การอุ้มบุญเป็นพัฒนาการทางการแพทย์ที่เพิ่มโอกาสให้หญิงผู้ประสบปัญหามีบุตรยาก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
อุ้มบุญ คืออะไร คำถามที่ได้ยินหลังมีข่าวน้องแกรมมี่ เด็กอุ้มบุญที่ถูกพ่อแม่ไม่รับ ว่าแต่ การอุ้มบุญ คืออะไร การอุ้มบุญในประเทศไทยผิดกฎหมายหรือไม่ เรามีข้อมูลมาฝาก
การอุ้มบุญคืออะไร
การอุ้มบุญ (surrogacy) หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนว่าเป็นการยืมมดลูกหญิงอื่นเพื่อตั้งครรภ์แทน ใช้ในกรณีที่ผู้มีความประสงค์จะมีบุตรแต่ไม่สามารถตั้งท้องเองได้ โดยมีภาวะที่ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวในมดลูก ภาวะไร้มดลูก หรือมดลูกมีความผิดปกติใด ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเป็นที่อาศัยของตัวอ่อนทารกได้ กระบวนการคือนำน้ำเชื้อและไข่มาผสมกันภายนอก เช่นเดียวกับกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จากนั้นจึงฉีดเข้าไปเพื่อให้ฝังตัวในมดลูกของผู้รับฝากครรภ์หรือคุณแม่อุ้มบุญนั่นเอง
การอุ้มบุญมีอยู่สองลักษณะ
อุ้มบุญแบบแรกเรียกว่า อุ้มบุญแท้ (Full suroogacy หรือ Traditional surrogacy) คือการใช้น้ำเชื้อจากฝ่ายชายของคู่ที่ต้องการมีบุตร ผสมกับไข่ของแม่ผู้อุ้มบุญ และฉีดฝังในมดลูกของคุณแม่อุ้มบุญ จะเห็นได้ว่าไม่มีกระบวนการใดเกี่ยวข้องทางชีวภาพกับคุณแม่หรือคุณภรรยาตัวจริงของคุณพ่อที่ต้องการมีบุตรเลย อาจเนื่องมาจากคุณภรรยาผ่าตัดนำรังไข่ออกไป หรือมีปัญหารังไข่ไม่สามารถผลิตไข่ที่สมบูรณ์ได้ คุณแม่ผู้อุ้มบุญแท้คือผู้ที่ให้ทั้งไข่และมดลูก
อุ้มบุญแบบที่สองเรียกว่า อุ้มบุญเทียม (Partial surrogacy หรือ Gestational carrier) คือการที่ใช้น้ำเชื้อและไข่จากคู่คุณพ่อคุณแม่ที่แท้จริง แล้วจึงฝากไข่ที่รับการผสมเรียบร้อยแล้วเข้าไปในตัวของคุณแม่อุ้มบุญ ผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งครรภ์แทนจนกว่าทารกจะคลอดออกมา ในกรณีนี้เด็กทารกจะไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมใด ๆ กับคุณแม่ผู้อุ้มบุญเลย แม่อุ้มบุญทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้ยืมมดลูกเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการอุ้มบุญเทียมเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่าการอุ้มบุญแบบแรก
โอกาสประสบความสำเร็จในการอุ้มบุญ
การตั้งครรภ์ในการอุ้มบุญก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในสัดส่วนเท่า ๆ กับการตั้งครรภ์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความพร้อมของมดลูกคุณแม่ซึ่งเป็นผู้อุ้มบุญนั่นเอง เพราะหากไข่ที่ได้รับการผสมกับสเปิร์มจากภายนอกเรียบร้อยแล้วได้รับการฉีดเข้าไปในมดลูกของผู้อุ้มบุญ โอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวและพัฒนาเป็นทารกได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของมดลูกของคุณแม่อุ้มบุญนั่นเอง คือต้องมีความหนาของผนังมดลูกที่เหมาะสม มีระดับฮอร์โมนในร่างกายเหมือนกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งก่อนดำเนินการถ่ายตัวอ่อนคุณแม่อุ้มบุญก็จะต้องรับประทานยาเพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้เหมาะสมพร้อมจะตั้งท้องไว้ก่อนล่วงหน้า
นอกจากนี้ เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการอุ้มบุญยังขึ้นอยู่กับอายุของคุณแม่ผู้รับท้องแทน ซึ่งควรอยู่ในช่วงวัย 20-35 ปี อันเป็นวัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งควรผ่านการมีบุตรมาแล้วอย่างน้อย 1 คน เพื่อลดความยุ่งยากหรือภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับการตั้งครรภ์ท้องแรกด้วย ส่วนหลังจากเมื่อตัวอ่อนเกาะกับมดลูกดีแล้ว การดูแลร่างกายของคุณแม่อุ้มบุญก็ไม่ต่างจากคุณแม่ท้องทั่ว ๆ ไป
