คนท้องห้ามกินยาอะไร สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่อาจจะคิดไม่ตกว่าคนท้องห้ามกินยาจริงเหรอ แล้วมียาอะไรที่อันตรายกับคนท้องบ้าง มาหาคำตอบกัน
ในช่วงที่กำลัง
ตั้งครรภ์เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ ทั้งการดูแลตัวเอง อาหารการกิน รวมไปถึงยาด้วย เนื่องจากยาอาจส่งผ่านกระแสเลือดหรือผ่านรกไปยังเด็กในครรภ์ ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า
คนท้องต้องระวังการกินยาตัวไหนบ้าง มี
ยาที่คนท้องห้ามกินกี่ประเภท กระปุกดอทคอมจึงขอพาไปไขข้อข้องใจว่า
คนท้องห้ามกินยาอะไร คุณแม่ทั้งหลายจะได้ระวังเอาไว้ ไม่เผลอหยิบมากินโดยไม่ได้ตั้งใจค่ะ
คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง ทำไมถึงกินไม่ได้
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ขณะตั้งครรภ์ทุกอย่างที่คุณแม่กินเข้าไปจะถูกย่อยและลำเลียงผ่านรกไปเพื่อช่วยให้ลูกเจริญเติบโต แต่ยาบางชนิดที่ลำเลียงผ่านรกรวดเร็ว เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกโดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนแรกได้ ทำให้ทารกเสี่ยงพิการ หรือหนักกว่านั้นอาจทำให้แท้งเลยทีเดียว คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการกินยาเหล่านี้ค่ะ
1. ยารักษาสิว
โดยเฉพาะยากลุ่มกรดวิตามินเอ เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Accutane) ซึ่งใช้รักษาสิวขั้นรุนแรง จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของหัวใจและสมอง และความผิดปกติทางร่างกายในทารก นอกจากนี้ยากลุ่ม Tetracyclines เช่น Doxycycline (Doryx) ที่ใช้รักษาสิวและการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้ฟันของทารกเปลี่ยนสีอย่างถาวร ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงยาทั้ง 2 ประเภทนี้ในระหว่างตั้งครรภ์
2. ยาต้านเชื้อรา
ยาต้านเชื้อรา เช่น Fluconazole (Diflucan) ที่ใช้รักษาเชื้อราในช่องปากและช่องคลอด หากใช้ในปริมาณ 400-800 มิลลิกรัมต่อวัน ในระยะยาวช่วงไตรมาสแรกอาจส่งผลให้ลูกมีความผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง กระดูกต้นขาโก่ง ซี่โครงบาง กระดูกยาว และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่หากใช้เพียงครั้งเดียวในปริมาณ 150 มิลลิกรัม เพื่อรักษาเชื้อราในช่องคลอด จะไม่ส่งผลต่อลูกค่ะ ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากจำเป็นต้องใช้ยา
3. ยานอนหลับ หรือยาคลายวิตกกังวล
เช่น ยา Diazepam หากใช้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกปากแหว่งเพดานโหว่และเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ หากใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเลือดและหัวใจของทารก และหากมีการใช้ปริมาณเกินขนาดในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ทารกเกิดมามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เซื่องซึม ไม่ดูดนม มีอาการเกร็ง สั่น กระวนกระวาย ท้องเสีย คลื่นไส้ และเจริญเติบโตช้า
4. ยาต้านเกล็ดเลือด
อาทิ กลุ่มยาแก้ปวดแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน หากใช้ต่อเนื่อง หรือใช้ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ลูกพิการได้ ทั้งยังส่งผลถึงความผิดปกติของเลือดในมารดาและทารก นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามใช้ยานี้ในไตรมาสที่ 3 อย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เด็กคลอดช้า และเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในทารกและแม่ได้
5. ยาต้านลิ่มเลือด
หรือที่เราเคยได้ยินกันในชื่อว่า Warfarin เป็นยาที่ใช้ป้องกันและรักษาการก่อตัวของลิ่มเลือด ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในช่วงไตรมาสแรก เพราะอาจเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งห้ามใช้ยาในช่วง 2-4 สัปดาห์ ก่อนคลอด ไม่เช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนจากการตกเลือดได้
6. ยาต้านซึมเศร้า
ยาต้านซึมเศร้าบางประเภท เช่น Fluoxetine จะส่งผลให้ปอดทารกเกิดความผิดปกติ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด แต่การหยุดใช้ยาต้านซึมเศร้าในคุณแม่ที่กำลังรักษาโรคนี้อยู่อาจส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ได้ จึงควรมีแพทย์คอยดูแลและแนะนำอย่างใกล้ชิด
7. ยากันชัก ยาแก้โรคลมชัก
การกินยากันชัก อาทิ ยา Topiramate ซึ่งนำมารักษาอาการปวดหัวไมเกรนและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อาจทำให้เกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ในทารก นอกจากนี้ยากลุ่ม Valproate และ Phenobarbital ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดเนื่องจากขาดวิตามินเค และยังทำให้เกิดภาวะขาดโฟลิกในคุณแม่ได้อีกด้วย แต่หากไม่ใช้ยาเลยก็อาจอันตรายต่อโรคประจำตัวของคุณแม่ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์และพยายามใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด
8. ยาแก้ไอ ชนิดที่มีไอโอดีน
สำหรับยาแก้ไอที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงคือยาชนิดที่มีไอโอดีน เพราะไอโอดีนจะไปสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ของลูก อาจทำให้ลูกเกิดอาการคอพอกและมีอาการผิดปกติทางสมองได้
9. ยาแก้คัน หรือยาแก้แพ้
ที่เรารู้จักกันดีคือ ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ซึ่งเป็นยาลดอาการคัน อาการแพ้ต่าง ๆ และช่วยลดน้ำมูกได้ แต่หากใช้ยานี้ติดต่อกันไปนาน ๆ อาจทำให้คุณแม่มีเกล็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้ลูกมีอาการเลือดไหลผิดปกติ และอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
10. ยารักษาโรคเบาหวาน
สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน ห้ามกินยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) เด็ดขาด เนื่องจากยานี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในทารก หากจำเป็นต้องรักษาเบาหวานควบคู่กันแนะนำให้ฉีดอินซูลินแทนจนกว่าจะคลอด
11. ยาสเตียรอยด์
หากจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะชนิดกินหรือฉีดก็ตาม ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ทารกปากแหว่งเพดานโหว่ได้ แต่หากเป็นยาชนิดทาสามารถใช้ได้หากเป็นชนิดอ่อน และใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ
12. ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะ หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นยาแก้อักเสบ มีกลุ่มยาที่ต้องระวังคือ Tetracycline เนื่องจากส่งผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูก ทำให้ลูกมีฟันสีเหลืองหรือน้ำตาล และอาจส่งผลให้กระดูกและสมองของลูกผิดปกติได้
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ท้องมีอาการไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่หากมีโรคประจำตัวและต้องใช้ยาชนิดพิเศษเพื่อรักษา ควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก
ขอบคุณข้อมูลจาก : goodrx.com, healthline.com, momjunction.com