นมแม่...จากแม่นม (ดีจริงหรือ) (รักลูก)
โดย : เมธาวี
หากคุณแม่ไม่มีน้ำนม มีไม่พอให้ลูกหรือไม่มีเวลา เพราะต้องออกไปทำงาน แต่ก็อยากให้ลูกกินนมแม่ โดยคิดว่าให้ลูกกินนมจากเต้าคุณแม่ท่านอื่นหรือที่เรียกว่าแม่นม ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรล่ะก็ เบรกความคิดนี้ไว้นิด แล้วฟังข้อมูลต่อไปนี้ก่อนค่ะ
นมแม่จากแม่นม...อาจซ่อนโรค
ยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็เห็นความสำคัญของนมแม่ และคุณแม่ต่างก็มีความรู้เรื่องการให้นมแม่กันมากขึ้น รู้วิธีการนวดเต้านมให้นมไหลดี สามารถบีบน้ำนมเก็บไว้ได้ หรือการให้ลูกดูดนมที่ถูกวิธี และอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องนมแม่ ดังนั้นการให้นมแม่จากแม่นมในประเทศไทยจึงไม่มีอีกแล้ว หรืออาจจะมีอยู่น้อยมาก
และที่น่าห่วงคือน้ำนมจากคนอื่น อาจมีเชื้อโรคปะปน ทำให้ลูกติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่านมนั้นเป็นนมดี หรือมีเชื้อโรคชนิดใดปนเปื้อนหรือเปล่า เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชไอวี และเชื้อโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจแฝงตัวมากับน้ำนมสู่ลูกได้
ฉะนั้นคุณแม่ที่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมจากเต้าคนอื่นจริง ๆ จะต้องรู้ก่อนว่าแหล่งที่มาของน้ำนมแม่คนนั้น มีพื้นฐานสุขภาพเป็นอย่างไร
เด็กกลุ่มไหนที่ต้องพึ่งแม่นม
ในยุคที่กำลังรณรงค์ให้ลูกกินนมแม่ แต่ก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งไม่สามารถกินนมแม่ได้ เช่น เด็กที่เป็นโรคเอดส์ โรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือแม่มีความผิดปกติทางร่างกายที่ไม่สามารถให้นมลูกเองได้ เด็กกลุ่มนี้จึงไม่ได้กินนมจากแม่ตัวเอง
เมื่อปี 2004 อเมริกามีแม่บางกลุ่มที่มีความกังวลเรื่องน้ำนมน้อย และกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี และเชื่อว่าน่าจะให้ลูกกินนมจากคนอื่นได้ เพราะตัวเองนั้นไม่สามารถให้นมลูกได้ จึงมีธนาคารนมแม่เกิดขึ้น หรือเรียกว่า Milk Bank ซึ่งเกิดจากความคิดของแม่คนหนึ่ง ที่มีระบบภายในร่างกายที่ทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถผลิตนมแม่เองได้ แต่เธอต้องการให้ลูกได้กินนมแม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Milk Bank
กระบวนการของ Milk Bank คือผู้ที่จะเอานมแม่มาให้ซึ่งเรียกว่า Doner นั้น จะต้องถูกกรวดน้ำนมก่อน คือ การตรวจเช็กสุขภาพว่าเคยมีประวัติเป็นโรคอะไรมาก่อนหรือไม่ เช่น เคยเป็นหัดเยอรมัน หรือมีไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชไอวี และโรคอื่น ๆ หากไม่มี จึงทำการบริจาคได้
หลังจากได้น้ำนมมาแล้ว ต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (pasteurizafion) คือกระบวนการฆ่าเชื้อโดยผ่านความร้อน แล้วทำให้เย็นลงทันทีด้วยอุณหภูมิที่เย็นจัด เพื่อทำให้เชื้อเกิดภาวะหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งกรรมวิธีแบบนี้จะคงคุณค่าของสารอาหาร ตลอดจนรสชาติของน้ำนมนี้ไปให้ลูกต่อ ก็คือต้องมาซื้อค่ะ
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ในเมื่อน้ำนมแม่มีสารฆ่าเชื้อ และสารที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคอยู่แล้ว ทำไมต้องเอาไปพาสเจอไรส์ด้วย ทำให้มีการวิจัย โดยการสุ่มตัวอย่างระหว่างที่เด็กได้กินนมแม่พาสเจอร์ไรส์ นมผสม และนมแม่จากเต้าโดยไม่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ปรากฏว่าเด็กที่กินนมแม่จากเต้าคนอื่น มีการติดเชื้อน้อยที่สุด ซึ่งการพาสเจอร์ไรส์จะได้สารอาหารที่ใกล้เคียงกับน้ำนมแม่จริง แต่ภูมิต้านทานที่มีประโยชน์ในนมแม่ก็อาจจะลดลงไปด้วยเช่นกัน จึงเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งว่า Milk Bank จำเป็นต้องพาสเจอร์ไรส์นมแม่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศในโลก ก็ยังไม่สนับสนุนวิธีการแบบนี้ และไม่สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่จากคนอื่นด้วย เพราะนมของแม่ดีที่สุดอยู่แล้วค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 28 ฉบับที่ 332 กันยายน 2553