เด็กมีโอกาสได้รับถ่ายทอดสิ่งใดจากแม่ผู้อุ้มบุญหรือไม่
หากพูดถึงในแง่พันธุกรรมแล้ว ทารกในท้องจะไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับแม่ผู้อุ้มบุญเลย ตราบเท่าที่ทารกนั้นเกิดจากการผสมกันของสเปิร์มของคุณพ่อและไข่ของคุณแม่ที่แท้จริง (เป็นกรณีของ Partial surrogacy) ซึ่งผสมกันมาเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนจะฉีดเข้าในมดลูกของผู้อุ้มบุญแล้ว แต่นอกเหนือจากแง่พันธุกรรมแล้ว ทั้งสภาพอารมณ์หรือสุขภาพของคุณแม่ผู้ท้องแทนสามารถส่งผ่านถึงทารกในครรภ์ได้ไม่ต่างกับการตั้งท้องปกติ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดผ่านทางรกและระบบการทำงานของร่างกายที่ส่งผลต่อเด็กในครรภ์ได้ ฉะนั้นเพื่อให้ทารกคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุด แม่อุ้มบุญจึงจำเป็นต้องผ่านการตรวจโรคอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่ามีสุขภาพแข็งแรงดี และต้องรักษาสุขภาพและบำรุงตนเองอย่างดีระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
การอุ้มบุญในประเทศไทย
ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชีย เช่น ไต้หวัน จีน การอุ้มบุญถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยความอ่อนไหวว่าอาจขัดต่อศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะกรณีว่าจ้างหรือรับจ้างท้องแทน เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงมิใช่สิ่งที่พึงซื้อขายกันได้ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน การอุ้มบุญในประเทศไทยจึงเติบโตในอัตราค่อนข้างสูง ถึงขนาดที่คู่รักต่างชาติเข้ามามองหาแม่อุ้มบุญในไทยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีในทางกฎหมายของบ้านเรานั้น จะถือว่าหญิงผู้ให้กำเนิดหรือผู้ที่คลอดเด็กออกมานั้นเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็ก ในใบสูติบัตรจึงระบุชื่อของแม่อุ้มบุญว่าเป็นแม่ที่แท้จริง แม้ว่าผู้อุ้มบุญจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายเลือดใด ๆ กับเด็กเลยก็ตาม สิ่งนี้จึงอาจก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในภายหลังเกี่ยวกับการอ้างสิทธิความเป็นแม่ในตัวเด็ก หากว่าผู้อุ้มบุญเกิดความผูกพันกับทารกขึ้นมา ฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้วการอุ้มบุญสำหรับคู่รักชาวไทยจึงนิยมไหว้วานแม่อุ้มบุญที่เป็นญาติพี่น้องที่สนิทสนมและไว้ใจได้เท่านั้น
อย่างไรก็ดีขณะนี้คณะกรรมการแพทยสภากำลังพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญอยู่ ซึ่งในอนาคตหากมีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยเรื่องการอุ้มบุญขึ้นเป็นรูปร่าง ก็อาจให้สิทธิ์แม่ผู้เป็นเจ้าของไข่ได้เป็นแม่ที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายก็ได้
การอุ้มบุญเป็นพัฒนาการทางการแพทย์ที่เพิ่มโอกาสให้หญิงผู้ประสบปัญหามีบุตรยากได้มีทายาทมาเชยชมสมใจ หากต้องพึงระวังเรื่องของความอ่อนไหวในประเด็นด้านจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ามีการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี และยินยอมพร้อมใจกันอย่างถูกต้องทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ที่ต้องการมีบุตร และหญิงผู้เป็นคุณแม่อุ้มบุญ ความปรารถนาที่จะให้กำเนิดทารกตัวน้อย ๆ ขึ้นมาเป็นแก้วตาดวงใจก็คงไม่ยากเกินไปนักค่ะ