Fetal Distress คืออะไร อันตรายแค่ไหน แม่ตั้งครรภ์ต้องระวังหรือป้องกันยังไงบ้าง

          Fetal Distress คืออะไร สำหรับภาวะนี้ถือเป็นอาการที่เกิดกับแม่ตั้งครรภ์และอาจส่งผลไปยังทารกได้ ว่าแล้วคนท้องต้องระวังแค่ไหน มาหาคำตอบเกี่ยวกับ Fetal Distress กัน
Fetal Distress คืออะไร

          ช่วงเวลาที่กำลังตั้งครรภ์ มักจะเป็นช่วงที่คุณแม่เครียดมากที่สุด เพราะมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความกังวลใจได้หลายอย่าง แต่ทราบหรือไม่ว่าหากคนท้องเครียดมากจนเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะ Fetal Distress ที่เป็นอันตรายต่อทารกได้ ภาวะนี้คืออะไร และแม่ตั้งครรภ์จะต้องระวังหรือป้องกันอะไรบ้าง กระปุกดอทคอมจะพาไปหาคำตอบว่า Fetal Distress คืออะไรกันค่ะ

Fetal Distress คืออะไร

          Fetal distress คือ การที่ทารกอยู่ในภาวะเครียดขณะอยู่ในครรภ์และแสดงสัญญาณต่าง ๆ ออกมา ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดภาวะนี้ อาทิ ระยะเวลาก่อนถึงกำหนดคลอด ปฏิกิริยาต่อยา หรือปัญหาเกี่ยวกับสายสะดือหรือรก โดยจะเป็นภาวะที่แพทย์ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของทารก หากไม่ให้คลอดโดยเร็วทารกอาจจะเกิดอันตราย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อคุณแม่และทารกได้

         ซึ่งผลกระทบระยะยาวของภาวะนี้ โดยเฉพาะการขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน อาจจะทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือน สมองพิการ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตขณะคลอดได้

อะไรคือสาเหตุของ Fetal Distress

          สาเหตุหลักใหญ่ ๆ ของภาวะ Fetal Distress คือ การที่ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ตามปกติแล้วคุณแม่จะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปในปอด จากนั้นปอดก็จะส่งออกซิเจนไปยังเลือดและรก ส่งต่อไปยังเลือดของทารกในครรภ์ ซึ่งหากมีกระบวนการใดที่ไม่ถูกต้องและขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนก็อาจนำไปสู่ภาวะ Fetal Distress ได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น
  • คุณแม่มีการหดเกร็งกล้ามเนื้อบ่อยเกินไป
  • โรคโลหิตจางของทารกในครรภ์
  • ภาวะน้ำคร่ำต่ำ
  • ความดันโลหิตสูงในคุณแม่ที่เกิดจากการตั้งครรภ์
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • คุณแม่มีความดันโลหิตต่ำผิดปกติ
  • การตั้งครรภ์นานเกินไป (41 สัปดาห์ขึ้นไป)
  • ทารกในครรภ์เติบโตช้าผิดปกติ หรือมีขนาดตัวเล็กมาก
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ภาวะรกเกาะต่ำ
  • รกมีการบีบตัว
  • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคหัวใจ
Fetal Distress คืออะไร

สัญญาณของภาวะ Fetal Distress มีอะไรบ้าง

          สำหรับคุณแม่ที่กำลังเครียดว่าจะสังเกตได้อย่างไร หรือสงสัยว่าลูกของเราจะมีภาวะที่น่าเป็นห่วงนี้หรือไม่ ให้สังเกตสัญญาณดังนี้
  • การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ (อัตราที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าปกติ)
  • ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อยลงเป็นระยะเวลานาน
  • คุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำต่ำ

ภาวะ Fetal Distress รักษาได้ไหม

          หากเกิดภาวะ Fetal Distress แล้ว และจำเป็นต้องคลอดเด็กออกมาให้เร็วที่สุด คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญจะทำการช่วยเหลือควบคู่กับการรักษา ดังนี้

          เปลี่ยนท่าทางและตำแหน่งของคุณแม่ โดยการขยับของคุณแม่นั้นอาจเพิ่มการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจและช่วยให้ออกซิเจนแก่ทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นได้

  • ให้คุณแม่สวมหน้ากากออกซิเจน
  • ให้ของเหลวผ่านทางสาย IV
  • ให้ยาเพื่อชะลอหรือหยุดการหดตัวของกล้ามเนื้อคุณแม่และสายสะดือ
  • การเติมน้ำคร่ำด้วยวิธีการใส่ของเหลวในถุงน้ำคร่ำ เพื่อลดการบีบตัวของสายสะดือ
Fetal Distress คืออะไร

ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Fetal Distress ได้ไหม

          ตามปกติแล้วไม่มีวิธีการป้องกันภาวะความเครียดของทารกในครรภ์ได้ เรียกว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดคิดเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม การพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง สามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะที่นำไปสู่ภาวะ Fetal Distress ได้ นอกจากนี้คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองและความผิดปกติในครรภ์ตลอดเวลา และปรึกษาแพทย์ทุกเรื่อง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

          จะเห็นได้ว่าภาวะ Fetal Distress หรือภาวะเครียดของทารกในครรภ์ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกได้เลย ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องห้ามละเลยในการสังเกตตัวเองและลูกในท้อง เพื่อทำให้เกิดภาวะนี้น้อยที่สุดค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : clevelandclinic.org, thevillarifirm.com, pregnancybirthbaby.org.au, med.cmu.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Fetal Distress คืออะไร อันตรายแค่ไหน แม่ตั้งครรภ์ต้องระวังหรือป้องกันยังไงบ้าง อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2566 เวลา 19:52:42 42,863 อ่าน
TOP
x close