เป็นโรคประจำตัว SLE ก็ท้องได้

โรค SLE

เป็น SLE ก็ท้องได้
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

           คุณผู้หญิงที่อยากมีลูก แต่มีโรคประจำตัวอย่าง SLE นั้น สามารถมีลูกได้นะคะ เพียงแต่ต้องรู้วิธีรับมือ รู้จักดูแลตัวเอง และรักษาควบคุมโรคตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ

มารู้จักโรค SLE

           SLE เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติคือ โดยปกติแล้วภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้ทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าเป็น SLE ภูมิคุ้มกันจะจำเนื้อเยื่อของร่างกายตัวเองไม่ได้ ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองขึ้นมา แล้วไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย

           สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ (ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจน) หรืออาจเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น ความเครียด ยาบางชนิด การติดเชื้อบางอย่าง และแสงแดด ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคได้

           คนที่เป็นโรคนี้มักมีอาการปวดข้อต่าง ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อนิ้ว ซึ่งจะมีอาการบวมแดง หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณที่ผิวโดนแดด เช่น ผิวหน้าจะมีผื่นขึ้น คล้ายปีกผีเสื้อ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบ ไตเสื่อม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจมีปัญหาอีกด้วย

สัญญาณ SLE

           โรค SLE การวินิจฉัยจะเป็นไปได้ค่อนข้างยากค่ะ เนื่องจากลักษณะอาการบางอย่างคล้ายกับโรคภูมิแพ้ทั่วไป เช่น มีผื่นขึ้น ทางการแพทย์ จึงระบุชัดว่าโรค SLE ต้องมีอาการบ่งชี้ 4 ใน12 อาการ ต่อไปนี้ค่ะ

           มีผื่นแดงขึ้นที่หน้า มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ หรือเรียกว่า Buttefly rash

           มีผื่นขึ้นเป็นวง ๆ พบที่ศีรษะ แขน หน้าอก หลัง

           ผิวมีความไวต่อแสงแดด

           มีแผลที่ปากหรือโพรงจมูก

           ข้ออักเสบ บวมแดง

           มีไข้

           เยื่อบุหัวใจ และปอดมีการอักเสบ

           มีความผิดปกติของระบบกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากไตอักเสบ

           มีอาการชัก หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น อัมพาต

           มีภาวะโลหิตจาง ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ

           ผมร่วง น้ำหนักลดลง

           เนื้อเยื่อหรือเส้นเลือดเกิดการหดตัว เมื่อสัมผัสกับอากาศเย็น เรียกว่า Raynaudphenomenon ทำให้บริเวณนั้นขาดเลือด ส่วนใหญ่เป็นที่นิ้วมือ ทำให้มีอาการเขียว ปวด ตามปลายนิ้ว

          หากมีอาการแสดงเห็นชัด 4 ใน 12 อาการดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงเป็นโรค SLE ได้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้ละเอียด รักษาตามอาการ และควบคุมโรคให้ได้ก่อนตั้งครรภ์ค่ะ

เป็น SLE ตั้งครรภ์ได้

          ในประเทศไทยพบคนที่เป็นโรค SLE น้อย และพบว่าเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่จะแสดงอาการในคนวัยเจริญพันธุ์ การรักษาจะเป็นไปตามอาการ ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อควบคุมโรค ดังนั้น คุณผู้หญิงที่เตรียมตัวจะเป็นคุณแม่ แล้วมีโรคประจำตัวเป็นโรค SLE ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษมากขึ้น เพื่อควบคุมโรคให้สงบก่อนตั้งครรภ์ อย่างน้อย 6 เดือน และคุณหมอจะดูแลใกล้ชิดมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติค่ะ

          ซึ่งการตั้งครรภ์ก็อาจไปกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ แต่ไม่รุนแรง ดังนั้น ช่วงระหว่างตั้งครรภ์จึงต้องให้ยาควบคู่ไปด้วย โดยเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ขนาดต่ำ เพื่อควบคุมโรคให้สงบตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ

SLE มีผลอย่างไร กับแม่ตั้งครรภ์

          ในช่วงตั้งครรภ์ แม้โรคจะสงบแล้ว และกินยาควบคุมโรคอยู่ แต่อาการของโรค SLE ไม่แน่นอน อาจจะขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ และทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคุณแม่ ซึ่งอาจส่งผลสู่ทารกในครรภ์ค่ะ

อาการที่เกิดขณะตั้งครรภ์

          เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงคือ ทำให้การคุมโรคเบาหวานยากขึ้น ซึ่งคุณแม่ท้องมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานอยู่แล้ว จึงอาจจะส่งผลให้คุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

          เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด เพราะโรคนี้จะมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาใหม่ ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัว และเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า คุณหมอจึงต้องให้ยาด้านเกร็ดเลือดขนาดต่ำ โดยเริ่มให้หลังจากสิ้นสุดไตรมาสแรก เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

          ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เพราะอาจจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเกิดภาวะติดเชื้อจะทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกได้ง่ายถ้ารุนแรงทารกอาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์

          ครรภ์เป็นพิษ เกิดอาการความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์มีการเสื่อมสภาพของรก จนเกิดการแท้งได้

          นอกจากนี้ การที่คุณแม่เป็น SLE อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีโอกาเป็น SLE ได้ แต่จะมีอาการแค่ช่วงแรก ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นอาการจะหายไปเอง และกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม ร่างกายเจริญเติบโตเป็นปกติค่ะ

การดูแลตัวเองของคุณแม่ที่เป็น SLE

          หัวใจสำคัญเพื่อให้ปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ คือต้องควบคุมโรคให้สงบ กินยาควบคุมโรคเพื่อไม่ให้มีอาการตอนตั้งครรภ์ ใกล้ชิดคุณหมอ ไปตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์ หรือต้องพบคุณหมอทุกเดือน เพื่อจะทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และดูพัฒนาการของทารก หากมีปัญหาจะได้รักษาได้ทันค่ะ

          แม่โรค SLE จะไม่หายไปจากชีวิต แต่ถ้าดูแลตัวเองดี รู้ว่าอาการจะกำเริบตอนไหน รู้วิธีป้องกันโรคไม่ให้กำเริบ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 371 ธันวาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นโรคประจำตัว SLE ก็ท้องได้ อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2558 เวลา 16:35:37 32,593 อ่าน
TOP
x close