อาการคนท้อง 1 เดือน หรือ อาการคนท้องเดือนแรก เป็นอย่างไร มาเช็กสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการของคนท้อง ที่สาว ๆ หลายคนกำลังสงสัย พร้อมวิธีดูแลตัวเองให้ดีในช่วงตั้งครรภ์กันเลยค่ะ
การตั้งครรภ์เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในชีวิตของมนุษย์
และเป็นการเริ่มต้นของช่วงเวลาที่แสนมีความสุขของคู่สามีภรรยา
ยิ่งถ้าเป็นท้องแรก
ก็ยิ่งจะเอาใจใส่ประคบประหงมกันเป็นพิเศษตั้งแต่เดือนแรก ๆ จนกระทั่งคลอด
โดยส่วนใหญ่แล้วจะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนแรกหลังจากที่ประจำเดือนขาด ซึ่งการตรวจนั้นสามารถใช้วิธีการตรวจด้วยตัวเองหรือพบแพทย์ก็ได้
นอกจากนี้เรายังสามารถสันนิษฐานจากอาการเบื้องต้นได้ตั้งแต่เดือนแรกของการตั้งครรภ์อีกด้วย
เพราะช่วงนี้จะมีลักษณะทางร่างกายและอาการบางอย่างแสดงออกมาให้จับสังเกตกันแล้ว แต่ว่ามีอะไรบ้างล่ะที่เราสังเกตได้ ? วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ
เกี่ยวกับ อาการคนท้อง 1 เดือน มาเล่าสู่กันฟัง
ลองไปดูกันว่าอาการคนท้องและลักษณะทางร่างกายของคุณแม่มือใหม่อายุครรภ์ 1
เดือนนั้นมีอะไรบ้าง
อาการคนท้อง 1 เดือน หรือ อาการคนท้องเดือนแรก เป็นอย่างไร
อาการคนท้อง เมื่อเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ในช่วง 1-3 สัปดาห์แรกนั้นจะยังไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน แต่จะเริ่มมีอาการให้เห็นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ดังนี้
1. ประจำเดือนขาด
หากมีภาวะอาการประจำเดือนขาดละก็ ก็อาจสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ สาเหตุที่ประจำเดือนขาดในช่วงการตั้งครรภ์นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์แล้วนั้น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ที่เรียกว่าฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนเป็นจำนวนมาก และฮอร์โมนเหล่านี้ก็จะไปทำหน้าที่ในการหยุดยั้งการมีประจำเดือน และช่วยให้มีครรภ์ที่สุขภาพแข็งแรง แต่ก็ใช่ว่าภาวะขาดประจำเดือนจะมีสาเหตุมาจากการเกิดประจำเดือนเพียงอย่างเดียว บางครั้งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนหรือภายในมดลูกได้ ดังนั้นควรทำการตรวจเพื่อความแน่ใจอีกครั้งจะดีกว่าค่ะ
ระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้เลือดไหลเวียนไปที่มดลูกและทำให้เยื่อบุผนังมดลูกหนาขึ้นเพื่อป้องกัน และเอื้อต่อการพัฒนาและเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนยังไปทำให้ไตขยายตัวขึ้นประมาณ 1.5 เซนติเมตร และไปทำให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะขยายตัวออก เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรู้สึกแน่นและทำให้คุณอยากปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกตินั่นเอง
3. ความต้องการทางเพศมีการเปลี่ยนแปลง
การตั้งครรภ์ในเดือนแรกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและกระทบไปยังภาวะอารมณ์ ว่าที่คุณแม่บางรายอาจจะเกิดความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น หรือบางรายก็อาจจะลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง
4. เมื่อยล้า
ว่าที่คุณแม่จะรู้สึกว่ามีแรงน้อยลง และเหนื่อยง่ายมากขึ้น เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานอย่างมากในการพัฒนาทารกในครรภ์ นอกจากนี้พลังงานเหล่านี้ยังใช้ในการปรับสภาพแวดล้อมภายในครรภ์ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารกอีกด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แรงมาก ๆ ค่ะ
อาการแพ้ท้องมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และฮอร์โมนเอสโตรเจนมากจนเกินไป อาการแพ้ท้องสามารถเกิดตลอดทุกช่วงเวลาของวัน และอาการนั้นมักจะเริ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และเริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งมีว่าที่คุณแม่เพียง 50% เท่านั้นที่จะมีอาการแพ้ท้อง
