยาบาลส่งสัญญาณถามถึง Apgar Score บ้างก็ได้ยินคำตอบเป็นตัวเลข แต่ยังไม่รู้ว่า Apgar Score คืออะไร ตรวจอย่างไรบ้าง รวมถึงการประเมินทารกแรกเกิดนี้จะบ่งบอกถึงสุขภาพลูกน้อยได้อย่างไร ตามมาทำความเข้าใจกันเลยค่ะ Apgar Score หรือคะแนนแอปการ์ คือ ผลการประเมินภาวะสุขภาพทารกแรกเกิดที่ได้จากการทดสอบร่างกายหลังคลอดของทารกทุกคนในเบื้องต้น เพื่อเป็นการบ่งชี้ว่าเด็กสามารถปรับสภาพร่างกายให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมนอกครรภ์คุณแม่ได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งจุดเริ่มต้นของการประเมินนี้ย้อนไปในปี ค.ศ. 1952 Dr.Verginia apgar ซึ่งเป็นวิสัญญีแพทย์ ได้เห็นถึงความสำคัญของนาทีชีวิตแรกคลอด จึงคิดค้นวิธีประเมินที่เรียกว่า “Apgar Scoring System” ขึ้น โดยจะวัดผลคะแนนตั้งแต่หลังทารกลืมตาดูโลก 1 นาที เพื่อประเมินว่าทารกทนต่อกระบวนการคลอดได้ดีหรือไม่ จากนั้นจะประเมินซ้ำหลังจากคลอด 5 นาที หากประเมินแล้วพบอาการผิดปกติ คุณหมอจะประเมินซ้ำอีกครั้งหลังคลอดได้ 10 นาที ทั้งนี้ ลักษณะที่ใช้ประเมินสุขภาพเด็กแรกเกิดจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ A = Appearance สีผิวของทารก (Skin color) ว่าผิดปกติหรือไม่ P = Pulse อัตราการเต้นของหัวใจทารก (Heart rate) ซึ่งโดยปกติควรอยู่ที่ 100-160 ครั้ง/นาที G = Grimace ปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของทารก (Reflex irritability) โดยคุณหมออาจกระตุ้นด้วยการหยิกเบา ๆ การตีก้นเบา ๆ เป็นต้น A = Activity การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของทารก R = Respiration ความพยายามหายใจเข้า-ออก เพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายของทารก (Breathing rate and effort) เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือความพิการแต่กำเนิดของทารกแรกเกิด เพื่อประเมินภาวะการเจ็บป่วยของทารกที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างคลอด เพื่อนำผลการประเมินภาวะสุขภาพของทารกมาใช้บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพและปัญหาของทารก เพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะเลือกวางแผนพยาบาลและวิธีช่วยเหลือทารกอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับเปรียบเทียบหรือติดตามการเจริญเติบโตของเด็กต่อไป ระดับคะแนนที่ใช้ในการประเมินนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 0, 1 และ 2 โดยตัวบ่งชี้แต่ละข้อจะใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ Appearance (ลักษณะสีผิว) ประเมินจากสีผิวทั่วร่างกายของทารก 0 คะแนน - สีผิวของทารกเป็นสีน้ำเงิน สีเทา หรือซีดกว่าปกติ 1 คะแนน - สีผิวของทารกเป็นสีชมพู ปลายแขนและขาเป็นสีเขียวหรือฟ้า 2 คะแนน - สีผิวของทารกเป็นสีชมพูระเรื่อทั้งตัว Pulse (อัตราการเต้นของหัวใจ) ประเมินโดยสเตตโทสโคป หรือเครื่องตรวจฟังของคุณหมอ 0 คะแนน - ไม่มีการเต้นของหัวใจ หรือไม่มีชีพจร 1 คะแนน - อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้ง/นาที 2 คะแนน - อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที Grimace (สีหน้าจากการกระตุ้น) ประเมินโดยการสัมผัสตัวทารก เช่น การตีก้น การหยิกเบา ๆ เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง 0 คะแนน - ทารกไม่ตอบสนอง 1 คะแนน - ทารกมีเบะปาก ร้องไห้เบา ๆ หรือมีอาการต่อต้านให้เห็น 2 คะแนน - ทารกมีใบหน้าบึ้งตึงหรืออาการต่อต้าน ไอ จาม ร้องไห้เสียงดัง Activity (การเคลื่อนไหวของทารก) ประเมินโดยการสังเกตการเคลื่อนไหวของทารก 0 คะแนน - ทารกมีร่างกายอ่อนปวกเปียก 1 คะแนน - ทารกขยับบ้าง แขน-ขางอเล็กน้อย 2 คะแนน - ทารกแข็งแรง เคลื่อนไหวได้ดี Respiration (ความพยายามในการหายใจ) ประเมินจากความสามารถในการหายใจของทารก 0 คะแนน - ทารกไม่หายใจ 1 คะแนน - ทารกหายใจช้าหรือไม่สม่ำเสมอ 2 คะแนน - ทารกหายใจดี ร้องไห้เสียงดัง การประเมินสุขภาพทารกแรกเกิด เมื่อรวมทั้ง 5 ข้อบ่งชี้แล้วจะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 10 คะแนน ซึ่งหากทารกได้คะแนนน้อยกว่า 7 คุณหมอก็จะรีบรักษาตามอาการที่พบ ส่วนคะแนนอื่น ๆ จะแปลผลว่าอะไรบ้าง ลองมาดูตามนี้เลย Apgar score 7-10 คะแนน จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ทารกไม่ขาดออกซิเจน สุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องเฝ้าติดตามอาการเพิ่มเติม เมื่อคุณหมอและพยาบาลประเมินเสร็จแล้วก็จะช่วยกันดูดสารคัดหลั่งในปากและจมูกด้วยลูกสูบยางแดง หลังจากนั้นก็จะเช็ดตัวให้แห้งและห่อตัวทารกให้อบอุ่น Apgar score 4-6 คะแนน แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง หรือขาดออกซิเจนเล็กน้อย อาจต้องช่วยกระตุ้นการหายใจ ดูดสารคัดหลั่งในปากและจมูกด้วยสายยาง และให้ออกซิเจนทางหน้ากากช่วยด้วย รวมถึงเช็ดตัวทารกด้วยผ้าสะอาดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจน หลังถูกกระตุ้นแล้วทารกที่สุขภาพแข็งแรงจะมีปฏิกิริยาตอบสนองดีขึ้น และเมื่อประเมินสภาพทารกครั้งที่ 2 อาจได้คะแนนเพิ่ม แต่หากประเมินครั้งที่ 2 แล้วอาการและผลคะแนนยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด (Birth asphyxia) Apgar score 0-3 คะแนน ทารกอยู่ในภาวะไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางระบบหายใจหรือการทำงานของหัวใจที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์พยุงชีพเพื่อกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และคุณหมออาจนำก๊าซในเลือดจากบริเวณสายสะดือไปตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วย Apgar Score ไม่เพียงแต่มีประโยชน์สำหรับเด็กที่อาจต้องการความช่วยเหลือในนาทีแรกของชีวิต แต่ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถคัดกรองและดูแลทารกแรกคลอดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากการตรวจ Apgar Score คุณหมอเด็กยังตรวจสุขภาพในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ตรวจการได้ยิน การมองเห็น ตรวจศีรษะ ใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยไม่มีสิ่งใดน่ากังวล และหากพบสิ่งผิดปกติก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง ขอบคุณข้อมูลจาก : medlineplus.gov, kidshealth.org, nursesoulciety.com, med.nu.ac.th
แสดงความคิดเห็น