6. ไวต่อกลิ่นมากขึ้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ จะเกิดอาการที่เรียกว่า Super Smell เป็นอาการที่จมูกของเราจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดเป็นพิเศษ ทำให้เรารู้สึกเหม็น หรือไม่ชอบกลิ่นบางชนิด ทั้ง ๆ ที่คุ้นเคยกับมันมาก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
7. อยากกินอาหารแปลก ๆ
ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้การรับรู้รสชาติของอาหารเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้รู้สึกกินอะไรก็ไม่อร่อย และบางทีอยากกินของแปลก ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงอยากกิน อย่างเช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น
ในช่วงระยะ 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากฝังตัวแล้ว ซึ่งตัวอ่อนจะมีลักษณะเหมือนตุ่มพองบนเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์ ภายในครรภ์จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้น ซึ่งภายในถุงน้ำคร่ำจะมีน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่คอยปกป้องตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม การกระทบกระเทือนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายนอก และควบคุมอุณหภูมิให้ตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนสามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำให้ตัวอ่อนอีกด้วย
การพัฒนาของทารกในช่วง 1 เดือนแรก สามารถแบ่งออกเป็นสัปดาห์ ที่ 1-4 ได้ดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 หลังจากการปฏิสนธิ ลูกน้อยจะยังเป็นเพียงเซลล์เล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ แบ่งตัวออกเป็น 3 ส่วน
- ectoderm หรือชั้นนอกของเซลล์ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นระบบประสาท ผิวหนัง ผม ขน ต่อมน้ำนม ต่อมเหงื่อ และฟัน
- mesoderm จะพัฒนาไปเป็นหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อและกระดูก และระบบขับถ่าย
- endoderm จะพัฒนาไปเป็นอวัยวะภายใน เช่น ปอด ทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน และต่อมไทรอยด์
สัปดาห์ที่ 2 จะเริ่มเห็นตำแหน่งที่จะพัฒนาไปเป็นไขสันหลังและส่วนหลังของตัวอ่อน
สัปดาห์ที่ 3 อวัยวะสำคัญเริ่มเจริญเติบโต รวมทั้งหัวใจของลูกก็เริ่มเต้นแล้วในช่วงนี้
สัปดาห์ที่ 4 ตัวอ่อนจะยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่ถึง 1 กรัม มีลักษณะคล้ายกุ้งที่มีเอวคอดตรงกลาง มีส่วนหัว ส่วนข้าง และส่วนล่างที่ลักษณะเหมือนหางโค้งงอ
นอกจากนี้ ตัวอ่อนจะมีถุงเล็ก ๆ ติดอยู่ด้วย นั่นคือถุงไข่แดง ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็ก ๆ มากมาย ที่คอยทำหน้าที่ให้อาหารกับตัวอ่อนในขณะที่ตัวอ่อนยังไม่สามารถดูดซึมอาหารด้วยตัวเองได้ และเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นก็จะเปลี่ยนมาใช้รกในการดูดซึมอาหารจากแม่แทน
ในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ควรจะดูแลตัวเองให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเอง ที่สำคัญควรจะพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การงีบหลับในช่วงกลางวันก็สามารถทำให้มีเรี่ยวแรงมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากในช่วงการตั้งครรภ์นั้นร่างกายจะอ่อนเพลียง่าย และควรลดกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานเยอะ นอกจากนั้นยังควรที่จะทำการฝากครรภ์และไปพบแพทย์ให้ตรงตามนัดเพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง
นอกจากนี้ยังควรดูแลเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น ไม่ควรจะอด หรือควบคุมอาหารในช่วงนี้ และควรจะกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ควรเสริมอาหารจำพวกโปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียมรวมทั้งกรดโฟลิกให้เพียงพอ ซึ่งถ้าหากรับประทานอาหารอย่างเพียงพอแล้ว น้ำหนักจะขึ้นสัปดาห์ละไม่เกินครึ่งกิโลกรัม ส่วนอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงก็คือ อาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินของหวานมากเกินไป ที่สำคัญไม่ควรสูบบุหรี่อย่างยิ่งเลยล่ะ
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ว่าที่คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการกินเพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกายและทารกที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์ โดยเฉพาะ 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ควรจะรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ให้มาก ๆ เลยล่ะค่ะ
- กรดโฟลิกและวิตามินรวม เพื่อช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ของตัวอ่อนแข็งแรง คุณแม่จึงควรได้รับกรดโฟลิก และวิตามินรวมให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ จนถึงปลายสัปดาห์ที่ 12
- สารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัวในเยื่อบุผนังมดลูก คุณแม่ควรได้รับสารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ธัญพืช ฯลฯ เพื่อสร้างฮีโมโกลบินที่จะช่วยนำพาออกซิเจนไปสู่ตัวอ่อน
- กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะกรดอะมิโนที่มีอยู่ในโปรตีนจะช่วยให้ลูกมีเสบียงเพียงพอในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ
- กินให้บ่อยขึ้น โดยเพิ่มอาหารว่างขึ้นอีก 2-3 มื้อ นอกเหนือจากการกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ
- กินอาหารประเภทผัก และธัญพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณในไฟเบอร์ให้กับร่างกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว และดื่มน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามินให้กับร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ปั่น เพราะจะไม่ได้รับวิตามินในผลไม้
- ควรกินปลาที่มีไขมันและปลาไร้ไขมันในปริมาณที่เท่าเทียมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ครบถ้วน
- ควรจำกัดการกินอาหารที่มีไขมันและลดปริมาณน้ำมันในการทำอาหาร
- จำกัดการกินอาหารที่ผ่านกรรมวิธี หรืออาหารหมักดองซึ่งมักจะมีเกลืออยู่มาก และควรหลีกเลี่ยงการกินผงชูรส
- จำกัดการกินของหวานต่าง ๆ และขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของผงปรุงรส
- ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงไม่สุก เพราะอาจจะทำให้ได้รับเชื้อ salmonella ซึ่งเป็นแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของอาการไข้ อาเจียน และท้องร่วงได้
- เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงจนสุก
- นมและเนยแข็งที่ยังไม่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ
- ปริมาณอาหารที่วิตามินเอสูง เพราะวิตามินเอหากได้รับเกิน 10,000 IU จะทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
- อาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Listeria อย่างเช่น สลัดมันฝรั่ง
- อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่อุ่นด้วยความร้อนแต่ได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง
- ปลาทะเล อย่างเช่น ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง ปลาทูน่า และปลาฉลาม เพราะในบรรดาปลาเหล่านี้จะมีสารปรอทตามธรรมชาติซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของทารก
- ถั่วลิสง ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และช่วงให้นม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารกได้
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ความเสี่ยงในการแท้ง
การมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากรกฝังตัวเจาะเข้าไปในเส้นเลือดแม่ ทำให้มีเลือดออกในช่วงก่อนหน้าที่คาดว่าจะมีประจำเดือน แต่ก็ไม่ควรจะให้มีเลือดออกมากเกินไป เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการฉีกขาดของเส้นเลือดที่เชื่อมต่อกันระหว่างแม่กับลูก หรืออาจจะเกิดความไม่แข็งแรงของเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งอาจทำให้เลือดออกและเกิดการแท้งตามมาได้ ดังนั้นหากมีเลือดสีแดงสดออกมาจากช่องคลอดในปริมาณที่มากเกินไป และมีอาการปวดท้องร่วมด้วยละก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีค่ะ
อารมณ์แปรปรวน
ในช่วงตั้งครรภ์ว่าที่คุณแม่อาจจะพบว่าตัวเองมีอารมณ์อ่อนไหวแปรปรวนมากกว่าเดิม มีความกังวล ซึมเศร้า และเกิดความกลัวต่าง ๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ที่ตั้งครรภ์ นั่นก็เป็นเพราะระดับฮอร์โมนมีความแปรปรวน แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สองค่ะ
ท้อง 1 เดือน ออกกำลังกายได้หรือไม่
ในช่วงการตั้งครรภ์ตั้งแต่ 1 เดือนแรกเป็นต้นไป ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ทุกชนิด เพราะช่วงตั้งครรภ์โดยปกติจะหมดแรงง่ายอยู่แล้ว ถ้าหากออกกำลังกายหนัก ๆ อาจจะทำให้หมดแรงเร็วขึ้น ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายเพียงเบา ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน เพราะการออกกำลังกายในช่วงที่ตั้งครรภ์จะช่วยลดอาการท้องผูก ตะคริว ปวดหลัง ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและเป็นการผ่อนคลายความเครียด ป้องกันภาวะซึมเศร้าในขณะที่ตั้งครรภ์
นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยทำให้คลอดง่ายและรูปร่างคืนสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้นอีกด้วย โดยการออกกำลังกายที่คนท้องสามารถทำได้ ได้แก่ โยคะ ในท่าที่ง่าย ๆ, การเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ, การว่ายน้ำ, การเต้นรำเบา ๆ หรือการขี่จักรยานในเส้นทางที่ไม่ขรุขระจนเกินไป และมีเครื่องป้องกันที่สามารถช่วยให้ครรภ์ไม่ถูกกระทบกระเทือน แต่ควรจะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกีฬาที่ต้องใช้แรงมากและมีการกระทบกระเทือนสูง เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรงค่ะ
ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ควรเตรียมพร้อมเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ในการดูแลครรภ์และวางแผนเรื่องต่าง ๆ โดยการอ่านหนังสือคู่มือการตั้งครรภ์และเตรียมคลอด เพราะก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ลูกได้พัฒนาไปจนมีอวัยวะสำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรเอาใจใส่วางแผนการตั้งครรภ์ไว้ก่อนล่วงหน้า
ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 2 หลังจากการปฏิสนธิจะเริ่มปรากฏตำแหน่งที่จะพัฒนาเป็นไขสันหลังและส่วนหลังของตัวอ่อน ส่วนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เป็นช่วงที่อวัยวะสำคัญหลายอย่างกำลังก่อกำเนิดขึ้น หากคุณแม่ได้รับสารพิษ เช่น ยาบางชนิด สารเคมีเป็นพิษ เหล้า บุหรี่ หรือเชื้อโรค อาจทำให้ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการและแท้งออกมาได้ นอกจากนี้หากตัวอ่อนมีความผิดปกติจากโครโมโซมและมีความผิดปกติอย่างรุนแรงก็อาจจะมีการแท้งออกมาได้เอง คุณแม่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
อีกเรื่องที่คุณแม่ต้องระวังก็คือ ในช่วงที่คุณแม่ประจำเดือนขาดเพียง 1 สัปดาห์ (ปลายสัปดาห์ที่ 3) เป็นช่วงที่หัวใจลูกก็เริ่มเต้นแล้ว ดังนั้นต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น
การตั้งครรภ์ในช่วง 1 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากนะคะ
เพราะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต
ถ้าเราเอาใจใส่และดูแลเขาอย่างเต็มที่
ให้การเจริญเติบโตเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ว่าที่คุณแม่ก็จะสามารถคลอดทารกที่มีสุขภาพสมบูรณ์ออกมาลืมตาดูโลกได้ค่ะ
แถมยังช่วยทำให้ตัวคุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วยนะคะ